posttoday

“ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ” สำคัญอย่างไร ใน PDP 2024 แผนกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ

05 กรกฎาคม 2567

การรับรองความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดัชนีหนึ่งที่ใช้ในการประเมินความมั่นคงนี้คือ LOLE (Loss of Load Expectation) หรือดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ มีรายละเอียดอย่างไรในร่างแผนกำลังผลิตไฟฟ้าแห่งชาติ

ในยุคปัจจุบันที่พลังงานไฟฟ้าเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ การรับรองความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ดัชนีหนึ่งที่ใช้ในการประเมินความมั่นคงนี้คือ LOLE (Loss of Load Expectation) หรือดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ เป็นเกณฑ์ที่ใช้วัดระดับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในการวางแผนเชิงความน่าจะเป็น (Probabilistic Planning) ที่จะเกิดไฟฟ้าดับในแต่ละช่วงเวลาตลอด 1 ปี ซึ่งคำนวณเป็นจำนวนชั่วโมงต่อปีที่คาดว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเกินความสามารถในการจ่ายพลังงานของระบบไฟฟ้า โดยการรวบรวมข้อมูลสถิติการทำงานของโรงไฟฟ้าในอดีตเพื่อวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าในอนาคต

 

ทำไมถึงต้องใช้ดัชนี LOLE ในร่างแผนพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (Power Development Plan, PDP2024)?

ทางกระทรวงพลังงานให้เหตุผลที่ต้องนำดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ในร่างแผน PDP2024 โดยเนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์การผลิตไฟฟ้าและการใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งมีความหลากหลายของประเภทโรงไฟฟ้าในระบบไฟฟ้า และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนสูงขึ้น ดัชนี LOLE จะคำนึงถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้า รวมทั้งลักษณะของความต้องการใช้ไฟฟ้า (Load Profile) และพิจารณาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าตลอดทุกช่วงเวลา การใช้เกณฑ์ LOLE จึงมีความเหมาะสมกว่าการใช้เกณฑ์ Reserve Margin (จากแผนเก่า PDP2018) ที่พิจารณาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไม่ครอบคลุมในทุกช่วงเวลา และไม่พิจารณาถึงความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นในการผลิตไฟฟ้าของแต่ละโรงไฟฟ้า

 

Figure: ดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ (LOLE) ในร่างแผน PDP2024, กระทรวงพลังงาน

 

ทางสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาเกณฑ์ที่เหมาะสมดังกล่าวและนำมาใช้ร่างแผนพลังงานไฟฟ้าแห่งชาติ (Power Development Plan, PDP2024) ในภาพรวมของประเทศพบว่า ควรใช้เกณฑ์ไม่เกิน 0.7 วัน/ปี โดยตัวแปรที่มีผลต่อ LOLE ได้แก่ ความสามารถในการผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้า การบำรุงรักษาและการเสียหายของอุปกรณ์ ความต้องการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงตามฤดูกาลและเวลาของวัน การบริหารจัดการพลังงานสำรอง และรวมถึงความน่าจะเป็นของโรงไฟฟ้าขัดข้อง (Capacity Outage Probability: COP) ระบบที่มีความมั่นคงสูงจะมีค่า LOLE ต่ำ เนื่องจากมีการจัดการและบริหารจัดการทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและแสดงถึงความมั่นคงและความสามารถของระบบในการรองรับความต้องการโหลดไฟฟ้า

 

ความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้าไม่เพียงแต่มีผลต่อความสามารถในการรองรับความต้องการในปัจจุบัน แต่ยังมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

การมีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและมีประสิทธิภาพจะช่วยให้การดำเนินธุรกิจและกิจกรรมต่างๆ สามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและต่อเนื่อง เพราะความเสียหายจากไฟฟ้าดับหรือระบบไฟฟ้าที่ไม่มีเสถียรภาพนั้นกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนและเศรษฐกิจมากกว่าค่าไฟฟ้าที่แพง การให้ความสำคัญกับการลดค่า LOLE จะช่วยให้ประเทศไทยมีระบบไฟฟ้าที่มั่นคงและพร้อมรองรับความต้องการในทุกสภาวะ

 

 

 

ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร