ปูนซีเมนต์เทา VS ปูนซีเมนต์ขาว
หากกล่าวถึงวัสดุก่อสร้างยอดนิยมในบ้านเรา หลายคนคงนึกถึงปูนซีเมนต์เป็นอันดับต้นๆ
โดย...SCG Experience
หากกล่าวถึงวัสดุก่อสร้างยอดนิยมในบ้านเรา หลายคนคงนึกถึงปูนซีเมนต์เป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นวัสดุที่คุ้นตาและพบเห็นได้ทั่วไปในงานก่อสร้างหลากประเภท ตั้งแต่งานซ่อมแซมเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงงานก่อสร้างอาคารทั้งหลัง อีกทั้งยังเป็นวัสดุผสมกับวัสดุอื่นเกิดเป็นวัสดุใหม่ด้วย ทั้งนี้ ปูนซีเมนต์ที่ใช้ในงานก่อสร้างแต่ละประเภท ซึ่งมีให้เลือกใช้ระหว่างปูนซีเมนต์เทาและปูนซีเมนต์ขาวนั้น ถึงแม้มีคุณสมบัติโดยรวมที่ใกล้เคียงกัน แต่ก็ควรเลือกใช้ให้เหมาะสมตามแต่ละประเภทงานเพื่อให้ได้งานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด
ส่วนผสมและกระบวนการผลิต
ทั้งปูนซีเมนต์เทาและปูนซีเมนต์ขาว ล้วนมีส่วนผสมหลักแทบไม่แตกต่างกันนั่นคือ หินปูน หินดินดาน ดินลูกรัง และทราย เพียงแต่ปูนซีเมนต์ขาวจะคัดสรรวัตถุดิบเฉพาะ โดยการควบคุมปริมาณของเหล็กออกไซด์และแมกนีเซียมออกไซด์ในวัตถุดิบให้มีน้อยที่สุด เพื่อให้ได้ปูนซีเมนต์ที่มีสีขาวมากที่สุด ส่วนกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ขาวจะแตกต่างและมีขั้นตอนมากกว่าปูนซีเมนต์เทา เช่น การเผาที่อุณหภูมิสูงกว่า ไปจนถึงขั้นตอนการลดอุณหภูมิลงที่ช่วยควบคุมความคงที่ของสีปูน เป็นต้น จึงส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตปูนซีเมนต์ขาวสูงกว่าการผลิตปูนซีเมนต์เทาไปโดยปริยาย
การใช้งาน
หากเป็นงานก่ออิฐฉาบปูนทั่วไปที่ต้องทาสีหรือปิดผิวด้วยวัสดุตกแต่งอื่นๆ ไปจนถึงงานโครงสร้างอาคารที่ต้องใช้ปูนซีเมนต์ประเภทปอร์ตแลนด์ จะเห็นได้ชัดว่าปูนซีเมนต์เทาเหมาะกับงานเหล่านี้มากกว่า ถึงแม้คุณสมบัติของปูนซีเมนต์ขาวไม่ได้ด้อยกว่าปูนซีเมนต์เทาแม้แต่น้อย และออกจะแข็งแกร่งมากกว่าด้วยซ้ำ หากแต่งบประมาณในการก่อสร้างที่ใช้ปูนซีเมนต์ขาวจะสูงกว่าหลายเท่าตัวนั่นเอง อย่างไรก็ดี บางกรณีมีการใช้ปูนซีเมนต์ขาวในงานฉาบผนังขาวโชว์พื้นผิว หรือแม้แต่งานหล่อคอนกรีตที่ต้องการโชว์สีธรรมชาติของปูนซีเมนต์ขาว เช่น ผนังคอนกรีตขาว แผ่นผนัง
Precast งานปั้นปูน ฯลฯ
นอกเหนือจากงานโชว์พื้นผิวธรรมชาติของปูนซีเมนต์ขาวแล้ว งานตกแต่งพื้นผิวที่มีการผสมสีเฉดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น งานฉาบสี ปูนฉาบบางสีต่างๆ สีซีเมนต์ หินขัด กรวดล้าง/ทรายล้าง ฯลฯ หรือแม้แต่วัสดุผิวหน้าในขั้นตอนการพ่นสีบนกระเบื้องหลังคาคอนกรีต บล็อกปูถนน พื้นคอนกรีตพิมพ์ลาย (Stamp Concrete) จะเหมาะกับการใช้ปูนซีเมนต์ขาวเช่นกัน เพื่อให้ได้ความแม่นยำของสีวัสดุตกแต่งพื้นผิวนั้น และด้วยเนื้อปูนซีเมนต์ขาวที่แน่นละเอียด เหนียวนุ่มยึดเกาะได้ดี จึงเหมาะกับวัสดุประเภทกาวซีเมนต์และยาแนวกระเบื้องได้เป็นอย่างดี
สุดท้ายขอเพิ่มเติมความเข้าใจกันอีกเล็กน้อยเกี่ยวกับ “ปูนขาว” (ที่ไม่ใช่ปูนซีเมนต์ขาว) ซึ่งมักใช้เป็นส่วนผสมหรือตัวปรับสภาพทางเคมี อย่างเช่น ในงานก่อสร้างจะใช้ปูนขาวเป็นส่วนผสมของปูนฉาบเพื่อช่วยลดการแตกร้าว ในงานเกษตรปูนขาวจะช่วยปรับสภาพดินที่เป็นกรดสูง หรือในอุตสาหกรรมเหล็กจะใช้ปูนขาวในการดึงสารเจือปนเพื่อให้เหล็กคุณภาพสูง เป็นต้น ปูนขาวและปูนซีเมนต์ขาวที่มีส่วนผสมและกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถใช้งานทดแทนกันได้ เจ้าของบ้านและผู้ใช้งานจึงควรสังเกตและระมัดระวังการใช้งานให้ถูกต้องเช่นกัน