posttoday

วว. โชว์เทคโนโลยีจัดการขยะสู่พลังงาน สร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน

12 มีนาคม 2567

เทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนต้นแบบ “ตาลเดี่ยวโมเดล”  และโครงการพัฒนาต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ร่วมขับเคลื่อน โครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” จังหวัดระยอง

ดร.เรวดี   อนุวัฒนา   ผู้เชี่ยวชาญวิจัย กลุ่มวิจัยและพัฒนาด้านพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมด้วยคณะนักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม  ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรกลอัตโนมัติ  ในฐานะผู้แทน สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) นำผลงานโครงการเทคโนโลยีการจัดการขยะชุมชนต้นแบบ “ตาลเดี่ยวโมเดล”  และโครงการพัฒนาต้นแบบศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร อ.บ้านฉาง จ.ระยอง ร่วมจัดแสดงนิทรรศการเพื่อร่วมขับเคลื่อน โครงการ “หน่วยบำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างรอยยิ้มให้ประชาชน” จังหวัดระยอง  (โครงการจังหวัดเคลื่อนที่) โอกาสนี้ วว. ได้รับเกียรติจาก นายไตรภพ วงศ์ไตรรัตน์  ผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง เยี่ยมชมผลงานของ วว. พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ หัวหน้าหน่วยงานและประชาชน ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 ณ โรงยิมเนเซี่ยม เทศบาลตำบลบ้านฉาง ตำบลบ้านฉาง  อำเภอบ้านฉาง จังหวัดระยอง

 

วว. โชว์เทคโนโลยีจัดการขยะสู่พลังงาน สร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน

 

ทั้งนี้ วว. เป็นหน่วยงานแรกและหน่วยงานแกนหลักร่วมกับพันธมิตร ในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG ภายใต้ โครงการฯ ตาลเดี่ยวโมเดล ในการจัดการขยะสู่พลังงานและสร้างรายได้เพื่อความยั่งยืนของชุมชน โดยมีการขับเคลื่อนเชิงปฏิบัติจริงในพื้นที่จังหวัดสระบุรี และเป็นต้นแบบในการนำผลงานวิจัยด้านวิทยาศาสตร์  เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการขยะชุมชน โดยนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่และเพิ่มมูลค่าขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นต้นแบบในการจัดตั้ง ศูนย์นวัตกรรมเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อจัดการและแปรรูปวัสดุรีไซเคิลครบวงจร  ทั้ง Material Recovery Facility : MRF   เพื่อนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกว่า 1,000 ตันต่อปี พร้อมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,400 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี  และ  Smart Recycling Hub เพื่อสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าเก็บพลาสติกใช้แล้วกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ 50,000 ตันต่อปี รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของนวัตกรรมที่สำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โครงการพัฒนาระบบนิเวศเมืองนวัตกรรม  Net  Zero  Emission  สระบุรีแซนด์บ็อกซ์  (Saraburi  Sandbox)  ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงนวัตกรรมระดับชาติและนานาชาติ เพื่อพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของสระบุรี  และเป็นพื้นที่นำร่องขับเคลื่อนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์และขับเคลื่อนรายสาขา (Sector) อย่างเป็นรูปธรรมสำหรับประเทศไทยต่อไป

 

 

 

ที่มา: สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย