6 มาตรการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน
ประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 เมื่อมาตรการการอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นที่ยอมรับและถูกนำมาใช้มากขึ้นในระดับสากล เนื่องจากมีต้นทุนต่ำและเทคโนโลยีส่วนใหญ่มีเพียงพออยู่แล้ว
เพื่อบรรลุถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 ในปัจจุบันเป็นที่ยอมรับในทางสากลว่า การอนุรักษ์พลังงานและการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเป็นมาตรการที่สำคัญที่จะช่วยให้บรรลุถึงเป้าหมายระดับชาติ เนื่องจากโดยทั่วไป มาตรการชนิดนี้มักมีต้นทุนต่ำและเทคโนโลยีส่วนใหญ่มีเพียงพออยู่แล้ว และประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและอนุรักษ์พลังงานค่อนข้างสูง โดยมีแผนพลังงานหลักที่เกี่ยวข้อง คือ แผนพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (Alternative Energy Development Plan : AEDP) และแผนอนุรักษ์พลังงาน (Energy Efficiency Plan : EEP) โดยมีวัตุประสงค์เพื่อโน้มน้าวให้ภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคขนส่ง ภาคเกษตร ภาคบ้านอยู่อาศัย มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์พลังงานในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานในชีวิตประจำวัน
รายละเอียดของมาตรการส่งเสริมประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการอนุรักษ์พลังงานมี 6 มาตรการหลัก ดังนี้
1. เกณฑ์มาตรฐานและการติดฉลากแสดงประสิทธิภาพอุปกรณ์
ฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูง คือ ฉลากที่แสดงค่าประสิทธิภาพสำหรับผลิตภัณฑ์ โดยค่าประสิทธิภาพที่ปรากฏบนตัวฉลากเป็นค่าประสิทธิภาพที่ได้จาการทดสอบจริงตามมาตรฐานที่กำหนดของแต่ละผลิตภัณฑ์ โดยฉลากประสิทธิภาพสูงจะระบุชนิดและแสดงค่าประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดย ปัจจุบัน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้ออกฉลากประหยัดพลังงานประสิทธิภาพสูงสำหรับผลิตภัณฑ์จำนวน 19 ประเภท ดังนี้ เตาแก๊ส เตาแก๊สหัวฟู่ เตารังสีอินฟราเรด เครื่องทอดแบบน้ำมันท่วม เครื่องดูดควัน ฟิล์มติดกระจก สีทาผนัง กระจก ฉนวนใยแก้ว กระเบื้องหลังคา คอนกรีตมวลเบา ปั๊มความร้อน มอเตอร์เหนียวนำเฟสเดียว มอเตอร์เหนียวนำสามเฟส อุปกรณ์ปรับความเร็วรอบมอเตอร์ เครื่องอัดอากาศ เครื่องเชื่อมไฟฟ้า เครื่องยนต์ดีเซลการเกษตร และเครื่องยนต์เบนซินการเกษตร
2. มาตรการสนับสนุนทางด้านการเงิน (Financial Incentives)
เป็นมาตรการสนับสนุนด้านการเงินในการช่วยเหลือและอุดหนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจลงทุนเปลี่ยนอุปกรณ์และเกิดการบริหารจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการกระตุ้นตลาดเพื่อให้เกิดการแข่งขันด้านราคา โดยมีการดำเนินการผ่านองค์กรหรือหน่วยงานต่างๆทั้งภาครัฐและเอกชนที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการพัฒนาโครงการอนุรักษ์พลังงานแบบครบวงจร ซึ่งมาตรการสนับสนุนด้านการเงินนี้สามารถเข้ามาช่วยรับภาระความเสี่ยงการลงทุนและดำเนินการแทนเจ้าของกิจการ มาตรการนี้มีอีกชื่อที่เรียกว่า “บริษัทจัดการพลังงาน” หรือ Energy Service Company (ESCO) เป็นรูปแบบเงินช่วยเหลือในด้านการลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลงทุนในด้านการประหยัดพลังงาน เช่น เงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เงินทุนหมุนเวียน เป็นต้น ทั้งนี้ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) มีการดำเนินโครงการที่สนับสนุนเงินลงทุนให้กับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนไปใช้วัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพประหยัดพลังงานสูง เช่น โครงการ 80-20 โครงการ 70-30 เป็นต้น
3. การส่งเสริมนวัตกรรม (Smart Technology, IoT, Big Data, Al)
เป็นมาตรการส่งเสริมการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการอนุรักษ์พลังงานในทุกภาคส่วน โดยส่งเสริมการนำระบบการจัดการนวัตกรรมและการบูรณาการเทคโนโลยีและอุปกรณ์ทันสมัยต่างๆเพื่อให้เกิดประสิทธิผลด้านการอนุรักษ์พลังงาน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการบริการจัดการข้อมูลด้วยระบบ Big Data ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่จะจัดการฐานข้อมูลให้เป็นระบบ รวมไปถึงการพัฒนาระบบสารสนเทศมาวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถตอบสนองต่อการประหยัดพลังงานได้อย่างทันท่วงทีหากมีข้อมูลทุกระบบในมือ
4. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภาคขนส่ง (ระบบขนส่งทางบก ทางน้ำ ทางอากาศ และราง, และส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า)
การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งแบ่งเป็น 4 กลุ่มเป้าหมาย คือ การขนส่งทางถนน การขนส่งทางน้ำ การขนส่งทางอากาศ และการขนส่งทางราง โดยมีการกำหนดกลุ่มมาตรการออกเป็น 4 กรอบ คือ กรอบการดำเนินงานด้านโครงสร้างพื้นฐานซึ่งเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและกฎระเบียบการขนส่ง กรอบการดำเนินงานด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ กรอบการดำเนินงานด้านการพัฒนาบุคลากรด้านขนส่งและโลจิสติกส์ และกรอบการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการการขนส่ง โดยเฉพาะการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Shift Mode) ของการขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสาร ซึ่งในแต่ละกรอบจะมีการกำหนดมาตรการอนุรักษ์พลังงานและมาตรการที่เหมาะสมเพื่อการนำไปสู่การปฏิบัติที่เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีลักษณะ คือ ต้องเป็นโครงการที่เห็นผลได้เร็ว (Quick Win) มีผลประหยัดพลังงานที่สูง (High Impact) โดยมีการกำหนดรูปแบบมาตรการ วิธีการทำงาน หน่วยงานที่รับผิดชอบ และวิธีติดตามประเมินผลที่เหมาะสมสอดคล้องและเหมาะสมกับสถานการณ์และนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐ สอดคล้องกับแผนงานที่สำคัญต่าง ๆ ของประเทศเพื่อการพัฒนาให้ภาคขนส่งมีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดต่อไป โดยการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานในภาคขนส่งนี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.)ได้มีการประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับกระทรวงคมนาคมในการดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆเพื่อลดการใช้พลังงานในภาคขนส่งอย่างยั่งยืน
5. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภาคเกษตรกรรม (Smart Farming, Switch to Machinery)
เป็นการดำเนินมาตรการโดยให้สอดคล้องกับแนวนโยบาย Energy For All ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่ฐานราก โดยการมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคเกษตรกรและผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน โดยการสนับสนุนการใช้เครื่องจักรและวัสดุอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพประหยัดพลังงานร่วมกับการใช้พลังงานทดแทนอย่างเหมาะสม และการนำเทคโนโลยี Smart Farming เข้ามาเป็นตัวช่วยในการส่งเสริมผลผลิตในภาคเกษรกรรม
6. การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานภาคบ้านอยู่อาศัย (บ้านอนุรักษ์พลังงาน, Smart Home)
เป็นมาตรการที่มุ่งเน้นการให้ความรู้ความเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับแนวคิดการออกแบบและการเลือกใช้วัสดุในการสร้างบ้าน โดยเฉพาะผู้ที่กำลังตัดสินใจซื้อหรือสร้างบ้าน และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการด้านที่อยู่อาศัยหันมาให้ความสำคัญในเรื่องบ้านประหยัดพลังงานมากขึ้น นอกจากการดำเนินกิจกรรมดังกล่าวแล้ว ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ยังได้ทำการศึกษาแนวทางการส่งเสริมบ้านประหยัดพลังงาน โดยพบว่ามาตรการหนึ่งที่สำคัญและจำเป็น คือ การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับบ้านอยู่อาศัย ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีมาตรการที่เป็นมาตรฐานหลัก จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลทางวิชาการจากต่างประเทศซึ่งแตกต่างกับภูมิสภาวะของประเทศไทย เช่น อากาศ อุณหภูมิ ความชื้น หรือการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นต้น โดยเกณฑ์มาตรฐานการใช้พลังงานสำหรับบ้านพักอาศัยนี้ จะถูกใช้เป็นข้อมูลและเครื่องมือที่สำคัญในการส่งเสริมเรื่องบ้านประหยัดพลังงานต่อไปในอนาคต นอกจากนี้ ทางภาครัฐจะดำเนินการเผยแพร่ความรู้และสาธิตในเรื่องเกณฑ์การใช้พลังงานโดยการพัฒนาต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานสำหรับประชาชนซึ่งสามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้จริงและก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานอย่างชัดเจน
โดยต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานสามารถนำไปใช้ในลักษณะของพิมพ์เขียวและปรับแบบให้สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละภูมิภาคของประเทศได้อีกด้วย โดยมุ่งหวังให้ภาคประชาชนได้มีความรู้ความเข้าใจและเกิดความเชื่อมั่นว่าแนวคิดเรื่องบ้านประหยัดพลังงานเป็นสิ่งที่นำมาใช้ได้จริงและเกิดผลการประหยัดพลังงานที่เป็นรูปธรรมและยังเป็นบ้านที่อยู่สบาย ซึ่งทางกรมฯได้มีการจัดทำคู่มือและต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของกรมด้วย โดยต้นแบบบ้านประหยัดพลังงานมีชื่อโครงการว่า “แบบบ้านดีดี (DEDE) รักษ์พลังงาน” ซึ่งมีให้ประชาชนดาวน์โหลดฟรีถึง 12 แบบบ้าน สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้จริงและช่วยลดการใช้พลังงานภาคครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล
ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร