ปั้น "กล้วยน้ำไท" สู่ย่านนวัตกรรม รับไทยแลนด์ 4.0
"กล้วยน้ำไท"เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจใหม่บริเวณถนนพระราม 4 กับถนนสุขุมวิท
โดย...โชคชัย สีนิลแท้
Kluaynamthai Innovative Industries District (KIID) หรือโครงการความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพและสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. เพื่อพัฒนาย่านกล้วยน้ำไทสู่การเป็นย่านนวัตกรรม เพื่อดึงดูดกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการรายใหม่ หรือสตาร์ทอัพ ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐานอุตสาหกรรมเดิมของย่านกล้วยน้ำไท เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตตามแผนพัฒนาไทยแลนด์ 4.0
ผศ.ฤทธิรงค์ จุฑาพฤฒิกร คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพกับ สนช.เล็งเห็นว่า ย่านกล้วยน้ำไทถือเป็นย่านเศรษฐกิจที่สำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่ย่านนวัตกรรมได้ โดยตั้งอยู่บนวัตถุประสงค์ในการจูงใจให้ผู้ประกอบการรายใหม่หรือสตาร์ทอัพ ให้เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมบนฐานอุตสาหกรรมเดิมของย่าน
นอกจากนี้ ยังมุ่งพัฒนาคุณชีวิตของคนในชุมชนให้มีส่วนร่วม สร้างมูลค่าเพิ่มขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนทั้งในด้านการผลิตและการบริโภคสร้างสรรค์ให้กลายเป็นย่านที่น่าอยู่ ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นคือการจ้างงาน ผู้คนในชุมชนให้ความร่วมมือพร้อมช่วยกันผลักดันให้กลายเป็นชุมชนย่านนวัตกรรม อันจะนำไปสู่แผนยุทธศาสตร์และนโยบายที่เหมาะสมต่อการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรม และการเพิ่มศักยภาพของการแข่งขันในระดับนานาชาติ
จากแนวคิดการสร้าง Eco-system ที่ส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ ตามแผนการพัฒนาไทยแลนด์ 4.0 มหาวิทยาลัยกรุงเทพจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางองค์ความรู้ในการบ่มเพาะสตาร์ทอัพ สร้างกระบวนการเรียนรู้ในรูปแบบความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเป็นพลังผลักดันให้เกิดนวัตกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่และสร้างกลุ่มผู้เริ่มประกอบธุรกิจใหม่หรือกลุ่มสตาร์ทอัพให้มีศักยภาพพร้อมพัฒนาผลงานสร้างสรรค์เชิงธุรกิจ
ขณะที่แหล่งอุตสาหกรรมในย่านกล้วยน้ำไทจะเข้าร่วมสนับสนุนทั้งองค์ความรู้แบบเฉพาะทางและเงินทุนเริ่มต้นเพื่อดึงดูดแหล่งนักลงทุนที่สนใจสินค้านวัตกรรม เช่น พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมสื่อใหม่ หรือนิวมีเดียหรืออุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เป็นต้น
KIID Innovative Corridor คือโครงการพัฒนาเพื่อก้าวไปสู่ย่านนวัตกรรมมีระยะ 5 ปี ที่จะเริ่มต้นเส้นทางจากรถไฟฟ้าสถานีเอกมัย ผ่านมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เชื่อมโยงไปสู่พื้นที่ของการท่าเรือและสามารถข้ามไปยังพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ในบางกะเจ้า ซึ่งตลอดสองข้างเส้นทางระหว่างรถไฟฟ้าจนถึงแหล่งการเรียนรู้และศูนย์บ่มเพาะของมหาวิทยาลัยกรุงเทพได้วางเป้าหมายให้เป็น Quick Win Project กระตุ้นให้เกิดรูปแบบธุรกิจในบ้านที่สร้างเสริมให้ความเป็นอยู่ของคนในพื้นที่ปัจจุบันให้มีรายได้สูงขึ้น และมีคุณภาพของพื้นที่ที่ร่มรื่นน่าเดินมากขึ้น โดยเน้นให้สัดส่วนของพื้นที่สีเขียวเทียบกับ 1 คน/ตารางเมตร และมีสัดส่วนที่สูงกว่าย่านอื่นๆ เพื่อต่อยอดนวัตกรรมในพื้นที่สีเขียวให้มีความโดดเด่นและแตกต่างเป็นจุดยุทธศาสตร์แห่งใหม่ของกรุงเทพฯ
พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการ สนช. กล่าวว่า การพัฒนาย่านนวัตกรรม ได้ตั้งเป้าหมายไว้ 15 ย่าน ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 8 ย่าน 1.โยธี 2.กล้วยน้ำไท 3.ปทุมวัน 4.คลองสาน 5.ลาดกระบัง 6.รัตนโกสินทร์ 7.ปุณณวิถี 8.บางซื่อ พื้นที่ภาคตะวันออก 4 ย่าน ได้แก่ 1.พัทยา 2.ศรีราชา 3.อู่ตะเภา-บ้านฉาง 4.บางแสน พื้นที่ภูมิภาค 3 ย่านได้แก่ 1.จ.เชียงใหม่ 2.ภูเก็ต 3.ขอนแก่น ซึ่งการจะให้ประสบความสำเร็จนั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน
ที่ผ่านมา สนช.ได้ดำเนินยุทธศาสตร์เชิงพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การสร้างระบบเศรษฐกิจแห่งผู้ประกอบการจากความคิดสร้างสรรค์ การพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมและการสร้างโอกาสเติบโตทางธุรกิจ คือการพัฒนาย่านวัตกรรม เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจของเมืองรองรับธุรกิจเชิงนวัตกรรมและธุรกิจสนับสนุน โดยมีนวัตกรและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ร่วมสร้างสรรค์นวัตกรรม มีระบบนิเวศที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจและดำรงชีวิต และการแบ่งปันทรัพยากรและองค์ความรู้อันเป็นปัจจัยสำคัญต่อการพัฒนาคน เศรษฐกิจของประเทศและเป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0
สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่ในย่านนวัตกรรมกล้วยน้ำไท ซึ่งถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถเชื่อมโยงกลุ่มธุรกิจใหม่บริเวณถนนพระราม 4 กับถนนสุขุมวิท ซึ่งเป็นถนนสายเศรษฐกิจที่สำคัญของกรุงเทพฯ การปฏิรูปพื้นที่ฟื้นฟูพื้นที่อุตสาหกรรมเก่าแห่งนี้ให้ก้าวไปสู่การเป็นย่านนวัตกรรมถือเป็นความท้าทายและการสร้างมิติใหม่ในการพัฒนาเมืองในอนาคตอันใกล้นี้
ทำเลเชื่อมโยงการพัฒนาเมืองศักยภาพของพื้นที่บริเวณย่านกล้วยน้ำไท ซึ่งกำหนดขอบเขตการศึกษาจากการใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไท เป็นศูนย์กลางในรัศมี 1.6 กิโลเมตร (กม.) รอบศูนย์กลางพื้นที่ โดยมีพื้นที่ในกรอบการศึกษาประมาณ 8 ตารางกิโลเมตร (ตร.กม.) ครอบคลุมพื้นที่เขตการปกครองของกรุงเทพมหานคร 3 เขต คือ เขตคลองเตย เขตพระโขนง และเขตวัฒนา และแบ่งพื้นที่ในการเก็บข้อมูลออกเป็นส่วนๆ ในแต่ละส่วนจะมีขนาดกว้าง 400 เมตร และยาว 400 เมตร จำนวน45 แปลงสำรวจ
หัวใจสำคัญของย่าน ได้แก่ ย่านนวัตกรรมเป็นพื้นที่เศรษฐกิจของเมือง มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่จนเกินไปอาจมีพื้นที่อยู่ระหว่าง 1-6 ตร.กม. เพื่อรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมเชิงนวัตกรรมและรองรับกลุ่มอุตสาหกรรมสนับสนุนมีลักษณะทางกายภาพที่สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจและมีการใช้พื้นที่แบบผสมคือ เป็นพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำงาน พื้นที่พาณิชยกรรม และพื้นที่กิจกรรมนันทนาการ ตลอดจนมีโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่เหมาะสมทั้งด้านคมนาคม และเทคโนโลยี นอกจากนี้ ยังเป็นพื้นที่มีศักยภาพในการสร้างองค์ความรู้ เช่น พื้นที่รอบมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย ตลอดจนห้องปฏิบัติการด้านการศึกษา และพัฒนาเทคโนโลยี เป็นต้น
ระบบนิเวศเชิงย่านนวัตกรรมเป็นความสัมพันธ์ขององค์ประกอบของพื้นที่โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มสินทรัพย์ทางเศรษฐกิจ เช่น กลุ่มสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี กลุ่มบริษัทขนาดต่างๆ และวิสาหกิจเริ่มต้นในพื้นที่ 2.กลุ่มสินทรัพย์เชิงกายภาพในพื้นที่เช่นลักษณะเฉพาะของพื้นที่ ขนาดพื้นที่ ระบบโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และโครงสร้างด้านเทคโนโลยี 3.เครือข่ายทางธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ โดยมีทั้งแบบกลุ่มธุรกิจเชิงกายภาพ และแบบเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันภายในพื้นที่และนอกพื้นที่
อย่างไรก็ตาม พบว่าพื้นที่นั้นส่วนใหญ่เป็นศูนย์รวมของกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและการขนส่งสินค้าอุตสาหกรรมหนัก เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมโลหะ เครื่องหนังเย็บผ้า และการขนส่งและปรับปรุงตู้ขนส่งสินค้า เมื่อพิจารณาในลักษณะการสร้างกลไกการพัฒนานวัตกรรมภายในย่าน โดยความร่วมมือของภาครัฐ สถาบันการศึกษาและกลุ่มอุตสาหกรรมในท้องถิ่น โดยมีภาคสถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานสถาบันวิจัยทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมและกระจายองค์ความเชื่อมโยงให้กลุ่มอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน สร้างแนวทางแบ่งปันทรัพยากรต่างๆ และมองหาโอกาสในการพัฒนาธุรกิจร่วมกัน มีการยกระดับกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตและขนส่งเดิมให้ทันสมัย เช่น การพัฒนาระบบขนส่งอัจฉริยะ การใช้หุ่นยนต์ในระบบอุตสาหกรรม ตลอดจนการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมดิจิทัล และการพัฒนากลุ่มธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่
อีกปัจจัยสำคัญของพื้นที่ย่านกล้วยน้ำไทคือการเป็นพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา และในปัจจุบันเจ้าของพื้นที่ยังใช้พื้นที่ในส่วนนี้ไม่เต็มศักยภาพ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านการขนส่งเป็นหลัก เนื่องจากในปัจจุบันท่าเรือกรุงเทพมีแนวโน้มที่ต้องการลดการใช้พื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมขนส่งลงจากเดิม 1,000 ไร่ เหลือ 700 ไร่
นอกจากนั้นทำเลนี้ยังอยู่ใกล้พื้นที่เศรษฐกิจสำคัญของเมือง เช่น ย่านสีลม อโศก และสุขุมวิท ตลอดจนอยู่ใกล้พื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ของบางกะเจ้าเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมนันทนาการในอนาคต แต่ในปัจจุบันยังไม่มีแนวทางบริหารพื้นที่ริมน้ำของการท่าเรือที่ชัดเจน
นอกจากนี้ บริเวณดังกล่าวเป็นพื้นที่ของท่าเรือกรุงเทพ ซึ่งในแผนที่แนบท้ายกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ปี 2556 พบว่าเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน คือเป็นพื้นที่หน่วยงานราชการ และพื้นที่โดยรอบยังเป็นสีน้ำตาลเข้ม มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเป็นที่เชิงธุรกิจและอยู่อาศัยดังนั้นสามารถกำหนดวิสัยทัศน์การพัฒนาพื้นที่ย่านกล้วยน้ำไทและในส่วนพื้นที่ริมน้ำสู่การเป็นศูนย์กลางด้านการพัฒนานวัตกรรมและธุรกิจในระดับภูมิภาคและเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวในเขตเมือง
แนวคิดดังกล่าวสามารถพัฒนาในเชิงยุทธศาสตร์โดยการสร้างความเชื่อมโยงกับพื้นที่ซึ่งมีความหนาแน่นทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และการท่องเที่ยวคือ พื้นที่ถนนสุขุมวิทและพยายามดึงดูดกลุ่มทุนและนักท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ผ่านระบบขนส่งมวลชน เข้าสู่พื้นที่ริมแม่น้ำซึ่งเป็นพื้นที่รองรับกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการ ซึ่งจะทำให้ย่านเหล่านี้เป็นเสมือนศูนย์กลางการเจริญเติบโตของการพัฒนานวัตกรรมและช่วยให้เกิดการเจริญเติบโต ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม