กรมอุทยานเร่งรับฟังความเห็นประชาชน ปม #Saveทับลาน
อธิบดีกรมอุทยานฯ เร่งฟังความเห็น ปชช.ปมเฉือนที่ อช.ทับลาน 260,000 ไร่ให้ส.ป.ก. หวังแก้ปัญหาที่ทำกิน ยืนยันคนไม่มีคุณสมบัติหรือบุกรุกที่จะไม่ได้รับการยกเว้น เตรียมสรุปพร้อมรวบรวมความเห็น ภายใน 30 วัน
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้แจงกรณีการรับฟังความคิดเห็นประชาชน เพื่อดำเนินการแบ่งพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลานจังหวัดนครราชสีมา-ปราจีนบุรี จำนวน 260,000 ไร่ ไปให้ ส.ป.ก.ดูแลว่า ปัญหาพื้นที่พิพาทในเขตอุทยานแห่งชาติ (อช.) ทับลาน มีมานานกว่า 40 ปีแล้ว เนื่องจากพื้นที่ ดังกล่าวก่อนเป็นอุทยานแห่งชาติ เป็นป่าสงวนมาก่อน และได้มีการจัดพื้นที่ให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยได้เข้าไปทำกิน เนื้อที่ประมาณ 58,000 ไร่ แต่หลังจากนั้นได้มีการประกาศอุทยานแห่งชาติ ไปทับพื้นที่ในส่วนนี้ด้วย ซึ่งถือเป็นความบกพร่องของกรมป่าไม้ในอดีต จึงมีการเรียกร้องให้กันพื้นที่ออกจากอุทยาน และมีการสำรวจพื้นที่ใหม่อีกครั้งในปี 2543 แต่กระบวนการดังกล่าวไม่เสร็จสิ้น ซึ่งหลายรัฐบาลที่ผ่านมา พยายามแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้าน และมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ สคทช. และมีมติให้กันพื้นที่ชุมชนจำนวน 265,000 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ของ ส.ป.ก. และคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในวันที่ 14 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา แต่บุคคลใดที่ถูกดำเนินคดี ในพื้นที่ดังกล่าวจะไม่ได้รับการยกเว้น
ดังนั้น จากมติดังกล่าวทำให้กรมอุทยานฯ ต้องมาดำเนินการปรับปรุงแนวเขต แต่จะทำได้นั้น ต้องรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ทั้งจากในพื้นที่ และประชาชนทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ และจะสิ้นสุดในวันที่ 12 กรกฎาคม ก่อนจะรวบรวม เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป แต่สิ่งสำคัญ จะต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งการอยู่อาศัย การทำกิน และการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิม จากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่
ส่วนที่หลายคนมองมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เป็นการเอื้อนายทุนนั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจง ส.ป.ก. ต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่า ใครมีสิทธิ์ ในส่วนของกรมอุทยานเองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ส่วนประชาชนจะต้องได้รับการจัดสรรพื้นที่จำนวนเท่าใดและใครจะได้รับสิทธิบ้างนั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุว่า ต้องไปหารือในชั้นคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน และบางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขาย เปลี่ยนมือบางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ
ส่วนเสียงของประชาชนจะสามารถเปลี่ยนแปลงมติดังกล่าวได้หรือไม่นั้น อธิบดีกรมอุทยานฯ ยอมรับว่า เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณา และเป็นข้อเสนอของคณะกรรมการอุทยานฯ ซึ่งตอนนี้มีการรับฟังความเห็นทั้งชาวบ้านในพื้นที่ และในโลกออนไลน์ แต่ทุกอย่างต้องไปยุติที่คณะกรรมการอุทยานฯ เพื่อเสนอต่อ สคทช. หรือคณะรัฐมนตรี หากมีมติให้ดำเนินการตามแผนที่ปี 2543 กรมอุทยานก็ต้องมาดำเนินการรังวัด เพื่อปรับแผนที่ท้ายกฎหมายใหม่
ทั้งนี้ ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าไปแสดงความคิดเห็นได้ คลิกที่นี่
หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจของอุทยานแห่งชาติทับลาน