posttoday

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากแกลบ และวิถีแห่งความยั่งยืนฉบับ “อายิโนะโมะโต๊ะ“

30 มิถุนายน 2567

รู้จักโครงการด้านสิ่งแวดล้อม “กลยุทธ์“ และการจัดการความท้าทายด้านพลังงานในอุตสาหกรรมการผลิตมูลค่าหลายหมื่นล้านของ “อายิโนะโมะโต๊ะ“ ในประเทศไทย

โรงงานผลิตผงชูรส “อายิโนะโมะโต๊ะ“ งบลงทุน 6,000 ล้านบาทที่อยุธยา มีกำลังการผลิตคิดเป็น สัดส่วน 38% จากการผลิตรวม 1.8 แสนตันต่อปีในโรงงานทั้ง 3 แห่งของอายิโนะโมะโต๊ะในประเทศไทย โดย 96% ของโรงงานอยุธยาเป็นการผลิตผงชูรสที่ตอบสนองผู้บริโภคหรือเน้นขายปลีกเป็นหลัก

 

โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ อยุธยาฯ ผลิตผงชูรสตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุด แน่นอนว่าต้องมีการใช้พลังงานและเกิดของเสีย (waste) จำนวนมหาศาล แต่ด้วยพันธกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่มีเป้าหมายอย่างชัดเจน ทำให้อายิโนะโมะโต๊ะมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมหลายโครงการด้วยกันและยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง

 

พลังงานร่วมชีวมวลจากแกลบ

ทุกโรงงานของอายิโนะโมะโต๊ะทั่วประเทศคิดค้นและพัฒนากระบวนการจัดการวัสดุเหลือใช้จากกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น โรงงานกำแพงเพชร ที่ได้พัฒนาใช้เทคโนโลยี “หม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวล” โดยนำแกลบมาใช้เป็นเชื้อเพลิงเพื่อผลิตพลังงานไอน้ำทดแทนการใช้น้ำมันเตา เป็นการลดการใช้ปริมาณเชื้อเพลิงปิโตรเลียมที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของสภาวะโลกร้อนได้อีกด้วย 

นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับของเหลือทิ้งจากภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เพิ่มสู่ท้องถิ่นอีกทางหนึ่ง

 

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากแกลบ และวิถีแห่งความยั่งยืนฉบับ “อายิโนะโมะโต๊ะ“

 

และที่โรงงานอยุธยา ซึ่งเป็นโรงงานผลิตผงชูรสอายิโนะโมะโต๊ะแห่งที่ 3 ก็ได้ใช้เทคโนโลยีหม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวล โดยใช้แกลบเพื่อผลิตพลังงานไอน้ำทดแทนการใช้น้ำมันปิโตรเลียมเช่นกัน นับเป็นโรงงานแห่งที่ 2 ของบริษัทถัดจากโรงงานกำแพงเพชร ที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเทคโนโลยีนี้
 

หลังจากที่โรงงานกำแพงเพชรและโรงงานอยุธยาดำเนินโครงการหม้อต้มไอน้ำพลังงานชีวมวล พบว่าช่วยลดการใช้น้ำมันเตาได้กว่า 60 ล้านลิตร และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 1.7 แสนตันต่อปี

 

เช่นเดียวกับที่กำแพงเพชร การผลิตพลังงานชีวมวลจากแกลบที่โรงงานอยุธยา บริหารจัดการด้วยระบบปิด ไม่มีฝุ่นควัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ฯ โครงการดังกล่าว ใช้ “แกลบ 100%” หรือราว 8 หมื่นตันต่อปี จึงลดการใช้น้ำมันเตา 14 ล้านลิตรต่อปี ที่สำคัญลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกได้ถึง 6 หมื่นตันของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี

 

ส่วนขี้เถ้าแกลบที่เป็นของเหลือจากโรงไฟฟ้าพลังงานร่วมจากชีวมวล (Biomass Cogeneration) นำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์บำรุงดินต่อไป

 

กระบวนการหมักจากวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ

มากกว่านั้น โรงงานผลิตผงชูรส ”อายิโนะโมะโต๊ะ“ ยังใช้วิธีกระบวนการหมักจากวัตถุดิบหลักจากธรรมชาติ โดยในขั้นตอนการผลิต หลังจากที่ตกผลึกกรดกลูตามิกเป็นผลิตภัณฑ์ผงชูรสแล้ว จะยังมีน้ำหมักที่เหลือจากกระบวนการผลิต ซึ่งอุดมไปด้วยคุณค่าและสารอาหารที่จำเป็นจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุด จึงได้นำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ปุ๋ยน้ำ อามิ-อามิ®  ที่มีธาตุอาหารหลายชนิดที่จำเป็นสำหรับพืชในการเร่งความเจริญงอกงาม และความอุดมสมบูรณ์ ทั้งยังสามารถใช้สร้างแพลงก์ตอนในการเพาะเลี้ยงกุ้งและปลาหรือที่เราเรียกกันว่า ผลิตภัณฑ์ร่วม (Byproduct) ส่งคืนสู่ภาคเกษตรกรรม โดยมีการจัดการภายใต้ บริษัท เอฟ ดี กรีน (ประเทศไทย) จำกัด ที่เป็นบริษัทต้นแบบธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อมในการจัดการ “ผลิตภัณฑ์ร่วม”  ในกลุ่มบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย

 

การส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าทั้งการนำแกลบมาใช้ในการผลิตพลังงานและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ร่วมมาเป็นปุ๋ยถือเป็นการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางของ “อายิโนะโมะโต๊ะสร้างคุณค่าร่วมกับสังคม (ASV)” อันเป็นปณิธานที่อายิโนะโมะโต๊ะยึดถือและปฏิบัติอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นถึงแก่นสำคัญในการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในฐานะบริษัทผู้ผลิตอาหารระดับโลกตัวจริง

 

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากแกลบ และวิถีแห่งความยั่งยืนฉบับ “อายิโนะโมะโต๊ะ“

 

Too Good To Waste

อายิโนะโมะโต๊ะ เริ่มทำโครงการ Too Good To Waste เพื่อลดขยะอาหาร เริ่มครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ด้วยเป้าหมายต้องการสร้างการรับรู้ในสังคม แนะนำการทำอาหารง่ายๆ ที่บ้าน จากทุกส่วนของวัตถุดิบที่มี ช่วยลดเศษอาหารที่บ้าน และช่วยซัพพอร์ตในเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจก ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม โดยได้โปรโมทโครงการนี้กับน้องๆ นักศึกษา เพื่อสร้างการรับรู้ด้วย

 

บริษัทฯ มีแผนดำเนินงานที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตในโรงงาน การจัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืน การต่อยอดสู่ภาคครัวเรือน และภาคเกษตรกรรม ภายใต้แนวคิด “Ajinomoto Biocycle” เพื่อมุ่งสู่องค์กรธุรกิจคาร์บอนต่ำ บรรลุเป้าหมายในการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมลง 50% ได้สำเร็จ ภายในปี ค.ศ.2030

 

โรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากแกลบ และวิถีแห่งความยั่งยืนฉบับ “อายิโนะโมะโต๊ะ“

 

แผนการดำเนินงานสู่เป้าหมายด้านความยั่งยืน ค.ศ.2030 ใน 5 แนวทางเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการดำเนินธุรกิจ

1. ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50% 

2. ดูแลรักษาแหล่งน้ำ 80% 

3. ลดขยะพลาสติกให้เป็นศูนย์ ด้วยการใช้พลาสติกรีไซเคิล 

4. ลดการสูญเสียอาหารและขยะอาหารจากกระบวนการผลิต 

5. จัดหาวัตถุดิบอย่างยั่งยืนทั้ง 100% 

 

หลายกิจกรรมมีความคืบหน้าและขยับใกล้เป้าหมายทุกขณะ เช่น การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำทำได้แล้ว 41% ถือว่าผ่านครึ่งทางแล้ว การใช้พลังงานสะอาด พลังงานทางเลือก ก็อยู่ระหว่างติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์(โซลาร์เซลล์)ที่โรงงาน โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของการผลิตพลังงานไฟฟ้าเป็นสำคัญด้วย เนื่องจากโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ อยุธยาฯ ผลิตผงชูรสตลอด 24 ชั่วโมง โดยไม่มีการหยุด

 

รุก Green Logistics ขับเคลื่อนสู่ธุรกิจคาร์บอนต่ำ 

“อายิโนะโมะโต๊ะ” ยังทุ่มงบฯ ถึง 40 ล้าน เพื่อพัฒนาการกระจายสินค้าแบบ Green Logistics ร่วมกับยูเซ็น โลจิสติกส์ และเน็กซ์ พอยท์ ด้วยการเปิดตัวรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า EV นำร่องโรงงานอยุธยา ปทุมธานี หนองแค-สระบุรี ตั้งเป้าลดคาร์บอน 1,600 ตันต่อปี ยึดหลักการ Green Logistics ใน 3 มิติ คือ ขนส่งเต็มประสิทธิภาพ / ไดเร็ก ชิปปิ้ง / ลดพลาสติกในการขนส่ง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ดูแลคนไทยให้ “อยู่ดี มีสุข” อย่างยั่งยืนตามพันธกิจหลัก