เปิดแผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย สู่สมาร์ทคอมมูนิตี้สมบูรณ์แบบ
เปิดแผนพัฒนา “โครงการปรับปรุงประสิทธิภาพในการใช้พื้นที่ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย)”เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านโลจิสติกส์ นำเทคโนโลยีดิจิทัลมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการพัฒนาท่าเรือคลองเตย
1. ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) มีพื้นที่ จำนวน 2,353 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 943ไร่ นอกเขตรั้วศุลกากร 1,410 ไร่ ซึ่งการท่าเรือฯ ได้มีการศึกษาแผนแม่บท เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ประโยชน์ที่ดิน ดังนี้:
- ใช้พื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 490 ไร่ ในการปรับรูปแบบการให้บริการที่ทันสมัย (Modern Port) ประกอบด้วยการสร้างท่าเทียบเรือและลานกองเก็บตู้สินค้าแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi-automated Port) รวมถึงการพัฒนาคลังสินค้าแนวสูง (Bangkok Distribution Center) ซึ่งจะช่วยลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศไทยต่อ GDP ลง ร้อยละ 0.77 แต่ยังคงสามารถรักษาระดับการให้บริการคงเดิมที่ประมาณ 1.4 ล้าน TEU ต่อปี
- แก้ปัญหาการจราจร ด้วยโครงการสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อทางด่วนพิเศษ S1 ให้รถบรรทุกสินค้าเข้าออกท่าเรือกรุงเทพโดยตรง
- ส่งเสริมการขนส่งสินค้าผ่านทางเรือชายฝั่งและทางรถไฟเพิ่มมากขึ้น (Shift mode) ซึ่งจะเชื่อมโยงระบบ Seamless Multimodal Transportation ระหว่าง รถ ราง เรือ เข้าด้วยกัน
- ส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางการให้บริการร่วมกับท่าเรือเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya Super Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และลดปัญหาการจราจรในเขตเมือง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านโลจิสติกส์ร่วมกับภาคเอกชน
- การนำเทคโนโลยี Digital มาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Decarbonization) การเปลี่ยนเครื่องมือทุ่นแรง/เครื่องจักรกลที่ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานสะอาดทดแทน เพื่อให้เป็น Smart Port & Green Port
2. สำหรับพื้นที่ในเขตรั้วที่เหลืออีก 453 ไร่ รวมถึงพื้นที่นอกเขตรั้วอีก 828 ไร่ จะมีพื้นที่ประมาณ 1,281 ไร่ การท่าเรือฯ จะพัฒนาเพื่อใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ หรือประโยชน์ในเชิงสาธารณะด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นเมืองท่าที่ทันสมัย (New City Port) โดยการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษกรุงเทพมหานคร (Bangkok Special Economic Zone) เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากทั่วทุกมุมโลกในการร่วมกันพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าว โดยการบูรณาการด้านโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว และการให้บริการแบบครบวงจรในพื้นที่เดียวกัน ได้แก่
- โครงการ Mixed-Use Building Complex จัดสรรพื้นที่สำนักงาน(Office Areas) , พื้นที่อยู่อาศัย (Residential Areas) ศูนย์การค้า (Commercial Areas) และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ (Recreation Areas) อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
- โครงการท่าเรือ Cruise Terminal เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เสริมสร้าง Modern Tourism Business และสนับสนุนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
- โครงการ Commercial Areas สร้างผู้ประกอบการ ส่งเสริม Start up
- จัดตั้งเขตการค้าปลอดภาษี Duty Free/ Free Zone เพื่อส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ
- Exhibition center หอประชุม/ศูนย์แสดงสินค้าที่ทันสมัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ถูกออกแบบทางด้านสถาปัตยกรรมจากนักออกแบบทั่วโลกในการรังสรรค์อัตลักษณ์ความเป็นไทยที่โดดเด่นเป็นที่จดจำในระดับโลก
- Wellness Center ศูนย์สุขภาพใจกลางเมืองที่ทันสมัยและครบวงจร
- จัดพื้นที่บางส่วนสำหรับเป็นพื้นที่พักอาศัยเพื่อชุมชนในแนวสูง (Smart Community) และศูนย์ฝึกอาชีพ เพื่อช่วยเหลือชาวชุมชนคลองเตย ซึ่งเป็นตลาดแรงงานสำคัญของเมืองหลวงเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิต สร้างงาน สร้างรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาชุมชนแออัด ส่งเสริมสนับสนุนกลุ่มเปราะบางตามนโยบายของรัฐบาล
3. รูปแบบในการบริหารจัดการพื้นที่เพื่อให้สามารถนำนโยบายรัฐบาลไปปฏิบัติได้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมนั้น สามารถดำเนินโครงการในลักษณะการจัดตั้งบริษัทเพื่อดูแลการลงทุนระหว่างประเทศ International Holding Company (Case study: PSA สิงคโปร์) โดยนำที่ดินของการท่าเรือฯ เป็นหลักทรัพย์ตั้งต้นในการจัดตั้งบริษัท มุ่งเน้นการใช้สินทรัพย์ของการท่าเรือฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ สามารถเชิญชวนนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศร่วมลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในรูปแบบ PPP ระยะยาว รวมถึงการพิจารณาจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานท่าเรือ (Port Infrastructure fund) เพื่อเพิ่มทางเลือกในการระดมทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการนำรูปแบบความสำเร็จจากเมืองท่าเศรษฐกิจชั้นนำของโลก เช่น Barcelona Spain , Busan South Korea, Sydney Australia และ Yokohama Japan มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาโครงการฯ ให้ประสบความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม