คนกับเมือง: จากมุมมองของนักออกแบบเมือง เมื่อเมืองสมาร์ท คนต้องสมาร์ทกว่า?
ก่อนจะเป็น Smart City ต้องสร้างให้ “เมืองน่าอยู่” ก่อน แล้วการสร้างเมืองที่น่าอยู่ เริ่มจากอะไร ไปฟังนักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเมือง- คุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Intelligence แห่งศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมือง เล่าเรื่องเมืองในมุมมองของเขาให้เราฟัง
เริ่มจาก “ศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมือง” มีหน้าที่หลักๆ คืออะไร
ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง หรือ Urban Design and Development Center (UddC) เป็นส่วนหนึ่งของศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเมือง ให้บริการ 5 ด้านหลัก ได้แก่ การออกแบบและวางผังเมือง การวิจัยและวิเคราะห์ข้อมูลเมือง การสร้างการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและภาคีพัฒนา การสื่อสารและประชาสัมพันธ์ และการฝึกอบรม
และความน่าสนใจก็คือมีการพัฒนาพื้นที่กลางสำหรับการสื่อสารและสร้างความตระหนักรู้ รวมถึงเป็นที่เก็บรวบรวมองค์ความรู้เรื่องเมืองทึ่เป็นคลังสมองสำคัญอย่าง The Urbanis ช่วยขับเคลื่อนคอนเทนต์ที่น่าสนใจของเมืองในย่านต่างๆ ด้วย
และหัวขบวนคนสำคัญของกลุ่มคนรุ่นใหม่ในการทำงานขับเคลื่อนเมืองอย่างคุณต่อ- อดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ รองผู้อำนวยการฝ่าย Urban Intelligence แห่งศูนย์การออกแบบและพัฒนาเมืองก็ได้มาให้คำตอบกับ PostToday เรื่องเมืองๆ ในประเด็นต่างๆ
เครดิตภาพ : https://www.uddc.net/
ประเด็นใหญ่ของเมืองจากเรื่องล้านแปด
เรื่องของ "พื้นที่สาธารณะ" เป็นเรื่องใหญ่ และ เรื่อง "พื้นที่สีเขียวสาธารณะ" ก็เป็นประเด็นที่ทุกเมืองในโลกให้ความสำคัญมาโดยตลอด
แล้วความท้าทายของการออกแบบ “พื้นที่สีเขียวสาธารณะ” ของกรุงเทพมหานครมีอะไรบ้าง
ความยากข้อแรก คือการค้นหาประเด็นร่วม (common issues) ของเมือง เรื่องของพื้นที่สีเขียวของเมือง ซึ่งมีที่มาจากโครงการ Urban Observatory - “หอสังเกตุการณ์เมือง” ว่า กรุงเทพฯมี pain point ด้านใดมากที่สุด เราพบว่า 1 ใน 4 ของ pian point ของคนกรุงเทพฯ ก็คือ “การขาดแคลนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ” ข้อนี้เป็นความท้าทายแรกที่เราจะต้องสร้าง common interest หรือความสนใจร่วมกันให้เกิดขึ้นในสังคมให้ได้ก่อน มันจึงจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือการสร้างการเปลี่ยนแปลง หลังจากนั้น หลังจากนั้นความท้าทายข้อที่สองก็คือเราจะต้องสร้างการมีส่วนร่วมที่เพียงพอในการออกแบบ หรือการวางผังความต้องการอื่นๆ ในระยะแรกก็คือการสร้างความร่วมมือที่จะออกแบบ เพราะการออกแบบหน้าตาของพื้นที่สีเขียวสาธารณะมันไม่ใช่แค่การเติมพื้นที่สีเขียวเข้าไปในเมือง แต่อาจจะต้องถามถึงความต้องการ เพราะความต้องการใช้พื้นที่สวนของคนกรุงเทพฯ อาจแตกต่างกัน ดังนั้น การออกแบบพื้นที่สีเขียวสาธารณะตรงนี้ มันไม่ได้แปลว่า เราออกแบบเป็นมาตรฐานหรือ Prototype ที่จะนำไปใช้ได้ทุกย่านของกรุงเทพฯ มันไม่ใช่
