ช็อตต่อช็อต! ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะจากทั่วโลก แล้วไทยถึงไหนแล้ว
ระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะ หนึ่งในระบบที่ได้รับการเรียกร้องกันทั่วไป เพราะจะช่วยป้องกันโศกนาฎกรรมและความสูญเสียจากเหตุความรุนแรงได้ วันนี้เราจึงพาไปดูว่าที่ต่างประเทศมีการใช้งานระบบนี้แค่ไหน และระบบที่เพิ่งเปิดตัวในไทยเป็นอย่างไรบ้าง
ในช่วงที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องให้มีการติดตั้งระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินมากขึ้นเรื่อยๆ ผลพวงจากเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่สาธารณะหลายครั้ง กลับไม่มีช่องทางแจ้งเตือนป้องกันภัยทั้งแก่ผู้ประสบเหตุที่อาจอยู่ในพื้นที่ หรือผู้อยู่ในบริเวณใกล้เคียงอย่างเป็นรูปธรรม
อ้างอิงจากเหตุกราดยิงครั้งล่าสุดการแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินเหล่านี้เกิดขึ้นในวงจำกัด มักเป็นการแจ้งเตือนผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงมีภาคเอกชนบางส่วนที่ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชันของระบบเพื่อแจ้งเตือนคนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง นำไปสู่การตั้งคำถามว่าในเมื่อเอกชนรายย่อยทำได้ แล้วทำไมจึงไม่มีการแจ้งเตือนจากภาครัฐ
วันนี้เราจึงพามาเยี่ยมชมระบบแจ้งเตือนภัยฉุกเฉินสารธารณะของประเทศที่มีการใช้งานกันเสียหน่อย
WEA ระบบเตือนภัยฉุกเฉินจากสหรัฐฯ
เมื่อพูดถึงระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะประเทศแรกที่ทุกคนนึกถึงย่อมเป็นสหรัฐฯ กับการใช้งานระบบ Emergency alert system(EAS) ที่เริ่มใช้งานครั้งแรกในปี 1998 สำหรับแจ้งเตือนผ่านทางวิทยุ โทรทัศน์ ไปจนช่องทางกระจายเสียงสาธารณะ ผ่านช่องทางสถานีย่อยกว่า 77 สถานีวิทยุทั่วประเทศ
ต่อมาระบบนี้ได้รับการพัฒนาเป็น Wireless Emergency Alerts(WEA) เพิ่มการครอบคลุมไปถึงเครือข่ายและอุปกรณ์สื่อสารไร้สายทุกรูปแบบ ตั้งแต่อินเทอร์เน็ต โทรศัพท์มือถือ หรือแม้แต่เพจเจอร์ เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนกระจายข่าวสารภัยคุกคามอย่างทั่วถึง โดยอาศัยการกระจายข้อมูลผ่านระบบ Cell Broadcast ของเครือข่ายมือถือแต่ละท้องที่
การแจ้งเตือนสามารถทำได้ตั้งแต่รัฐบาลกลางจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ หน่วยงานส่วนกลาง ไปจนหน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ สามารถส่งเสียงและข้อความแจ้งเตือนแก่อุปกรณ์ของผู้ใช้งานโดยตรง เพื่อให้ประชาชนภายในพื้นที่รับทราบถึงอันตรายที่กำลังจะมาถึง
ระบบเตือนภัยฉุกเฉินของสหรัฐฯสามารถนำมาใช้งานได้หลายรูปแบบ เช่น แจ้งเตือนเหตุความรุนแรงอย่างการก่อการร้าย ก่อวินาศภัย เหตุกราดยิง ความรุนแรงจากอาวุธต่างๆ, ภัยธรรมชาติแบบน้ำท่วม ไฟป่า พายุเฮอร์ริเคน, แจ้งเตือนภัยสงครามวาระระดับชาติเร่งด่วน ไปจน Amber alert ที่ใช้ในการแจ้งเตือนเด็กหายให้แก่คนในพื้นที่ เป็นต้น
WEA ได้รับการใช้งานอย่างต่อเนื่องเพื่อรับมือสถานการณ์ต่างๆ เช่น การแจ้งเตือนเหตุระเบิดที่งานบอสตันมาราธอนในปี 2013, แจ้งเตือนพายุเฮอร์ริเคนแซนดี้ในปี 2015, แจ้งเตือนเด็กหายหรือถูกสงสัยว่าลักพาตัวจนช่วยชีวิตเด็กไว้ได้หลายครั้ง รวมถึงแจ้งเตือนให้อยู่บ้านและคำแนะนำทางสุขภาพทั้งหลายในช่วงการระบาดของโควิด
J-Alert ระบบเตือนภัยจากญี่ปุ่น
อีกหนึ่งประเทศที่มีระบบเตือนภัยติดอันดับโลกคือญี่ปุ่น ด้วยพื้นฐานของประเทศมักเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติบ่อยครั้งจึงถือเป็นประเทศที่มีระบบแจ้งเตือนดีเป็นอันดับต้นๆ บนโลก สามารถใช้งานในการแจ้งเตือนสู่สาธารณะชนได้อย่างรวดเร็ว เพื่อให้สามารถอพยพและให้ความช่วยเหลือเวลาเกิดภัยพิบัติทันท่วงที
ระบบที่ทางญี่ปุ่นพัฒนาขึ้นมาถูกตั้งชื่อว่า J-Alert ได้รับการเปิดตัวเป็นทางการในปี 2007 ครอบคลุมการแจ้งเตือนผ่านหลายช่องทางตั้งแต่โทรศัพท์มือถือ, อุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่, โทรทัศน์ ไปจนวิทยุกระจายเสียง ผ่านดาวเทียมตระกูล Super bird ที่สามารถแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินได้ใน 20 วินาที ก่อนได้รับการพัฒนาเพิ่มให้แจ้งเตือนได้ภายใน 2 วินาที
