รอบโลก EV : รู้จัก! ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ฉบับแรกของไทย (2567)
1 มกราคม 2567 เป็นวันเริ่มต้นมีผลบังคับใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับแรกในไทย หลังปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยทำสถิติเติบโตสูงจากปี 2565 ถึง 4 เท่าตัว มีรายละเอียดอะไรในประกันภัย EV ที่คุณต้องรู้ก่อนตัดสินใจ
ปี 2566 ที่ผ่านมา ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในไทยทำสถิติเติบโตสูงจากปี 2565 ถึง 4 เท่าตัว อีกทั้งยังมีแนวโน้มขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่อง เมื่อรัฐบาลคลอดมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 (EV 3.5) โดยให้เงินอุดหนุนสูงสุด 1 แสนบาท แก่ผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ระหว่างปี 2567-2570 ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการส่งเสริมเป้าหมายเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ของประเทศไทยภายใน 2-4 ทศวรรษข้างหน้า
ขณะเดียวกัน 1 มกราคม 2567 ยังเป็นวันเริ่มต้นมีผลบังคับใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับแรกในไทย (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งนายทะเบียน ฉบับที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกัน ของกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งน่าจะช่วยให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตความคุ้มครองและโครงสร้างราคาเบี้ยประกัน อันเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากแบตเตอรี่ ค่าซ่อม และรถหายจากการถูกแฮ็กระบบปฏิบัติการ ฯลฯ ทั้งนี้ ได้ให้เวลาบริษัทประกันดำเนินการออกกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าตามเกณฑ์ใหม่นี้ ภายใน 31 พฤษภาคม 2567
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ฉบับนี้ เกิดจากความร่วมมือของบริษัทประกันภัยกับหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างมาตรฐานเฉพาะสำหรับการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการใช้เป็นรถส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างจากกรมธรรม์ปัจจุบันที่นำกรมธรรม์ประกันรถยนต์ทั่วไปมาใช้ ทำให้ขอบเขตความคุ้มครองและพื้นฐานการคำนวณเบี้ยประกัน มีความชัดเจน สมเหตุผล และสะท้อนความเสี่ยงได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ยังคำนึงถึงความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ซึ่งคงมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทประกันที่มีความพร้อมในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และขยายโอกาสในการมีทางเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของผู้บริโภคที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้า
สาระสำคัญของเกณฑ์ประกันรถไฟฟ้าฉบับใหม่ที่เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ (Battery Electric Vehicle : BEV) รวมถึงผู้สนใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าต้องพิจารณาให้ดี จะประกอบไปด้วย 4 ส่วนหลัก ดังนี้
1. การระบุผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้า
ในอดีตการซื้อประกันชั้น 1 รถยนต์ EV จะสามารถเลือกกำหนดผู้ขับขี่ได้สูงสุด 2 คน ซึ่งทางผู้เอาประกันเองก็สามารถเลือกไม่ระบุผู้ขับขี่ได้เช่นกัน อย่างไรก็ดี เกณฑ์ประกันรถไฟฟ้าใหม่ได้มีการกำหนดให้ ‘ต้องระบุชื่อผู้ขับขี่’ โดยสามารถเลือกระบุได้สูงสุด 5 รายชื่อ
โดยหากผู้เอาประกันนำรถยนต์ไฟฟ้าไปให้ผู้ที่ไม่ได้อยู่ในรายชื่อในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า ผู้เอาประกันอาจต้องเสีย ‘ค่าเสียหายส่วนแรก’ ในกรณีที่พิสูจน์ว่าเป็นฝ่ายผิด แต่ยังได้รับความคุ้มครองตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์อยู่ แต่หากเป็นฝ่ายถูกจะไม่ต้องเสียค่าเสียหายส่วนแรก แม้จะไม่ได้ระบุเป็นชื่อผู้ขับขี่ในกรมธรรม์ก็ตาม
นอกจากนี้ หากต้องการต่อประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปีที่ 2 ทางบริษัทประกันจะทำการตรวจสอบระดับพฤติกรรมการขับขี่ส่วนบุคคลของผู้ขับขี่ที่มีชื่ออยู่ในกรมธรรม์ทั้งหมดมาประเมินและพิจารณาค่าเบี้ยประกันในปีต่อ ๆ ไป
โดยหากยิ่งมีประวัติดี ร่วมกับมีพฤติกรรมในการขับขี่ที่อยู่ในเกณฑ์ดีด้วย ผู้เอาประกันก็มีโอกาสได้รับส่วนลดประกันรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยส่วนลดประวัติดีสูงสุดอยู่ที่ 40% และส่วนลดพฤติกรรมการขับขี่ดีจะอยู่ที่ 40%
2. ระบบเก็บข้อมูลและตรวจสอบพฤติกรรมผู้ขับขี่
นอกจากเงื่อนไขความคุ้มครองแล้ว เกณฑ์ใหม่ประกันรถยนต์ไฟฟ้ายังระบุถึงระบบเก็บข้อมูลพฤติกรรมผู้ขับขี่เพื่อนำมาคำนวณเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าด้วยเช่นกัน โดยระบบจะเก็บประวัติการขับขี่จากอุบัติเหตุที่เกี่ยวเนื่องกับรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น ซึ่งหากเป็นผู้ขับขี่รถยนต์น้ำมันที่มีการชน หรือ เกิดอุบัติเหตุกับรถยนต์ไฟฟ้า ก็จะมีการเก็บประวัติในส่วนนี้เป็นรายบุคคลด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ ระดับของพฤติกรรมการขับขี่ หรือ ประวัติการขับขี่นี้ ยังขึ้นอยู่กับการเกิดอุบัติเหตุด้วย หมายความว่า หากไม่เกิดอุบัติเหตุเลยก็จะทำให้ระดับพฤติกรรมการขับขี่สูงขึ้น และในทางตรงกันข้าม หากเกิดอุบัติเหตุเมื่อไหร่ ก็จะทำให้ระดับพฤติกรรมถอยกลับไปสู่ระดับเริ่มต้น ซึ่งระดับพฤติกรรมการขับขี่จะพิจารณาจากประวัติของผู้ขับขี่ทั้งหมดที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ ซึ่งจะส่งผลกับส่วนลดของประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปีต่อไป
จากกรณีนี้ หมายความว่า หากผู้ขับขี่คนใดคนหนึ่งที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์มีระดับพฤติกรรมไม่ดี เท่ากับว่า กรมธรรม์รถยนต์ไฟฟ้านี้ก็จะไม่ได้รับส่วนลดในปีถัดไป
นอกจากนี้ หากผู้ขับขี่ไม่ได้ระบุชื่อตัวเองเป็นผู้ขับขี่ในการทำประกันรถยนต์ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ระดับพฤติกรรมการขับขี่กลับไปอยู่ที่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง เท่ากับว่า หากกลับมาระบุชื่อตัวเองมาอยู่ในกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าอีกรอบ ไม่ว่าจะทำบริษัทประกันภัยเดิมหรือบริษัทประกันภัยใหม่ ก็จะทำให้ไม่ได้รับส่วนลดค่าเบี้ยประกัน เนื่องจากระดับพฤติกรรมการขับขี่ได้กลับไปจุดเริ่มต้นอีกครั้ง
3. ความคุ้มครองแบตเตอรี่
เกณฑ์ใหม่ประกันรถ EV ได้มีการระบุให้เพิ่มความคุ้มครองแบตเตอรี่โดยคำนวณค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งาน โดยในปีแรกจะคุ้มครอง 100% ซึ่งจะกำหนดให้บริษัทประกันคิดค่าเสื่อมของแบตเตอรี่ตามอายุการใช้งานร่วมด้วยเมื่อมีการพิจารณาให้ความคุ้มครอง รวมถึงการชดใช้สินไหม โดยอัตราการชดเชยค่าสินไหมจะเป็นไปตามรายละเอียด ดังนี้
*กรรมสิทธิ์ของซากแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นของผู้เอาประกันภัยและบริษัทตามสัดส่วนเดียวกับอัตราการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแบตเตอรี่
**กรณีที่มีการตกลงให้มีการจำหน่ายแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าที่ถูกเปลี่ยนให้บริษัทดำเนินการจำหน่ายและจัดสรรจำนวนเงินที่ได้จากการจำหน่ายดังกล่าวให้แก่ผู้เอาประกันภัยตามสัดส่วนข้างต้น
4. คุ้มครองเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคลแบบติดผนัง (Wall Charger)
เกณฑ์ใหม่ประกันรถ EV นี้ ผู้เอาประกันยังสามารถเลือกซื้อความคุ้มครองเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มเติมได้ ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุกับเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและขณะกำลังชาร์จ โดยเบี้ยประกันจะคิดเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 0.035% – 3.5% ของมูลค่าเครื่องชาร์จ หรือเป็นไปตามที่บริษัทกำหนด
อย่างไรก็ดี ความคุ้มครองสำหรับอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและความคุ้มครองในกรณีอื่น ๆ จะเป็นไปตามประกาศของสำนักงานคปภ. หรือ เงื่อนไขของบริษัทประกันภัยแต่ละแห่ง โดยผู้เอาประกันสามารถติดต่อสอบถามไปยังบริษัทประกันภัยที่สนใจ เพื่อรับทราบความคุ้มครองของอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าอื่น ๆ ได้เช่นกัน
กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ ยังช่วยเพิ่มความชัดเจนให้การทำประกันมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการคิดเบี้ยประกัน และขอบเขตความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองแบตเตอรี่ อันเป็นชิ้นส่วนหลักที่มีราคาสูงถึง 70-80% ของมูลค่ารถยนต์ไฟฟ้า
ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าและลดข้อพิพาทลงได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเติบโตและยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ค่าซ่อมและค่าอะไหล่ทดแทนเมื่อเกิดความเสียหายต่อตัวรถยังสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปโดยเฉลี่ย 20-30% ดังนั้น แม้แนวโน้มราคาเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 คงทยอยปรับตัวลดลงได้แต่อาจยังสูงกว่าเบี้ยประกันรถยนต์ทั่วไปในช่วงราคาเดียวกัน
นอกจากนี้ ฐานข้อมูลสถิติการรับประกันภัยรถที่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้ขับขี่ต่อความเสี่ยงในการรับประกันภัยรถอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากสามารถสร้างระบบฐานข้อมูลกลางที่เก็บประวัติการขับขี่ของบุคคลได้ จะช่วยให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีสถิติที่ใช้อ้างอิงได้ดีขึ้น และส่งผลให้โครงสร้างราคาเบี้ยประกันมีความเหมาะสมมากขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่อผู้ขับขี่ที่มีประวัติดีในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการจัดทำฐานข้อมูลกลางที่เก็บประวัติการขับขี่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งยังต้องรอการผลักดันเชิงระบบในลักษณะเดียวกับการจัดทำเครดิตบูโรที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินรายหลักที่เป็นสมาชิกทั้งระบบ ดังนั้น ในช่วงแรกจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันด้วยกัน ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ และไม่สนับสนุนการแข่งขันหรือการเปลี่ยนบริษัทประกันเพื่อหลบเลี่ยงเบี้ยส่วนเพิ่มจากประวัติการเคลมประกัน
ขอบคุณข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch)
และ https://easysunday.com/blog/update-ev-insurance-policy/