เครดิตภาพ: www.uddc.net
ความท้าท้ายข้อที่สามซึ่งยาก พอเราได้พื้นที่สวน หรือออกแบบเสร็จแล้ว ความท้าทายอีกข้อหนึ่งก็คือเรื่องของงบประมาณในการดำเนินการเรื่องของการขับเคลื่อนพื้นที่สีเขียวสาธารณะ เพราะว่าความจริงแล้ว ประเด็นเรื่องของพื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในร้อยประเด็นล้านประเด็นในเรื่องการจัดการพื้นที่สาธารณะ หรือการจัดการเมืองโดยทั่วไป
ดังนั้น แสดงว่า มันต้องการงบประมาณสนับสนุนที่เพียงพอ จึงต้องมีการจัดลำดับความสำคัญว่าพื้นที่ส่วนไหนที่ควรทำก่อน ประเด็นไหนที่ควรทำก่อน นี่คือความท้าทายในด้านของงบประมาณ
ข้อสุดท้ายคือ เมื่อสร้างเสร็จแล้ว การบริหารจัดการ การดูแลรักษาให้คงทน ยั่งยืนก็จะเป็นอีกความท้าทายหนึ่ง ทำยังไงจะให้เกิดความคุ้มค่าที่สุด ตัวอย่างเช่น ปัจจุบันมีการเปิดโอกาสให้มีการใช้ที่ดินของเอกชนปรับเปลี่ยนเป็นพื้นที่สาธารณะชั่วคราว เป็นการจัดการรูปแบบใหม่ นี่ก็คือความท้าทายอีกรูปแบบว่า ทำอย่างไรจึงจะเกิดความคุ้มค่ามากที่สุด
ส่วนประเด็นที่จะขับเคลื่อนกันต่อไป เป็นโครงการระยะยาว 3-5 ปีก็คือ ความท้าทายในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับพื้นที่เมือง เป็นสิ่งที่น่าจับตามอง
Smart City ในมุมมองของคุณ?
เป็นไปตามกระแสดิจิทัลภิวัฒน์ แต่เราอาจจะต้องให้ความสำคัญกับการตีความ เพราะว่ามันสามารถขับเคลื่อนได้หลากหลายแง่มุมมากๆ คนทั่วไปอาจมองแค่ในเรื่องของประดิษฐกรรมบางอย่างของเมืองที่ล้ำมากๆ
แต่ผมมองว่าคำว่า Smart City มีพื้นฐานสำคัญ 2 อย่างที่คนยังให้ความในใจน้อยก็คือ Smart Governance และ Smart People ก็คือว่า การบริหารจัดการอัจฉริยะ ไม่ได้แปลว่า แค่ใช้เทคโนโลยีนำ แต่มันอาจจะใช้ ปัญญา นำก็ได้ คือการใช้กลไกต่างๆ ในการลดขั้นตอน มีกลยุทธ์พิเศษในการบริหารจัดการ ตรงนี้ผมคิดว่า จำเป็นและสำคัญมากๆ
กับอีกเรื่องคือการสร้าง Smart People หรือการสร้างคนที่สมาร์ท ไม่ใช่แค่การเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ถึงแม้เราจะมีเครื่องมือที่สมาร์ทแต่ถ้าคนที่ดำเนินการ หรือคนที่ใช้ชีวิตอยู่ไม่สมาร์ท มันไม่มีประโยชน์ที่จะมี Object ที่มันช่วยเหลือเรามากๆ กลายเป็นว่า แม้เราจะมีเทคโนโลยีที่ล้ำมาก แต่ว่ามันไม่สามารถใช้งานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้ ดังนั้นการขับเคลื่อนจึงต้องเป็นแบบค่อยๆ เป็นๆ ค่อยๆ ไป ในทิศทางของเมืองไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือว่า ภูมิภาคที่เป็นเมืองหลักเมืองรอง ในปัจจุบันผมสังเกตว่า มีทิศทางที่ดีในการสร้างหรือตอบโจทย์เรื่องของตัวสมาร์ทซิตี้ แต่ว่าไม่อยากให้เน้นหนักไปในเรื่องของตัว Object เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีเรื่องของการบริหารจัดการและการสร้างการขับเคลื่อนทางในทางกายภาพของคนหรือบุคคลที่อยู่ในเมืองด้วย คือควรขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน
เครดิตภาพ: www.uddc.net
สิ่งที่เป็นความยากหรือ ความท้าทายก่อนที่จะเป็น Smart City ?
ยกตัวอย่าง เช่น การเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันมาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า ก็ทำให้เมืองสมาร์ทขึ้นได้ แต่ว่าสิ่งที่เป็นความยากหรือความท้าทายของการสร้าง Smart City เราต้องเข้าใจก่อนว่า
“พื้นฐานของ Smart City ก่อนที่จะสมาร์ท มันต้องน่าอยู่ก่อน”
เมืองที่น่าอยู่ ต้องเป็นเมืองที่สามารถตอบโจทย์ปัจจัยขั้นพื้นฐานก่อน ดังนั้น การก้าวจากเมืองที่มีปัญหาร้อยแปดแล้วเอาสมาร์ทเข้ามาเลย ผมคิดว่า มันไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ถูกต้องตามขั้นตอน
ความเป็นส่วนหนึ่งของเมืองของคนกรุงเทพฯ เมื่อกรุงเทพฯ (อาจ) ไม่ใช่บ้าน
ความน่าสนใจมากกว่าคำว่า Smart ที่พูดถึงการเข้าถึงดิจิทัล แต่ความ Smart ในข้อนี้คือ เราสำนึกเรารับรู้ได้หรือไม่ว่า ในย่านหรือในพื้นที่ที่เราอยู่มันเป็นส่วนหนึ่งของเราและเราเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ที่เราอยู่ แล้วเรามีโอกาส เราสามารถที่จะมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนหรือสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ หรือในขณะเดียวกันผู้บริหารเมืองก็รับรู้ว่า คนที่อยู่ในเมือง ไม่ว่าจะคนที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพฯ หรือว่า มาขายแรงงาน หรือว่ามาทำงานในกรุงเทพฯ เขาเป็นส่วนหนึ่งที่สร้างผลกระทบหรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่
การสร้าง "เมืองที่น่าอยู่" เป็นเรื่องใหญ่ มีย่านไหนในกรุงเทพมหานครที่คุณรู้สึกว่าน่าอยู่ที่สุด?
สิ่งที่น่าสนใจ คือ คำว่า “ย่านน่าอยู่” บางครั้งเมืองอาจจะดูห่างไกลจากเรา แต่ย่านมันคือพื้นที่ละแวกบ้าน ที่เราอยู่อาศัย ที่เราทำงาน ดังนั้น คำว่า ย่านน่าอยู่ ในมุมมองผม คิดว่า แต่ละย่านล้วนมีเสน่ห์ ข้อดี ข้อเสีย ที่แตกต่างกันออกไป แต่หากให้ยกตัวอย่างย่านที่น่าสนใจ ก็มีหลายย่านที่ผมคิดว่าน่าสนใจ เช่น
- ย่านกะดีจีน-คลองสาน ย่านเก่าแก่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่โดดเด่นเรื่องมรดกวัฒนธรรมและความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง ได้ชื่อว่าเป็นย่าน “6 ชุมชน 3 ศาสนา 4 ความเชื่อ” และตอนนี้กำลังเป็นย่านที่มีการพัฒนาพื้นที่ที่น่าสนใจเกิดขึ้นหลายโครงการ เช่น สวนลอยฟ้าเจ้าพระยา ทางเดินริมน้ำกะดีจีน หรือสวนสานธารณะริมแม่น้ำเจ้าพระยา
- ย่านพระโขนง-บางนา ในโซนสุขุมวิทใต้ ถือเป็นอีกหนึ่งย่านใหม่ของกรุงเทพที่กำลังเติบโตและน่าสนใจ จากการพัฒนาของภาครัฐและการลงทุนของโครงการขนาดใหญ่ของภาคเอกชน กลายเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ของกลุ่มคนทำงานรุ่นใหม่ ที่มองหาพื้นที่ส่งเสริมนวัตกรรมและการใช้ชีวิตเมือง
ผังเมืองในฝันของคุณเป็นอย่างไร เมืองต้นแบบที่คุณคิดว่า คือผังเมืองดีที่สุดในโลกคือเมืองอะไรบ้าง ขอสักห้าอันดับ
สำหรับผมมีที่ ปารีส ลอนดอน สิงคโปร์ บาร์เซโลนาร์ และนิวยอร์ค ทั้งหมดมีคาแรคเตอร์เมืองที่ต่างกัน แต่ท้ายที่สุดมันมีประวัติที่ยาวนานของการเปลี่ยนแปลงของแต่ละเมือง ถ้าบอกว่ามันเป็นผังเมืองที่ดีที่สุดมันคงสะท้อนกับคุณภาพหลายๆ อย่าง คุณภาพชีวิตของคนที่อยู่ในเมือง คำว่า “ผังเมืองที่ดี” ไม่ได้แปลว่าเขาสร้างหรือเสกขึ้นมา ทุกการเปลี่ยนแปลงที่สร้างบทเรียนให้กับเมือง หรือคนที่อยู่ในเมืองเป็นประสบการณ์ที่น่าสนใจ เช่น ปารีสในการสร้างหรือเปลี่ยนพื้นที่พลาซ่าหรือการสร้างถนนทางเท้า หรือพื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ก็เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในยุคของการให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาวะในเมือง เป็นต้น หรือในลอนดอน หรือสิงคโปร์เองก็เหมือนกัน
คำว่า “ผังเมืองที่ดี” มันต้องไปประกอบกับตัวยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนหรือการพัฒนาเมืองด้วย
เช่น โจทย์เรื่องพื้นที่สีเขียวในเมือง มีอยู่ในทุกเมืองทั่วโลก การเข้าถึงโดยเฉพาะแนวคิดเรื่องการพัฒนาเมือง 15 นาที และพื้นที่สีเขียวเป็นหนึ่งในเป้าหมายของการพัฒนานี้ ที่ทำให้มีการหว่านพื้นที่สีเขียวในหลายรูปแบบ ทั้ง เขียวกินได้ มีพื้นที่เกษตรในเมืองทั่วเมืองปารีส บวกกับการขับเคลื่อนในเชิงยุทธศาสตร์ผนวกกับนโยบายในการบริหารจัดการเมืองทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเมืองอย่างเป็นขั้นตอนไปเรื่อยๆ
เครดิตภาพ : www.uddc.net
ประสบความสำเร็จแค่ไหนกับการทำงานออกแบบและพัฒนาเมือง?
“เมืองมีพลวัตตลอดเวลา เรื่องของเมืองไม่ใช่เรื่องตายตัว”
พอมีโครงการที่เกิดขึ้นจริง เห็นแล้วก็ชื่นใจ แต่ในความท้าทายก็คือ ความจริงแล้วมันมีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลากับการทำงานเรื่องเมือง ผมทำงานเรื่องเมืองและจับกับเรื่องของประเด็นการใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ เป็นอีกหนึ่งอย่างที่ผมคิดว่ามันมีความน่าสนใจและเป็นท้าทายของการทำงานเรื่องเมือง และเป็นเรื่องใหม่ที่ในบ้านเรายังไม่ค่อยมีก็คือว่า การจับกับงานเรื่องของ "นักวิทยาศาสตร์ข้อมูลเมือง" (Data Scientists) กับเรื่องของการใช้ข้อมูลในการออกแบบการวางผังเมืองกับการออกแบบพัฒนาเมืองที่เริ่มจากตัวข้อมูลเพื่อเป็นฐานในการทำงานเกี่ยวกับเมือง มันยังเป็นความใหม่และน่าสนใจ
ประเด็นเรื่องสุดท้าย ความจริงแล้วเรื่องเมืองมันไม่ตายตัว มันจะมีประเด็นใหม่ๆ ที่เราขับเคลื่อนไปได้เรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Smart City เมือง Urban Resilience-เมืองที่ยืดหยุ่นตั้งรับปรับตัว พื้นที่สีเขียว หรืออาจจะมีเรื่อง อากาศ เรื่องคน ความสูงวัย พลวัตเหล่านี้มันคือความท้าทาย ไม่ใช่งานที่ซ้ำซากจำเจอยู่กับที่ คนที่ทำงานเรื่องนี้อาจจะต้องตื่นตัว ต้องมีความกระตืนรือร้นขวนขยายอยู่ตลอดเวลา
ผมคิดว่า สำหรับการทำงานมา 8-9 ปี ผมมีความภูมิใจในการทำงาน และยังมีไฟ มีความท้าทายในการทำงานอยู่ตลอดเวลา