posttoday

อสังหา-ก่อสร้างปรับตัว รับมือความต้องการแรงงานพุ่ง

04 มกราคม 2561

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน ทำให้แนวโน้มทิศทางของตลาดแรงงานในปี 2561 เริ่มดีขึ้น คาดจะมีความต้องการแรงงานเติบโต 10-15%

โดย...อรวรรณ จารุวัฒนะถาวร

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐและเอกชน ทำให้แนวโน้มทิศทางของตลาดแรงงานในปี 2561 เริ่มดีขึ้น คาดจะมีความต้องการแรงงานเติบโต 10-15% หลังจากที่ทรงตัวในช่วง 2-3 ปี ทั้งนี้ ธุรกิจที่มีความต้องการแรงงานสูงสุดติดอันดับ 1 ใน 5 คือธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง

สิทธิพร สุวรรณสุต นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน เปิดเผยว่า ผู้ประกอบการอสังหาฯ ทั้งรายใหญ่และกลาง รวมทั้งบริษัทรับสร้างบ้านชั้นนำมีการปรับตัวมาระยะหนึ่งแล้ว หลังจากที่ประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานอย่างมากในปี 2555-2556 เนื่องจากเกิดอุทกภัยในปี 2554 ที่มีความต้องการสร้างบ้านและซ่อมแซมปรับปรุงที่อยู่อาศัยอย่างมาก

ทั้งนี้ สถานการณ์เริ่มดีขึ้นในช่วง 2-3 ปี ประกอบกับภาคอสังหาฯ มีการชะลอตัว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการหันมาทำระบบก่อสร้างแบบสำเร็จรูป หรือพรีแฟบมากขึ้น โดยผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างเองก็มีการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปและมีทีมงานที่มีความชำนาญบริการติดตั้ง ซึ่งสามารถลดต้นทุนทั้งในเรื่องระยะเวลาการก่อสร้างและแรงงานไปได้มาก

อย่างไรก็ดี มองว่าในปีนี้ความต้องการด้านแรงงานสูงยังไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาฯ และก่อสร้างเพราะงานก่อสร้างยังมีไม่มาก แต่น่าจะเริ่มเห็นในช่วงปลายปี หรือต้นปี 2562 เนื่องจากงานก่อสร้างทั้งโครงการภาครัฐและเอกชนเริ่มมากขึ้น

ขณะเดียวกัน หากการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวไม่แล้วเสร็จหลังจากที่มีการขยายเวลาก็จะส่งผลต่อการใช้แรงงานในประเทศ ซึ่งผู้ประกอบรายเล็กหรือกลุ่มเอสเอ็มอีจะได้รับผลกระทบมากกว่า เนื่องจากปริมาณการซื้อขายน้อย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้คือ การฉกตัวแรงงานจากผู้ประกอบการที่ได้มีการจดทะเบียนแรงงานอย่างถูกต้อง ซึ่งเฉลี่ยราว 2 หมื่นบาท/คน ทำให้ต้องเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย ดังนั้น ภาครัฐควรมีมาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมการเคลื่อนย้ายแรงงานต่างด้าวเหล่านี้

“ในเรื่องของค่าแรงงานนั้นปัจจุบันมีอัตราสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว โดยงานก่อสร้างทั่วไปเฉลี่ย 380 บาทขึ้นไป/วัน ส่วนแรงงานฝีมือเฉลี่ยอยู่ราว 1,000 บาทขึ้นไป/วัน ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องมีการปรับตัวโดยการนำเทคโนโลยีและวัสดุสำเร็จรูปมาช่วยในการลดต้นทุนทั้งด้านเวลาและแรงงาน นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ได้มากขึ้น ทั้งนี้ มองว่าราคาบ้านจะยังไม่มีการปรับขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้” สิทธิพร กล่าว

ด้านผู้พัฒนาโครงการ เลิศมงคล วราเวณุชย์ นายกสมาคมอสังหาริมทรัพย์ นนทบุรี กล่าวว่า ปีนี้แม้ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่กระทบต่อตลาดโดยรวม ในส่วนปีต่อๆ ไปต้องติดตาม เพราะวัยแรงงานในประเทศลดลงขณะที่กลุ่มผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น แม้ปัจจุบันเราจะมีแรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้น แต่อาจมีการดึงแรงงานกลับประเทศไม่ว่าจะเป็นเมียนมาและกัมพูชาที่มีจีดีพีเติบโต 6-7% ต่อเนื่อง ซึ่งอาจทำให้อัตราค่าแรงมากกว่าประเทศไทยในอนาคต

สำหรับในภาคอุตสาหกรรมอสังหาฯ มีการใช้แรงงานทั้งแรงฝีมือและแรงงานทั่วไป ทั้งนี้ กว่า 80% เป็นแรงงานต่างด้าว ซึ่งคนงานเหล่านี้มีการเข้าออกอยู่เสมอตามระยะเวลาของใบอนุญาตที่ให้ทำงาน

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยต้องมีการปรับตัว โดยการนำเทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆ รวมทั้งระบบก่อสร้างสำเร็จรูปมาใช้ทดแทนการก่อสร้างแบบเดิมๆ ซึ่งนอกจากเป็นการคุมต้นทุน เพื่อมิให้ต้องแบกภาระมากเกินไป เพราะไม่สามารถปรับขึ้นราคาบ้านได้ในช่วงที่ภาวะตลาดเริ่มฟื้นตัวแล้ว ยังเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ที่ต้องการความทันสมัยและสะดวกสบายอีกด้วย

ขณะที่ผู้ประกอบการ สุริยา พูลวรลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ กล่าวว่า แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ในปี 2561 น่าจะดีขึ้น โดยเฉพาะตลาดคอนโดที่เริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวตั้งแต่ครึ่งปีหลังของปี 2560 คาดปีนี้จะมีการเติบโตดีกว่าปีที่ผ่านมา หากไม่มีเหตุการณ์ที่รุนแรง ทั้งนี้ ตลาดกลางและล่าง ซึ่งซัพพลายมีการดูดซับไปมาก

ขณะเดียวกัน ตลาดจะขับเคลื่อนอย่างมากจากการพัฒนาของบิ๊กอสังหาฯ ในตลาด ซึ่งจะเริ่มเห็นความไหวตั้งแต่ไตรมาส 2 สำหรับบริษัทมีแผนจะเปิดโครงการ 3-4 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 8,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของแรงงานในขณะนี้ยังไม่พบปัญหาการขาดแคลนแรงงานในส่วนของบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการระดับบนเพราะในตลาดมีถึง 10 ราย ที่มีความชำนาญ แต่หากความต้องการมีมากทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน อาจทำให้ต้องมีการปรับอัตราค่าจ้าง ซึ่งมีผลต่อต้นทุนก่อสร้างโดยมองว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 10% บวกหรือลบเล็กน้อย