#saveทับลาน คำถามที่ยังไร้คำตอบ กับการ “เพิกถอน” พื้นที่ 265,286.58 ไร่?
เหตุผลที่คนอยาก #saveทับลาน กับ “สิทธิของชาวบ้าน” ที่คาราคาซังมานานในพื้นที่ทับซ้อนผืนป่า สุดท้ายใครจะได้ประโยชน์จากการ “ทับที่“ จะเสร็จ “นายทุน“ เหมือนที่อื่นๆ ในประเทศอีกไหม ยังคงน่าติดตาม ใคร save ใคร?
มี 3 กลุ่มหลักในเรื่องนี้
1.กลุ่มที่ต้องการ “สิทธิ” บนที่ดินที่ตั้งรกรากอยู่อาศัยมานาน ก่อนเป็นแนวเขตอุทยานฯในปี พ.ศ.2524
2.กลุ่มที่ต้องการปกป้องผืนป่า ที่เหลือน้อยลงไปทุกที จากมือ นายทุน ที่จะเข้าไปแทรกแซงเบียดบังด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย เหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวทุกที่ ที่มีรีสอร์ท โรงแรมเกิดขึ้นในประเทศไทย
3.กลุ่มที่ต้องการหา “ผลประโยชน์” / นิรโทษกรรมความผิดเรื่องบุกรุกพื้นที่ป่า จากส่วน “เพิกถอน” ไม่ว่าจะกี่ไร่ก็ตาม
คำถามคือ
1.มีความจำเป็นแค่ไหนที่ต้องเฉือนพื้นที่ 265,286.58 ไร่
2.เพิกถอนเฉพาะพื้นที่ตั้งของชาวบ้านจริงๆ ได้ไหม หรือ จำเป็นแค่ไหนที่ต้อง “เพิกถอน” จำนวนเท่านี้ มีคนเดือดร้อนมากน้อยแค่ไหนในความเป็นจริง
3.ใครได้รับประโยชน์จาก การเพิกถอนครั้งนี้บ้าง นอกจากชาวบ้านได้สิทธิ
มีสิ่งหนึ่งที่ผู้คน ที่จับตา ร่วมลงชื่อคัดค้าน ไปจนถึงเห็นด้วย และรู้สึกหลากหลายต่อเหตุผลในเรื่องนี้ บางความเห็นน่าสนใจ บางความเห็นน่าคิดตาม โพสต์ทูเดย์ไปรวบรวมมา ดังนี้
”เอ็นดูคนลงชื่อ #saveทับลาน พอรู้ความจริงก็ถอนชื่อไม่ทันแล้ว” ที่กลายเป็นประเด็นให้มีการมาตอบเป็นข้อๆ และมีความเห็นร้อนแรงด้วยเหตุผลตามมาอีกว่า
รู้อยู่แล้วว่า…
1.ชาวบ้านอยู่ก่อน คือ พวก"รุกป่าสงวน" ซึ่งก็ผิดเต็มอยู่แล้ว
2.ก่อนตั้งอุทยาน เค้าก็มีสำรวจไปแล้ว และให้ชาวบ้านเดิมไปแสดงตัวภายใน240วัน
3.พวกที่รุกป่าสงวน ถ้าอยู่มานานจริง (ชายขอบ)ต้องขอเป็นโฉนดได้แล้ว
4.หลังปีที่แล้ว วันแมพ เค้าก็มีสำรวจใหม่ คนที่เคยอยู่ดั่งเดิม ไม่ได้รุกป่า ก็อยู่ที่เดิม
เคยทำอะไรก็ทำแบบเดิม ห้ามเป็นที่สปก. ห้ามขยายพื้นที่ จบ(ไม่เดือดร้อน)
5.ที่ออกมากัน คือ พวกมีคดี ที่จะดีด 2แสนไร่ให้ เข้า สปก = ไม่ได้รุกป่า พวกตนจะได้พ้นผิด
และ มี ที่ดินที่สามารถเปลี่ยนมือได้(พูดง่ายๆ นิรโทษกรรมพวกตน)
และนานาความเห็นก็ตามมา…
“คนที่บอกว่าอยู่มาก่อนป่า ผิดนะป่าเกิดก่อนแล้วคนบุกรุกเข้าไป แค่ตอนนั้นยังไม่ประกาศแนวเขต ที่ดินมีมากมายที่จะทำการเกษตรรัฐจัดหาให้ได้จะไปมั้ย คนพวกนี้ก็จะบอกว่าไม่ไปอ้างว่าอยู่มานานแล้วมั่งละ เป็นที่บรรพบุรุษมั่งละ สุดท้ายก็ไม่ทำต่อหรอกขายให้นายทุนต่อ แล้วไปเป็นลูกจ้างเขากินเงินเดือนจากธุรกิจที่นายทุนมาลงทุนสบายกว่าทำการเกษตรเองที่ไม่ค่อยได้กำไร ดูจากกรณีม่อนแจ่มก็ชัดเจนแล้ว ไม่ต้องศึกษาเพิ่มหรอก“
”2 แสนไร่ มันสุดโต่งเกินไปค่ะ ใครกันแน่ที่จะได้ผลประโยชน์ ที่ดินชาวบ้าน ทำเกษตรจริงๆ มีเท่าไหร่ ชอบโพสนี้ อยากแชร์จัง มีที่ดินอยู่ทับลาน แต่เลือกที่จะ saveทับลานค่ะ กลัวโดนไล่ออกจากหมู่บ้าน“
”ต้องแยกประเด็นนะคะ ครม.ปี 66 จะแบ่งเขตให้กับประชาชนที่อาศัยและอยู่กินมาก่อน แต่ไม่ได้เกี่ยวนายทุนและรีสอร์ท ดังนั้นพื้นที่ 265000 ไร่ ก็ไม่ได้ระบุ แต่รัฐบาลยุคนี้ มันกะเหมาเข่งไง ผลประโยชน์นายทุนและนักการเมืองจะได้พร้อมกับขาวบ้าน“
”ไปตามดูเพจ อีจัน ใน YouTube เรื่องนี้มันยาว นายทุนระดับชาติ ทั้งนั้น สปก.โคราช ออกเอกสาร โดยมิชอบไป หลายแสนใร่ จนท.สปก.โดนจับไป 2 คนแล้ว แต่ที่ดินก็ยังไม่โดนเพิกถอน จนถึงทุกวันนี้ และเคสที่ตามๆมานี้ ก็คือ สปก.อีกเช่นเคย“
”อันนี้เชื่อ. 100% เลยครับว่าเป็นที่ทำกินของชาวบ้านมาก่อน. ปัญหาคือ ถ้าเปลี่ยนจากที่ของอุทยาน ให้เป็นที่ของ. สปก. เมื่อไหร่. จะมีการซื้อขายที่จากคนมีตังค์กับชาวบ้านแน่นอน. และนั่นแหล่ะ. คือจุดเริ่มต้นในการรุมยำป่าไม้ในพื้นที่นั้นๆให้ขยายวงกว้างออกไปอีกแน่นอนในอนาคต.....“
”2แสนไร่มันเป็นเมืองหมู่บ้านหมดหรืองัยที่อยู่อาศัยทับซ้อนมันมีแค่6หมื่นเองนะแต่จะมาอ้างประชาชน“
”ที่เป็นหมู่บ้านอยู่แล้ว เขาก็ไม่ได้ไล่ไปไหนไม่ใช่หรอ!? อยู่กันได้ ทำนาทำสวนได้ แค่ขายให้นายทุนไม่ได้ก็เท่านั้นเอง“
”พื้นที่ทับซ้อน สปก.เกือบ 6 หมื่นไร่ พื้นที่คนอยู่ก่อนมีประกาศอุทยานแห่งชาติ 5 หมื่นกว่าไร่ ที่เหลือเพิ่มจากเดิมมาไง ที่ว่าถึง“
”สองแสนกว่าคือส่วนที่จะเฉือน หมู่บ้านนึงอย่างมาากก็หลักร้อยไร่ ดูจาากแผนที่คือมีส่วนที่รุกล้ำหลายจังหวัด อีกอย่าง ยูเนสโกคงมีสิทธิ์ถอน มรดกโลก“
”ผมว่าพื้นที่ทับซ้อนจริงๆที่มีผลกระทบกับชาวบ้านจริงที่อยู่มาก่อน ไม่เกิน 50,000 ไร่ ที่เหลือตีเนียนจะออกเป็น สปก. แล้วรอขายนายทุน ออกเป็นโฉนดต่อไป“
”ที่คัดค้านคือมันจำนวน 200k กว่าไร่จริงมั้ยรึป่าว อยากให้ถี่ถ้วนกว่านี้ เราเข้าใจแบบนี้นะ ไม่ได้จะบีบชาวบ้านออก คือทำmapให้มันแฟร์ทั้งชาวบ้านและอุทยาน เพื่อกันนายทุนหาผลประโยชน์“
”มันจะเป็นเช่นนี้ในอนาคตไหม .....ให้โฉนดเมื่อใดพื้นที่เขียวๆหลังหมู่บ้าน ทุ่งกว้างขนาดใหญ่เหล่านั้นจะกลายเป็นของนายทุนส่วนหมู่บ้านก็ ออกโฉนด ขาย เปลี่ยนมือ สุดท้ายเป็นของนายทุน ผู้ที่มีเงิน ส่วนชาวบ้าน ผู้ที่มีที่อยู่อยู่แล้ว สุดท้ายจะไม่มีที่อยู่“
”หลายๆคนกลัวนายทุนจะมาครอบครอง แต่ตัวเองกลับชอบไปเที่ยวโรงแรมรีสอร์ทที่มีนายทุนบุกรุกป่า แบบนี้มันดูย้อนแย้งนะ คนพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกเดียวกับที่ต่อต้านซีพี แต่ตัวเองชอบเข้าเซเว่น โลตัส 😂“
"คนเค้าก็รู้แหละมีโรงแรมรีสอร์ทที่บุกรุกป่า ไล่รื้อทุกปี จนเกินควบคุมไปในหลายพื้นที่ มันก็คือตัวอย่างว่าทับลานเนี่ยควรเก็บไว้ไม่ควรโดนบุกรุกไปอีกที่ แล้วตอนนี้พื้นที่สปก.ตอนนี้ไม่มีโฉนดไง มีแค่สิทธิ์ทำมาหากินก็พอแล้ว จะเพิ่กถอนขอโฉนดมาทำไมอะ"
ฯลฯ
อีกด้านหนึ่งฝั่งที่ พยายามไขความกระจ่าง เรื่องทับลาน ไปทับที่ใครบ้าง อย่าง greennews.agency ก็บอกว่า (ตัดมาบางส่วน) ไปอ่านเต็มๆได้ตามลิงค์
5.พ.ศ. 2545 เกิดการปฏิรูประบบราชการ และจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งกรมอุทยานได้แบ่งกลุ่มและแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 แนวทางอย่างชัดเจนคือ
กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และอ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 58,582 ไร่
กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.) อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 59,183 ไร่ สภาพเป็นพื้นที่ที่กินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเต็มพื้นที่เห็นควรให้ดำเนินการตามมติ ครม.ตามมติ ค.ร.ม. 30 มิถุนายน พ.ศ.2541
กลุ่มที่ 3 กลุ่ม 3 ราษฎรที่อยู่อาศัย/ทำกินในเขตอุทยานฯ ทับลาน และปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เนื้อที่ 152,072 ไร่
6. ข้อสังเกต ของแนวทางการแก้ไขปัญหา คือทางหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง กรมอุทยาน ส.ป.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างชัดเจน เห็นได้จากในปี พ.ศ.2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช โดยได้มีหนังสือยืนยันต่อศูนย์มรดกโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น–เขาใหญ่ ว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอย่างแน่นอน โดยกันพื้นที่ส่วนที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกและผนวกพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์เข้ามา โดยมีแนวเขตและเนื้อที่สอดคล้องกับเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543
7. เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 จึงไม่ใช่เส้นที่เกิดขึ้นจากการขีดเขตแผนที่ในห้องปฏิบัติงานของส่วนกลาง แต่เป็นเส้นที่เกิดจากการตรวจสอบร่วมกันในพื้นที่จริง มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนทางกฎหมายและคำสั่งของทางราชการรองรับ เพียงแต่ยังไม่เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและการขาดความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
9. ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ตั้งข้อสังเกตุว่ากรณี #saveทับลาน อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ซึ่งจัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อน ออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน
10. การใช้วาทกรรม “ผืนป่าที่ถูกเฉือน” ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี อุทยานประกาศปี 2524 ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2515 ด้วยซ้ำไป แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานบุกรุกที่ชาวบ้าน จะให้เรียกว่าอะไร การใช้ข้ออ้างเรื่องกลัวกลุ่มทุนจะมาฮุบเพิ่มจึงเป็นข้ออ้างแบบเหมาเข่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเพิกถอนป่าที่ไปแย่งชาวบ้านเขามา และคืนสิทธิให้กับเจ้าของที่ดินที่อยู่มาก่อน
ใครจะ save ใคร ระหว่าง ชาวบ้าน นายทุน และคนทั่วไปที่อยากรักษาผืนป่า เมื่อ “พื้นที่” ของเหตุผล ผลประโยชน์ และอำนาจ "ทับซ้อน" กัน
ทั้งหมดคือ คำถาม ที่ใครสักคน หรือ มากกว่านี้ต้องตอบ…ว่าทำไมต้อง 265,286.58 ไร่?
Background:
มติ ครม. ล่าสุด คือ วันที่ 14 มี.ค. 2566 เห็นชอบให้ใช้เส้นแนวเขตปี 2543 มาปรับปรุงแผนที่วันแมป เพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งเป็นไปตามการเสนอของที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) ครั้งที่ 2/2566 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เป็นประธาน
มติ ครม.ที่เกิดในช่วงท้าย ๆ ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า พื้นที่ที่ถูกกันออกจากเขตอุทยานฯ จะถูกส่งมอบให้กับ ส.ป.ก. เพื่อจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกินตามแนวทางของ คทช. หรือตามกฎหมายปฏิรูปที่ดิน หรือเพื่อเกษตรกรรม แล้วแต่กรณี โดยการเพิกถอนแนวเขตอุทยานฯ ในครั้งนี้ไม่เกี่ยวข้องหรือมีผลต่อรูปคดีความต่าง ๆ ที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแต่อย่างใด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดีรุกป่าเพื่อสร้างรีสอร์ทและโรงแรม รวมกันกว่า 400 คดี พื้นที่รวมกันกว่า 12,000 ไร่
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานสัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ก.ค.ว่า จะรวบรวมความเห็นทั้งหมด เสนอให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ พิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อมีมติเสนอ ครม. ให้เพิกถอนพื้นที่อุทยานฯ ต่อไป แต่สิ่งสำคัญคือต้องยึดหลักข้อเท็จจริง ทั้งเรื่องการอยู่อาศัยทำกินและการดูแลรักษาผืนป่า เนื่องจากในจำนวน 265,000 ไร่ มีทั้งคนที่อยู่อาศัยอยู่เดิมจากการจัดสรรพื้นที่ และคนที่มาซื้อต่อเป็นมือที่ 2 มือที่ 3 รวมถึงกลุ่มรีสอร์ทที่ถูกดำเนินคดีกว่า 12,000 ไร่
ส่วนที่หลายคนมองว่า มติ ครม. เมื่อปี 2566 เป็นการเอื้อนายทุน อธิบดีกรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า “รัฐบาลที่ผ่านมาพยายามแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดินทำกินให้กับชาวบ้าน จึงเห็นว่าควรทำให้เป็นที่ดินของรัฐ และ ส.ป.ก. ก็ถือเป็นที่ดินของรัฐ ดังนั้น ส.ป.ก. จึงต้องเข้ามาพิจารณาตรวจสอบว่าใครมีสิทธิ” โดยในส่วนของกรมอุทยานฯ เองก็จะต้องไปพิจารณาร่วมกันในชั้นของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เพื่อเสนอ ครม. ต่อไปเช่นกัน
“เพราะคุณสมบัติแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอยู่เดิม บางคนมาซื้อขายเปลี่ยนมือ บางคนเข้ามากว้านซื้อ จึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติผู้ครอบครองที่ดินของรัฐ” อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าว