การแจ้งเตือนของญี่ปุ่นถูกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ขั้นแรกคือการแจ้งเตือนระวังภัยขึ้นเป็นสีเหลือง ใช้แจ้งเตือนภัยธรรมชาติทั่วไปที่ไม่รุนแรงเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ระวังตัว ขั้นต่อมาจะเป็นแจ้งอพยพจะใช้เป็นสีแดง เป็นการแจ้งเตือนภัยธรรมชาติร้ายแรง เช่น แผ่นดินไหว สึนามิ ภูเขาไฟระเบิด หรือพายุหมุน เป็นคำสั่งฉุกเฉินเพื่อให้ยุติกิจกรรมต่างๆ
ลำดับสุดท้ายแจ้งเตือนภัยพิบัติร้ายแรงจะเป็นสีม่วง ใช้สำหรับแจ้งเตือนภัยธรรมชาติขนาดใหญ่ การก่อการร้าย หรือการโจมตีทางทหารและขีปนาวุธ เป็นการเตือนฉุกเฉินที่มาพร้อมเสียงไซเรนที่มาพร้อมกับคำสั่งให้อพยพคนออกจากพื้นที่เร่งด่วนเพื่อความปลอดภัย
J-Alert ถือเป็นระบบที่มีการใช้งานต่อเนื่องและได้รับความนิยมนับจากเหตุแผ่นดินไหวโทโฮคุในปี 2011 เป็นต้นมา มีการใช้งานและแจ้งเตือนแก่สาธารณะชนมาตลอด ล่าสุดระบบแจ้งเตือนนี้ถูกใช้แจ้งเตือนการยิงขีปนาวุธของเกาหลีเหนือในวันที่ 13 เมษายน 2023 และเหตุแผ่นดินไหวใหญ่เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2024
การใช้งานระบบเตือนภัยฉุกเฉินในไทย
สำหรับประเทศไทยข้อเรียกร้องในการพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินสาธารณะได้รับการพูดถึงต่อเนื่องนับจากเหตุกราดยิงโคราช มาจนการส่งข้อความแจ้งเตือนจากแอปพลิเคชันภาคเอกชนในเหตุการณ์ที่พารากอน นำไปสู่การพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินขึ้นมาในที่สุด
โดยระบบเตือนภัยฉุกเฉินนี้เกิดความร่วมมือจากค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ทั้ง 2 เครือข่ายอย่าง True และ AIS อาศัยระบบ Cell Broadcast โดยความร่วมมือกับทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงาน กสทช. กับการพัฒนาระบบแจ้งเตือนผ่านโทรศัพท์มือถือ ปัจจุบันระบบนี้พร้อมสำหรับการใช้งานแจ้งเตือนได้ทันที
ระบบการทำงานจะกระจายข้อความผ่านเสาสัญญาณของแต่ละเครือข่าย แล้วไปขึ้นแสดงบนหน้าจอมือถือของผู้ใช้งานได้ทันทีในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน จะทำการแจ้งเตือนผ่านสัญญาณเสียง ข้อความ และการสั่นขึ้นมาบนหน้าจออัตโนมัติโดยไม่ต้องติดตั้งแอปพลิเคชันใดเพิ่มเติม สามารถใช้ในการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ตลอด 24 ชั่วโมง
อย่างไรก็ตามเมื่อเปรียบเทียบกับการใช้งานระบบเตือนภัยฉุกเฉินของประเทศอื่น การแจ้งเตือนของไทยยังไม่ครอบคลุมเพราะมีช่องทางรับข้อมูลข่าวสารเพียงแค่โทรศัพท์มือถือเป็นหลัก แม้จะมีระบบแจ้งเตือนผ่านช่องทางอื่นๆ แต่ยังไม่สะดวกและเชื่องช้าจนยากต่อการใช้งานจริง แตกต่างจากต่างประเทศที่สามารถสั่งให้พร้อมใช้งานได้ในระดับหลักวินาที
เช่นเดียวกับการใช้งานที่ปัจจุบันยังไม่มีศูนย์สั่งการอย่างเป็นระบบนัก ระบบแจ้งเตือนร่วมกับค่ายมือถือนี้ได้รับการพัฒนาโดย กสทช. ผ่านกระทรวงดิจิทัลฯ ในขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ อยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย นำไปสู่การตั้งคำถามว่า จะสามารถประสานงานกันได้แค่ไหน รวมถึงหน่วยงานใดที่สมควรเป็นคนควบคุมสั่งการใช้งานระบบนี้
ที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการแจ้งเตือนผ่านช่องทางโทรศัพท์มือถือนี้รองรับการใช้งานหลายประเภท ตั้งแต่ภัยคุกคามระดับชาติ, ความปลอดภัยสาธารณะ, แจ้งเตือนภัยพิบัติ ไปจนระบบแจ้งเตือนเด็กหาย คำถามสำคัญที่ตามมาคือ สุดท้ายเราจะสามารถนำระบบนี้มาใช้กับกรณีใดบ้าง? และพร้อมนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้แค่ไหน?
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าสุดท้ายเราจะได้รับประโยชน์แค่ไหนจากการพัฒนาระบบแจ้งเตือนนี้
ที่มา
https://www.ready.gov/alerts#content
https://esolia.com/japan-emergency-broadcast-system-j-alert/
https://www.centreforpublicimpact.org/case-study/disaster-technology-japan
https://www.posttoday.com/smart-life/706415