posttoday

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล จุดเชื่อมต่อใหม่คนกรุง

06 สิงหาคม 2560

รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะตอบโจทย์การเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ เติมเต็มทุกจุดหมายปลายทางที่ระบบขนส่งเข้าไม่ถึง

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) จัดประชุมสัมมนารับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 เพื่อศึกษาความเหมาะสมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ช่วงแคราย-ลำสาลี (บึงกุ่ม) ซึ่งจะเป็นระบบขนส่งมวลชนที่สำคัญอีกสายหนึ่งที่เชื่อมต่อประชาชนจากชานเมืองเข้าสู่กรุงเทพฯ

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่า รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลเป็นหนึ่งในโครงการที่รัฐบาลให้ความสำคัญเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างทิศตะวันตกและทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีปัญหาจราจรอย่างหนักจากปริมาณการเดินทางของประชากร 17 ล้านคนในแต่ละวัน สอดคล้องกับแผนสนับสนุนให้ประชากรเปลี่ยนพฤติกรรมมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ (Shift mode) ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%

อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะทำหน้าที่เป็นระบบเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลัก หรือฟีดเดอร์ ซึ่งจะมีจุดตัดผ่านรถไฟฟ้าสายหลักถึง 6 จุด เช่นเดียวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองและรถไฟฟ้าสายสีเทา ที่อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อบรรจุเข้าสู่แผนแม่บทรถไฟฟ้าเฟส 2 อีกจำนวน 10 สาย คาดว่าผลศึกษาของไจก้าจะแล้วเสร็จช่วงต้นปี 2561 ก่อนเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติดำเนินการต่อไป

ทั้งนี้ บริษัทที่ปรึกษาเสนอ 4 ทางเลือกในการแก้ปัญหาการจราจรดังกล่าว คือ 1.สร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล 2.สร้างทางด่วนเกษตร-วงแหวนตะวันออก 3.สร้างทางด่วนจากบางใหญ่-วงแหวนตะวันออก และ 4.สร้างทั้งรถไฟฟ้าและทางด่วนบนเส้นทางเดียวกัน

“ความเห็นส่วนตัวมองว่ารูปแบบที่ 4 มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพื่อให้เกิดประโยชน์กับการขนส่งทุกรูปแบบทั้งรถไฟฟ้าและการเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัช-โทลล์เวย์-ฉลองรัชเข้าด้วยกัน”อาคม ระบุ

อย่างไรก็ตาม หากเลือกระบบรถไฟฟ้า จะเลือกใช้รถไฟฟ้ารางเบา (Light rail) เพื่อความรวดเร็วในการดำเนินโครงการและการก่อสร้าง เพราะไม่ต้องออกแบบรายละเอียดเหมือนรถไฟฟ้าสายหลักที่เป็น Heavy rail สำหรับรูปแบบการลงทุนมีโอกาสที่จะเปิดให้เอกชนลงทุน 100% ส่วนกรอบวงเงินและปริมาณผู้โดยสารต้องรอผลศึกษาด้านแนวเส้นทางและเลือกรูปแบบที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง

สำหรับแผนขยายทางด่วนตอน N2-วงแหวนรอบนอกตะวันออก ปัจจุบันกระทรวงคมนาคมได้บรรจุไว้ในแผนลงทุนเร่งด่วนปี 2560 โดยจะใช้เงินจากกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) นั้นสามารถดำเนินการต่อไปได้เลยเพื่อเตรียมรองรับรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า การศึกษาความเหมาะสมในการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลครั้งนี้ มีระยะเวลา 14 เดือน กำหนดเวลาแล้วเสร็จช่วงกลางปี 2561 รวมทั้งยังต้องศึกษารายละเอียดอีกหลายด้าน ส่วนแนวเส้นทางและรูปแบบโครงการจะได้ข้อสรุปภายในปลายปีนี้

“ถ้าหากโครงการไม่มีปัญหาอะไร คาดว่าจะเสนอเข้ากระทรวงคมนาคมและจัดทำการศึกษาแนวทางเปิดร่วมทุนโครงการราว 9 เดือนก่อนส่งต่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินการร่างเอกสารประกวดราคาและประมูลรวมถึงลงนามสัญญาภายใน 6 เดือน หรือช่วงปลายปี 2562 โดยใช้เวลาก่อสร้างราว 3 ปี ก่อนเปิดให้บริการในปี 2565” ชัยวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ รถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลจะตอบโจทย์การเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าของคนกรุงเทพฯ เติมเต็มทุกจุดหมายปลายทางที่ระบบขนส่งเข้าไม่ถึง เนื่องจากมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้า 6 สาย แนวเริ่มจากแยกแคราย เชื่อมสายสีม่วง (เตาปูน-คลองบางไผ่) และสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ไปตามแนวถนนงามวงศ์วาน เชื่อมกับสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ที่สถานีบางเขน ผ่านแยกเกษตร เชื่อมกับสายสีเขียว (หมอชิต-คูคต) ที่สถานีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แล้วไปตามแนวถนนเกษตร-นวมินทร์ (ประเสริฐมนูกิจ) ถนนนวมินทร์และสิ้นสุดบริเวณถนนรามคำแหง เชื่อมกับสายสีส้ม (ศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) บริเวณแยกลำสาลี ระยะทางรวม 21.5 กม. ประกอบด้วย 22 สถานี หรือ 1 กิโลเมตร/สถานี

