5 ประเด็นสำคัญ 'พิธา' ให้ความเห็นต่อนโยบายภาวะลดโลกร้อนของรัฐฯ จวกช้าไป!
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โพสต์ 5 ประเด็นสำคัญบนเวทีการประชุมด้านภาวะโลกร้อนที่มาเลเซีย จวกรัฐบาลไทยทำงานช้า ให้งบน้อยและตั้งเป้าโดยขาดความทะเยอทะยาน
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โพสต์บนสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ระบุ 5 ประเด็นสำคัญที่งาน Climate Resilience in Southeast Asia: Strengthening the Role of Parliamentarians Conference ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ได้แก่
1. ประเทศไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงอันดับ 9 จาก 180 ประเทศ ที่มีผลกระทบจากภาวะโลกร้อน เช่น ไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง แต่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2568 ด้านยุทธศาสตร์จัดการผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ได้รับงบประมาณเพียง 0.27% ตามที่ ส.ส. ศุภโชติ ไชยสัจ และ ส.ส. ศนิวาร บัวบาน เคยอภิปรายไว้
2.เป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกของไทยช้าและต่ำมาก ไทยตั้งเป้าลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2065 และคาร์บอนนิวทรัลในปี 2050 จากทั่วอาเซียน ไทยจะช้ากว่า 15 ปีเมื่อเทียบกับ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว สิงคโปร์ และเวียดนาม และ 5 ปีหลังอินโดนีเซีย ทำให้ตั้งข้อสงสัยว่าประเทศไทยเราสมควรได้รับการตั้งเป้าหมายที่ขาดความทะเยอทะยานอย่างนี้หรือไม่
3.ทั่วทั้งอาเซียน CO2 emission เท่ากับ 2.6 Gt หรือ 8% ของการปล่อยก๊าซทั่วโลก ไทยเป็นอันดับ 3 หลังอินโดนีเซียและเวียดนาม ใน 2.6 Gt นั้น 75% เป็นการปล่อยจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าต้องใช้งบประมาณรวมหลายปี เป็นจำนวนกว่า 80% ของมูลค่า GDP ปัจจุบันในการบรรลุเป้าหมาย net zero
4. สำหรับไทย sector หลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีโครงสร้างสัดส่วนคล้ายกับอาเซียนคือ 69% จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล, 15% จากเกษตร, 6% จากฝุ่นฟุ้งกระจาย/การรั่วไหล หรือ Fugitive Emissions, และ 6% จากขั้นตอนของภาคอุตสาหกรรม แน่นอนว่า อุตสาหกรรม EV อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการลด 69% ดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่ควรคำนึงและระมัดระวังด้วย และผมได้อภิปรายไว้ในงบ 68 คือ เราต้องเตรียมพร้อมกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (หรือ Just Transition) คำถามใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้การเปลี่ยนผ่านไม่กระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เช่น แรงงานกว่า 700,000 คน ที่ทำงานในอุตสาหกรรมยานยนต์สันดาปภายใน แต่รัฐบาลปัจจุบันกลับเตรียมงบประมาณในการ reskill ของพี่น้องแรงงานไว้แค่ 7,000 บาทต่อปี ซึ่งชัดเจนมากว่าคงไม่เพียงพอ
5. ถ้าประเทศไทยจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเข้าสู่ net zero ให้เร็วขึ้น ต้องวางแผนปลดระวางโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใน 12 ปี ลดสัดส่วนของโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติลง สนับสนุนให้มีการนำระบบ net metering (หรือหักกลบลบหน่วย) มาใช้กับภาคครัวเรือนเพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน และการขยายการใช้ระบบสมาร์ทกริดให้เร็วขึ้น เพื่อพร้อมบริหารจัดการระบบไฟฟ้าในสายส่งที่มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น ไปพร้อมๆ กับการกระตุ้นให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน รัฐสภาไทยก็ต้องเร่งพิจารณาและผ่าน พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (หรือ พ.ร.บ. โลกร้อน) ที่มีกลไกกำหนดเพดานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสำหรับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (หรือ cap & trade) เพื่อใช้ในการกำกับ/ควบคุม และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ตามแผน นอกจากนี้ เราต้องเร่งแก้ปัญหาขยะพลาสติกในทะเล ปัญหาหมอกควัน/ฝุ่นพิษข้ามพรมแดน ร่วมกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน และผลักดันการจัดตั้งศาลสิ่งแวดล้อม และกลไกในการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนต่อไป