posttoday

พลังงานโซลาร์มาแรง ตอบรับแผน PDP 67 แบรนด์รุกนวัตกรรมล้ำๆ

05 กรกฎาคม 2567

ความต้องการโซลาร์ภาคครัวเรือนไทยโตถึงสองเท่า “ทรินาโซลาร์” แบรนด์เซลล์แสงอาทิตย์ลุยขยายตลาดในไทย สอดรับแผน PDP 67 เผยไทยเป็นตลาดใหญ่ในอาเซียน

ข้อมูลตามแผนพัฒนาพลังไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) คาดการณ์ว่า การใช้พลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นถึง 51% ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจาก 20% ในปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าพลังงานแสงอาทิตย์จะมีสัดส่วนประมาณ 70% ของพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด 

 

ในขณะที่ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย (Power Development Plan-PDP) หรือ "แผนพีดีพี" อาจส่งผลต่อการกำหนดค่าไฟฟ้าในอนาคตและสัดส่วนความต้องการใช้ไฟฟ้าของคนไทยที่เปลี่ยนไป

 

แผน PDP ระบุถึงมาตรการตอบสนองด้านโหลด (Demand Response) ซึ่งมีความสำคัญและกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ไฟฟ้าตามราคาที่แตกต่างกันตลอดทั้งวัน โดยมีเป้าหมายเพื่อการเพิ่มศักยภาพในการลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุด (Peak Demand) 

 

แผนโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะหรือสมาร์ตกริดของประเทศได้ตั้งเป้าลดความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดลง 1,000 เมกะวัตต์ และเพิ่มอีก 1,000 เมกะวัตต์ ผ่านการใช้แหล่งพลังงานแบบกระจายศูนย์ (DER) ซึ่งรวมถึงระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กและระบบกักเก็บพลังงาน (BESS) ซึ่งจะถูกรวมเข้ากับระบบไมโครกริดหรือโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กเพื่อให้ได้แหล่งพลังงานที่มั่นคง 

 

“แผนการที่ยิ่งใหญ่นี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนของประเทศไทยภายในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี พ.ศ. 2608”

 

ในขณะเดียวกัน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก็กำลังเร่งบุกเบิกการผลิตพลังงานสะอาดด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าพลังน้ำจากเขื่อน โดยมีแผนที่จะพัฒนาโครงการสำคัญอย่างโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดทั้งสิ้น 16 โครงการ มีกำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ (MW) ปัจจุบันโครงการนำร่องที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ได้เริ่มดำเนินการแล้วด้วยกำลังการผลิต 45 เมกะวัตต์และ 24  เมกะวัตต์ ตามลำดับ 

 

จากการขยายตัวด้านการใช้งานพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ล่าสุด “ทรินาโซลาร์” ผู้นำระดับโลกด้านผลิตภัณฑ์โฟโตวอลเทอิก (PV หรือโซลาร์เซลล์) และระบบกักเก็บพลังงาน ก็ได้ประกาศแผนกลยุทธ์เพื่อรุกตลาดพลังงานหมุนเวียนในไทย

 

เดฟ หวัง หัวหน้าอนุภูมิภาคประจำเอเชียแปซิฟิกของทรินาโซลาร์ ให้ความเห็นว่า “ช่วงนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการเดินหน้าตามนโยบายของรัฐบาลไทยที่มุ่งสู่พลังงานสะอาด เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่รวดเร็วจากบริษัทชั้นนำอย่างทรินาโซลาร์ ได้ช่วยลดต้นทุนพลังงานแสงอาทิตย์อย่างมากตลอดทศวรรษที่ผ่านมา ในฐานะผู้ให้บริการโซลูชันครบวงจรเพียงหนึ่งเดียวในอุตสาหกรรม ทั้งแผงโซลาร์เซลล์ ชุดปรับมุมเอียงตามแสงอาทิตย์ และระบบกักเก็บพลังงาน ทำให้ทรินาโซลาร์ มีความพร้อมที่จะช่วยสนับสนุนประเทศไทยในการปลดล็อกศักยภาพและบรรลุเป้าหมายสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์” 

 

เดฟ หวัง ยังกล่าวด้วยว่า ทรินาโซลาร์ จะให้ความสำคัญกับโซลูชันพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำและระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อสนับสนุนโครงการของรัฐบาลไทยในการผลักดันการใช้พลังงานทดแทนในกิจการพลังงานไฟฟ้า 

 

ฟาร์มพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำกำลังได้รับความนิยมทั่วโลก 

เพราะใช้พื้นที่ว่างที่มีอยู่มากมายและอาศัยคุณสมบัติความเย็นตามธรรมชาติของน้ำ โดยในประเทศไทยนั้น ทรินาโซลาร์ ได้ดำเนินการติดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบลอยน้ำขนาด 24 เมกะวัตต์ ที่เขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ซึ่งได้เริ่มใช้งานมาตั้งแต่เดือนมีนาคม พ.ศ. 2567 โครงการนี้คาดว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 41,000 ตัน และผลิตไฟฟ้าได้ 46 ล้านกิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อปี รองรับการใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 18,000 ครัวเรือน ทั้งนี้แผงโซลาร์ตระกูล Vertex ของบริษัท ยังใช้ในโซลาร์ฟาร์มสำคัญๆ หลายแห่งทั้งในประเทศอินเดีย มาเลเซีย เวียดนาม และสิงคโปร์ 

 

บริษัท ทรินาโซลาร์ (Trina Solar Limited) หนึ่งในผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์และโมดูลพลังงานแสงอาทิตย์รายใหญ่ของโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองฉางโจว ประเทศจีน ก่อตั้งขึ้นในปี 1997 ทรินาโซลาร์มีชื่อเสียงในด้านการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งยังเป็นผู้บุกเบิกในการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ที่มีประสิทธิภาพสูง

 

พลังงานโซลาร์มาแรง  ตอบรับแผน PDP 67 แบรนด์รุกนวัตกรรมล้ำๆ

 

เปรียบเทียบราคาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในประเทศไทย

 

บริษัท Solar D

- ราคาเฉลี่ย: ประมาณ 50,000 - 70,000 บาทต่อกิโลวัตต์

- ข้อดี: มีประสบการณ์ยาวนานและเป็นที่รู้จักในตลาด มีบริการหลังการขายที่ดี

- ข้อเสีย: ราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับบริษัทใหม่ๆ

 

บริษัท Energy Absolute (EA)

- ราคาเฉลี่ย: ประมาณ 45,000 - 65,000 บาทต่อกิโลวัตต์

- ข้อดี: ใช้แผงโซลาร์เซลล์คุณภาพสูงและมีโครงการใหญ่หลายโครงการ

- ข้อเสีย: การบริการหลังการขายอาจไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่

 

บริษัท SPCG

- ราคาเฉลี่ย: ประมาณ 50,000 - 75,000 บาทต่อกิโลวัตต์

- ข้อดี: มีประสบการณ์ในการติดตั้งโครงการใหญ่และมีความน่าเชื่อถือ

- ข้อเสีย: ราคาสูงกว่าเมื่อเทียบกับบางบริษัท

 

บริษัท Solartron

- ราคาเฉลี่ย: ประมาณ 40,000 - 60,000 บาทต่อกิโลวัตต์

- ข้อดี: มีบริการครบวงจรตั้งแต่การออกแบบ การติดตั้ง ไปจนถึงบริการหลังการขาย

- ข้อเสีย: ประสิทธิภาพของแผงโซลาร์เซลล์อาจไม่สูงเท่ากับบริษัทที่มีชื่อเสียงมากกว่า

 

บริษัท Banpu NEXT

- ราคาเฉลี่ย: ประมาณ 45,000 - 65,000 บาทต่อกิโลวัตต์

- ข้อดี: มีการใช้เทคโนโลยีใหม่และมีโครงการต่างๆ ที่หลากหลาย

- ข้อเสีย: การบริการหลังการขายอาจมีข้อจำกัดในบางพื้นที่

 

การเลือกบริษัทติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

- ความน่าเชื่อถือและประสบการณ์: เลือกบริษัทที่มีประสบการณ์และมีผลงานที่ผ่านมาที่น่าเชื่อถือ

- บริการหลังการขาย: ตรวจสอบการบริการหลังการขาย เช่น การบำรุงรักษาและการรับประกัน

- คุณภาพของแผงโซลาร์เซลล์: เลือกแผงโซลาร์เซลล์ที่มีประสิทธิภาพสูงและมีการรับประกันที่ดี

- ราคาและสิทธิประโยชน์ทางการเงิน: เปรียบเทียบราคาและตรวจสอบสิทธิประโยชน์ทางการเงิน เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีหรือเงินช่วยเหลือจากรัฐบาล

 

การตัดสินใจเลือกบริษัทติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ควรพิจารณาทั้งในด้านราคา ประสิทธิภาพ คุณภาพของแผง บริการหลังการขาย และความน่าเชื่อถือของบริษัท เพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลงทุนในพลังงานสะอาด

 

ตามข้อมูลจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ราคาการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้านในประเทศไทยมีดังนี้:

 

- บ้านขนาดเล็กใช้แอร์ 1 ตัว ราคาติดตั้งประมาณ 70,000-100,000 บาท

- บ้านขนาดกลางใช้แอร์ 2-3 ตัว ราคาติดตั้งประมาณ 150,000-200,000 บาท 

- บ้านขนาดใหญ่ใช้แอร์ 4-5 ตัว ราคาติดตั้งประมาณ 300,000-500,000 บาท

 

ราคาจะขึ้นอยู่กับขนาดความต้องการใช้ไฟฟ้า โดยระบบที่ติดตั้งจะเป็นระบบออนกริด หรือระบบโซลาร์เซลล์แบบต่อตรงกับระบบสายส่งจากการไฟฟ้า

 

หากเป็นระบบไฮบริดที่มีแบตเตอรี่เพื่อกักเก็บพลังงาน จะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกว่า 100,000 บาท