posttoday

กทม. ชู 3 นโยบาย ดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่

04 กุมภาพันธ์ 2567

กทม. ชู 3 นโยบาย “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์-เทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567- BKK Food Bank” ผลักดันกรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน

นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมเสวนาพิเศษหัวข้อ “When Policies Meet Design and Creativity : The case studies of Bangkok Design Week and BKK Food Bank” ในงาน Sustainable Gastronomical Experience in UNESCO Locales ณ โรงแรม Amari Bangkok Hotel 

ทั้งนี้ รองผู้ว่าฯ ศานนท์ กล่าวโดยรวมในประเด็นนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร การจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) และการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ว่า สำหรับนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของกรุงเทพมหานคร เป็นนโยบายของกรุงเทพมหานคร ที่มุ่งเน้นพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นพื้นที่แห่งการสร้างโอกาส สร้างรายได้ และขยายศักยภาพของเศรษฐกิจเมือง 

โดยครอบคลุมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของประเทศไทย ทั้ง 15 สาขา ได้แก่ งานฝีมือและหัตถกรรม ดนตรี ศิลปะการแสดง ทัศนศิลป์ ภาพยนตร์ การแพร่ภาพและกระจายเสียง การพิมพ์ ซอฟต์แวร์ การโฆษณา การออกแบบ การให้บริการด้านสถาปัตยกรรม แฟชั่น อาหารไทย การแพทย์แผนไทย และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม 

กรุงเทพมหานครจึงได้มีการดำเนินงานในด้านต่างๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของเมือง เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของประเทศ นโยบายของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และเท่าทันต่อกระแสโลก เสริมศักยภาพด้านเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและความท้าทายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตต่อไป

สำหรับการจัดงานเทศกาลงานออกแบบกรุงเทพฯ 2567 (Bangkok Design Week 2024) มีการจัดงานตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.-4 ก.พ.2567 โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานคร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรระหว่างประเทศ และภาคีเครือข่ายย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นำเสนอกิจกรรมออกแบบและสร้างสรรค์กว่า 500 กิจกรรม อาทิ นิทรรศการ เวทีเสวนา กิจกรรมเวิร์กช็อป การแสดง เส้นทางการท่องเที่ยว ตลาด และกิจกรรมอีเวนต์ จากนักออกแบบและธุรกิจสร้างสรรค์กว่า 2,000 ราย 

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งนำเสนองานออกแบบและงานสร้างสรรค์ที่สะท้อนความคิดและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของกรุงเทพมหานครต่อสถานการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผ่านงานสร้างสรรค์ตั้งแต่ระดับของงานทดลองไปจนถึงผลงานที่ส่งผลด้านธุรกิจและเพื่อสังคม ที่จัดแสดงผ่านการใช้งานพื้นที่เมืองในย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy Districts) ต่างๆ พร้อมด้วยการจัดกิจกรรมเพื่อสร้างสีสันและประสบการณ์ที่สนุกสนานและน่าจดจำให้กับชาวเมือง รวมทั้งดึงดูดให้ผู้คนจากทั่วโลกเดินทางมาสัมผัสกับความเคลื่อนไหวล่าสุดของกรุงเทพมหานคร

ส่วนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องจากปัจจุบันยังมีกลุ่มเปราะบาง ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ ประชาชนผู้มีรายได้น้อย และผู้ประสบภัยพิบัติด้านต่างๆ ที่ยังขาดแคลนอาหารประจำวัน ที่รอความช่วยเหลือ และพบว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตเป็นอาหารส่วนเกิน (Food surplus) ถูกทิ้งทุกวัน 

BKK Food Bank เป็นการบริหารจัดการเพื่อรวบรวมอาหารส่วนเกิน (Food surplus) จากผู้บริจาคส่งต่อผู้รับอย่างเป็นระบบ ด้วยการเชื่อมโยงบูรณาการ การทำงานร่วมกันระหว่างกรุงเทพมหานคร ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นคงทางอาหาร (food security) ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร กลุ่มต่างๆ ที่ขาดแคลนอาหาร รวมทั้งลดปัญหาอาหารเหลือทิ้ง (Food waste) ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม