posttoday

“มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน” หรือ EU CBAM ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไร?

22 มิถุนายน 2567

การบังคับใช้ CBAM อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศที่มีการผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อาจมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต และทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาสูงขึ้น หรือผู้บริโภคใน EU จะหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในเครือ EU มากขึ้น

การใช้ CBAM เป็นการสร้างแรงกดดันให้กับประเทศที่มีการผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงให้มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


 

ปัจจุบันมาตรการ CBAM มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2023 โดยยังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ก่อนทำการเรียกเก็บค่า Certification of CBAM จากผู้ประกอบการผลิตสินค้าที่มีการปลดปล่อยคาร์บอนสูงในปี 2026 เป็นต้นไป โดยผู้นำเข้าจะต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Embedded Emission) ต่อหน่วยงานประสานงานกลางของ CBAM (Authorized Declarant) รายไตรมาส ซึ่งข้อมูลปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอนจะถูกรับรองความถูกต้องโดยผู้ทวนสอบ (Accredited Verifier) โดยผู้นำเข้าจะต้องซื้อ CBAM Certificate ที่เกินค่า Benchmark ของ EU ภายใน 31 พฤษภาคมของทุกปี (1 CBAM Certificate  = 1 ton CO2e)

 

“มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน” หรือ EU CBAM  ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไร?


มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดนของสหภาพยุโรป CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) เป็นมาตรการที่ทางสหภาพยุโรป หรือ EU ใช้เพื่อสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกยุโรป ผ่านทางมาตรการที่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (Carbon Intensive Products) ซึ่งเป็นเรื่องที่กำลังเป็นที่สนใจในวงการการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศที่มีการผลิตและส่งออกสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ส่วนใหญ่แล้วนั้นเป็นประเทศที่มีอุตสาหกรรมหนักๆ เช่น อุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและอุตสาหกรรมเครื่องจักร 

โดยครอบคลุมสินค้าหลัก  6 รายการแรก คือ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย ไฮโดรเจน เหล็ก/เหล็กกล้า และอลูมิเนียม และในอนาคตมีการคาดการณ์ว่าจะกำหนดรวมสินค้าประเภทเคมีภัณฑ์และพอลิเมอร์ภายในปี 2026-2027 และในปี 2030 คาดการณ์ว่าจะครอบคลุมทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์

 

“มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน” หรือ EU CBAM  ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไร?

 

ผลกระทบจากการบังคับใช้ CBAM อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการค้าของประเทศที่มีการผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น อาจมีการเพิ่มค่าใช้จ่ายในกระบวนการผลิต และทำให้สินค้าดังกล่าวมีราคาสูงขึ้นในตลาดโลกอันเนื่องมาจากผู้นำเข้าสินค้ามีต้นทุนในการซื้อใบรับรองเพิ่มขึ้น หรือแม้แต่ผู้บริโภคภายในสหภาพยุโรปจะหันมาใช้สินค้าที่ผลิตในเครือ EU มากขึ้น อย่างไรก็ตาม การใช้ CBAM เป็นการสร้างแรงกดดันให้กับประเทศที่มีการผลิตสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงให้มีการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต และส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

 

หลายประเทศในภูมิภาคเอเชียก็เริ่มให้ความสนใจใน CBAM และเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับมาตรการนี้ โดยเฉพาะในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต ซึ่งโดยส่วนใหญ่เป็นประเทศที่มีการผลิตและส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลายประเภท เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมมาตรการ CBAM โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเปลี่ยนผ่าน (ปี 2566 – 2568) กลุ่มอุตสาหกรรมที่อยู่ในเกณฑ์ควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลด้านการปลดปล่อยคาร์บอนจากกระบวนการผลิต เพื่อให้มีความพร้อมสำหรับแสดงต่อผู้ซื้อ (สหภาพยุโรป) เช่น การวางแผนลดการปลดปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ หรือ การส่งเสริมให้มีการลงทุนในเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในการผลิต ซึ่งสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มความเป็นไปได้ในการแข่งขันในตลาดโลก หรือการใช้วัสดุทดแทนที่มีร่วมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

 

ทั้งนี้ บริษัทที่มีการส่งออกสินค้าไปสหภาพยุโรป ควรจะเริ่มศึกษาวิธีการคำนวณคาร์บอนที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการถูกทวนสอบและจัดทำรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิต เช่น การเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต ซึ่งนอกจากจะมีส่วนช่วยลดต้นทุนในระยะยาวแล้ว ยังเป็นการเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสีเขียว (Green Finance) อีกด้วย

 

 

 

“มาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน” หรือ EU CBAM  ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไร?

 

 

 

 

 

 

 

ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล

ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร