ไม่ต้องง้อคนขับ Autoflow-Road เส้นทางลำเลียงสินค้าใหม่ของญี่ปุ่น
ที่ผ่านมาหลายท่านอาจได้ยินปัญหาขาดแคลนแรงงานของญี่ปุ่นโดยเฉพาะในภาคการขนส่ง นี่จึงเป็นที่มาในแผนพัฒนาสายพานลำเลียงในอุโมงค์ใต้ดิน Autoflow-Road ที่จะแก้ปัญหาแรงงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
ปัญหาขาดแคลนคนวัยทำงานของญี่ปุ่นจัดเป็นปัญหาระดับชาติยาวนานหลายสิบปี จากสาเหตุสำคัญในด้านอัตราการเกิดของประชากรที่หดตัวต่อเนื่อง นำไปสู่ปัญหาทางสังคมในหลายระดับ โดยหนึ่งในภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบมาทกี่สุดคือ แรงงานในภาคการขนส่ง
แน่นอนทางญี่ปุ่นเองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจนำไปสู่ความพยายามแก้ไขปัญหาในหลายภาคส่วน ทั้งจากภาครัฐที่เปิดรับแรงงานต่างชาติให้เข้ามาในธุรกิจภาคการขนส่งมากขึ้น หรือภาคเอกชนที่ปรับตัวโดยการร่วมมือใช้ขนส่งรถบรรทุกคันเดียวกันของ FamilyMart และ Lawson เพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหา
เป็นเหตุผลให้ทางรัฐบาลญี่ปุ่นเสนอโครงการ Autoflow-Road ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนแรงงานได้
Autoflow-Road โครงสร้างสาธารณะใหม่เพื่อการขนส่ง
โครงการนี้เป็นแผนงานของกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ในการพัฒนาระบบขนส่งรูปแบบใหม่ในโครงการชื่อ Autoflow-Road อุโมงค์ใต้ดินเส้นทางที่เชื่อมต่อเมืองใหญ่อย่างโตเกียวและโอซาก้าเข้าด้วยกัน เป็นเส้นทางเชื่อมต่อสำหรับใช้ในการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะที่มีความยาวมากถึง 500 กิโลเมตร
ระบบโลจิสติกส์จัดเป็นปัญหาร้ายแรงของญี่ปุ่นเป็นเวลานาน จากเหตุผลทั้งด้านรูปแบบงาน ค่าแรง ไปจนขาดแคลนประชากร ส่งผลให้แรงงานในภาคการขนส่งสินค้าประสบปัญหาขาดแคลน จนคาดการณ์ว่าภายในปี 2030 อาจมีพัสดุตกค้างภายในระบบมากกว่า 30 - 41% เนื่องจากจำนวนพนักงานขนส่งไม่เพียงพอ
นี่เองจึงเป็นที่มาของโครงการ Autoflow-Road เส้นทางขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ระบบอัตโนมัติ ที่ออกแบบมาเพื่อสนับสนุนภาคการขนส่งทางไกลโดยเฉพาะ ทำการเชื่อมต่อเส้นทางข้ามผืนน้ำระหว่างโตเกียวกับโอซาก้า โดยจะทำการเจาะอุโมงค์ใต้ดินข้างใต้ถนนที่ใช้สัญจรทั่วไป
ในส่วนรูปแบบการขนส่งปัจจุบันยังอยู่ในระหว่างการหารือ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะดำเนินการจัดสร้างสายพานลำเลียงยาวตลอดเส้นทาง เมื่อต้องการขนส่งสินค้าเพียงนำพัสดุมาวางไว้บนพาเลทที่กำหนด จากนั้นสายพานจะทำการส่งพัสดุนี้ไปตามเส้นทาง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขนส่งสินค้า
ตัวเส้นทางจะทำการอ้างอิงจากพื้นที่ใต้ถนนทางหลวง โดยมีจุดแวะพักเป็นบริเวณไหล่ทาง เกาะกลางถนน หรือพื้นที่ใต้ทางด่วนต่างๆ เพื่อใช้ประโยชน์จากพื้นที่ว่างบนเส้นทางคมนาคมและลดผลกระทบต่อประชาชน โดยคาดว่า Autoflow-Road จะทดแทนรถบรรทุกได้ถึง 25,000 คัน/วัน
ซึ่งจะช่วยคลี่คลายปัญหาขาดแคลนแรงงานและลดภาระงานในภาคการขนส่งญี่ปุ่นลงมาก
ข้อจำกัดและข้อโต้แย้งที่น่าสนใจ
จริงอยู่แนวคิดการสร้างอุโมงค์ใต้ดินเพื่อการคมนาคมไม่ใช่ของใหม่ มีการจัดสร้างอุโมงค์ประเภทนี้ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ, ฝรั่งเศส, จีน, สวิสเซอร์แลนด์ ฯลฯ แม้แต่ในญี่ปุ่นเองก็มีการเดินทางโดยสารผ่าน อุโมงค์เซกัง หรือ ทางด่วนโตเกียวไกคัง ด้วยเช่นกัน นี่จึงฟังดูเป็นโครงการที่สมเหตุสมผลต่อการแก้ปัญหาในทางหนึ่ง
จุดเด่นของ Autoflow-Road นอกจากใช้งานในภาคการขนส่งแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานแล้ว เมื่อลดการใช้รถบรรทุกย่อมหมายถึงอัตราการปล่อยคาร์บอน การเผาไหม้ และฝุ่นละอองจะลดลงเป็นอย่างมาก ลดปัญหาก๊าซเรือนกระจกและมลพิษในอากาศที่ทวีความรุนแรง เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อน
อย่างไรก็ตามข้อดีเหล่านี้เกิดปัญหาและข้อจำกัดหลายประการ แรกสุดคืองบประมาณที่ใช้ในการจัดสร้าง อุโมงค์ใต้ดินนับเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีค่าใช้จ่ายสูงมาก จากการสำรวจของบริษัทก่อสร้างคาดว่า ต้นทุนของอุโมงค์ใต้ดิน Autoflow-Road อาจมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 3.7 ล้านล้านเยน(ราว 830,000 ล้านบาท)
จริงอยู่เส้นทางนี้ถูกสร้างเพื่อแก้ปัญหาภาคการขนส่งที่กำลังวิกฤติ ช่วยคลี่คลายการขาดแคลนแรงงาน มลพิษทางอากาศ ภาวะโลกร้อน ปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึงเป็นการกระตุ้นมูลค่าทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อีกทั้งยังมีแนวทางหารือเรียกร้องให้มีการระดุมจากภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสร้าง
แต่ยังมีส่วนน่าตั้งคำถามในหลายด้าน อย่างกำหนดการจัดสร้างที่คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2034 นับเป็นโครงการขนาดใหญ่ใช้เวลาในการก่อสร้างยาวนาน แต่เมื่อประเมินจากทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบัน นำไปสู่การตั้งคำถามเช่นกันว่า ในวันที่อุโมงค์ใต้ดิน Autoflow-Road พร้อมใช้งาน เทคโนโลยีอาจเข้ามาช่วยแก้ปัญหาภาคการขนส่งแล้วหรือไม่
ปัจจุบันการพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้าเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหามลพิษในภาคการขนส่งที่กำลังเกิดขึ้น เช่นเดียวกับเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับยังคงได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้น หลายประเทศเริ่มมีการเปิดตัวและทดลองใช้งานเพื่อเก็บข้อมูลแล้วเช่นกัน
นำไปสู่คำถามสำคัญว่า ในวันที่อุโมงค์ใต้ดิน Autoflow-Road พร้อมใช้งานซึ่งก็คืออีก 10 ปีให้หลัง รถยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไร้คนขับจะได้รับการพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ตามท้องถนนทั่วไป โดยไม่ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานมาสนับสนุนรองรับ ถึงตอนนั้นเม็ดเงินมหาศาลที่ลงทุนไปในโครงการนี้จะสูญเปล่าหรือไม่
แต่ทางรัฐมนตรีประจำกระทรวงฯยังคงยืนยันว่า นี่เป็นโครงการที่ต้องมีการหารือเพื่อดำเนินการโดยเร็ว
คงต้องรอดูกันต่อไปว่าที่สุดแล้วโครงการ Autoflow-Road จะได้รับการผลักดันให้จัดสร้างขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยสภาพเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบันที่กำลังประสบปัญหา และในกรณีที่ได้รับการจัดสร้างจะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากเพียงไร
สำหรับประเทศไทยเราอาจต้องรอลุ้นกับโครงการแลนด์บริจด์ของทางรัฐบาลเสียก่อนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
ที่มา
https://www.prachachat.net/world-news/news-1541924
https://www.brandthink.me/content/moving-to-japan-as-a-foreigner-to-work
https://japannews.yomiuri.co.jp/business/economy/20240623-193996/
https://newatlas.com/transport/cargo-conveyor-auto-logistics/