อย่างไรก็ตาม การก่อสร้างทางด่วนควบรถไฟฟ้าเป็นแนวทางที่น่าสนใจ เพราะประชาชนจะได้ประโยชน์สูงสุดจากตัวเลือกการเดินทาง ขณะที่ระบบตัวรถนั้นมีตัวเลือกสองรูปแบบ คือ 1.รถไฟโมโนเรล 2.รถไฟอัตโนมัติแบบไร้คนขับ (AGT : Automated Guided Transit) ซึ่งรูปแบบที่สองจะยืดหยุ่นมากกว่าในการบำรุงรักษาและบริหาร เพราะเป็นอาณัติสัญญาณแบบสากลที่สามารถใช้ได้กับตู้ขบวนทุกรุ่นแตกต่างจากรถไฟโมโนเรลที่ใช้ได้แค่ตู้ยี่ห้อเดียว และยังได้รับความนิยมจากประเทศชั้นนำต่างๆ อาทิ อังกฤษ ญี่ปุ่น เยอรมนี และฝรั่งเศส

ชยธรรม์ พรหมศร รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า เบื้องต้นได้กำหนดสถานีต่างๆ ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล รวม 22 สถานี ประกอบไปด้วย 1.ศูนย์ราชการนนทบุรี ตรงข้ามไทยคม 2.งามวงศ์วาน ใกล้ซอยงามวงศ์วาน 3 3.บัวขวัญ ตรงชุมชนวัดบัวขวัญ 4.แยกพงษ์เพชร 5.ชินเขต หน้าซอยงามวงศ์วาน 43 6.บางเขน หน้าเรือนจำคลองเปรม 7.คุณหญิงอิศรา หน้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 8.เกษตร ทางแยก 9.กรมยุทธโยธาทหารบก 10.ลาดปลาเค้า 39 11.ประเสริฐมนูกิจ 25 12.เสนานิเวศน์ 13.สตรีวิทยา 2 14.ประดิษฐ์มนูธรรม บริเวณจุดตัดทางด่วน 15.คลองลำเจียก จุดตัดถนนลำเจียก 16.รามอินทรา-นวมินทร์ จุดตัดนวมินทร์ 17.นวลจันทร์ แยกซอยนวลจันทร์ 11 18.โพธิ์แก้ว บนถนนนวมินทร์ตัดถนนโพธิ์แก้ว 19.นวมินทร์ 73 20.แฮปปี้แลนด์ จุดตัดนวมินทร์กับแฮปปี้แลนด์ 21.การเคหะแห่งชาติ และ 22.ลำสาลี บริเวณแยกลำสาลี

สำหรับกรณีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์คัดค้านการก่อสร้างรถไฟฟ้าและทางด่วนตัดผ่านมหาวิทยาลัยนั้น สนข.จะเร่งหาข้อสรุปแนวเส้นทางว่าจะต้องตัดผ่านหรือเบี่ยงเส้นทางอ้อมไม่ให้ผ่านมหาวิทยาลัย อย่างไรก็ตามถ้าหากต้องอ้อมแนวเส้นทางนั้นมั่นใจว่าการเวนคืนพื้นที่จะไม่กระทบกรอบทำให้โครงการล่าช้าเนื่องจากเน้นแนวเส้นทางที่เป็นพื้นที่ กทม.เพื่อความสะดวกในการใช้สอยพื้นที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผู้เข้าร่วมงานและประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาและใช้ประโยชน์พื้นที่ตามแนวเส้นทาง อย่างไรก็ตามชาวบ้านส่วนมากได้คัดค้านการสร้างทางด่วนควบคู่รถไฟฟ้าเพราะมองว่าเป็นการทับซ้อนเส้นทางและมีความเสี่ยงด้านชีวิตและทรัพย์สินมากกว่าการสร้างรถไฟฟ้าอย่างเดียว

ขณะที่ที่ดินตามแนวเส้นทางดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุนอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะย่านถนนเกษตร-นวมินทร์ ซึ่งมีโครงการที่พักอาศัยเกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งยังมีแผนจะพัฒนาเป็นอาคารศูนย์การประชุมและแสดงสินค้า อาคารสำนักงาน โรงแรม 200 ห้อง และที่จอดรถกว่า 2,000 คัน เช่นเดียวกับที่ดินตามแนวเส้นทางด่วนฉลองรัชหรือที่เรียกว่าพื้นที่เลียบทางด่วน (เลียบด่วน) ซึ่งมีโครงการที่พักอาศัยและห้างสรรพสินค้าชั้นนำมากมายทั้งเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป และเครือ เค.อี.แลนด์ ผู้พัฒนาโครงการบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้าคริสตัล พาร์คและคอมมูนิตี้มอลล์ระดับไฮเอนด์อย่างเดอะ คริสตัล และซีดีซีอีกด้วย

ทั้งนี้ การเกิดขึ้นของรถไฟฟ้าสายสีทอง นอกจากจะเชื่อมต่อการเดินทางของคนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออกสู่ตะวันตกแล้ว ยังจะเปิดย่านเศรษฐกิจแห่งใหม่ของคนเมืองอีกด้วย