รวมเรื่องรักษ์โลก "ปารีส 2024" จากสตาดเดอฟร็องส์ถึงหมู่บ้านโอลิมปิก
ไม่ใช่แค่พิธีเปิดที่เป็นที่กล่าวขวัญด้วยไอเดียสุดบรรเจิด แต่ปีนี้นักกีฬาจากทั่วทุกมุมโลกกว่า 14,000 คน จะได้แข่งขันกีฬากันแบบรักษ์โลกสุดๆ ในทุกรายละเอียด เพราะครั้งนี้ผู้จัดโอลิมปิก Paris 2024 จะจัดงานโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยความรับผิดชอบมากขึ้น ยั่งยืนมากขึ้น และครอบคลุมมากขึ้น ด้วยแนวคิด "ทำมากแต่น้อย" หรือ "doing more with less"
โอลิมปิกครั้งนี้คือการแข่งขันรายการแรกที่สอดคล้องกับ “วาระโอลิมปิกปี 2020” (Olympic Agenda 2020) แผนงานเชิงกลยุทธ์ของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) เพื่อกำหนดอนาคตของกระบวนการโอลิมปิกและเกมส์ (Olympic Movement and the Games) อย่างยั่งยืนมากขึ้น คุ้มต้นทุน และสอดคล้องกับความต้องการของเมืองและชุมชนเจ้าบ้าน วาระโอลิมปิกปี 2020 ได้ให้คำแนะนำหลายประการ รวมถึงการใช้สถานที่ที่มีอยู่และสถานที่ชั่วคราว การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และการส่งเสริมแหล่งพลังงานที่ยั่งยืน
ต่อไปนี้คือกระบวนการและวิธีการสุดกรีนที่ปารีส 2024 นำไปใช้ในแง่มุมต่างๆ :
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกลดพื้นที่ลง 50% เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของลอนดอนในปี 2555 และริโอในปี 2559 ซึ่งสอดคล้องกับข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยกิจกรรมจะพิจารณาการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมการปล่อยก๊าซทั้งทางตรง ทางอ้อม และจากการเดินทางของผู้ชม
ในพิธีเปิดมีเรือจำนวนกว่า 90 ลำ ซึ่งใช้ระบบขับเคลื่อน เช่น พลังงานไฟฟ้า, มอเตอร์ไฟฟ้า, เซลล์เชื้อเพลิง, ไฮโดรเจน และระบบขับเคลื่อนแบบผสม
สถานที่จัดงาน
สิ่งสำคัญของกลยุทธ์ความยั่งยืนและการลดคาร์บอนของปารีส 2024 คือการใช้สถานที่ที่มีอยู่แล้วหรือตั้งขึ้นชั่วคราว ซึ่งคิดเป็น 95% ของสถานที่ทั้งหมด ความคิดริเริ่มนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเกมลงครึ่งหนึ่ง และสอดคล้องกับคำแนะนำของ IOC เพื่อลดการก่อสร้างใหม่
ตั้งแต่สนามกีฬาแห่งชาติของฝรั่งเศสอย่าง สตาดเดอฟร็องส์ (Stade de France) อันโด่งดังซึ่งมีที่นั่งมากถึง 80,000 ที่นั่ง (เป็นหนึ่งใน 6 สนามกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) ตั้งอยู่ในย่านแซงต์-เดอนี เป็นที่ตั้งของสนามกรีฑา พารากรีฑา และสนามรักบี้ 7 คน ไปจนถึง Saint-Quentin Velodrome ซึ่งจะเป็นสนามแข่งจักรยาน
สถานที่แห่งใหม่นี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของพื้นที่ โดยยึดหลักการลดและนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งศูนย์กีฬาทางน้ำ (Aquatics Center) และหมู่บ้านนักกีฬา Paris 2024 Olympic Village ที่ถูกสร้างขึ้นในเขตชานเมืองทางตะวันออกเฉียงเหนือของปารีส ซึ่งเป็นย่านที่มีการลงทุนน้อยที่สุด ส่วนสถานที่ที่ประกอบขึ้นชั่วคราวจะถูกรื้อถอนเพื่อนำมาใช้ใหม่ในอนาคตหลังการแข่งขัน
ศูนย์กีฬาทางน้ำ:
- ประกอบด้วยหลังคาแผงโซลาร์เซลล์ขนาด 4,680 ตร.ม. ซึ่งใช้ไฟฟ้าได้ประมาณ 20% ของพื้นที่จัดงาน
- ที่นั่งมากถึง 5,000 ที่นั่ง และทุกที่นั่งภายในอาคาร ทำมาจากฝาขวดพลาสติกรีไซเคิล
- ใช้วัสดุจากแหล่งชีวภาพ เช่น ไม้ฝรั่งเศส (French wood) สำหรับโครงและโครงสร้าง
- หลังคาเว้าเพื่อรับอากาศตามธรรมชาติ ควบคุมระดับความชื้น และลดปริมาณพื้นที่ที่จะทำความร้อน
- ลดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมด้วยการกรองอากาศภายนอก
- มีต้นไม้ 102 ต้นเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียว ให้ร่มเงา และดึงดูดสัตว์นานาพันธุ์
หมู่บ้านนักกีฬาโอลิมปิก
- สร้างโดยลดคาร์บอนลงได้ 30% เมื่อเทียบกับโครงสร้างทั่วไปของฝรั่งเศส
- วัสดุร้อยละ 94 ถูกกู้คืน หรือ นำมาจากการรื้อสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่เดิม
- ในอนาคต 15% ของปริมาณการใช้ไฟฟ้าของย่านโดยรอบหมู่บ้าน จะใช้พลังงานไฟฟ้าโซลาร์เซลล์จากแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคา
- วัสดุก่อสร้างประกอบด้วยไม้และพลาสติกรีไซเคิล โดยไม้ทั้งหมดได้มาจากป่าที่ได้รับการจัดการเชิงนิเวศน์ รวมถึงไม้ฝรั่งเศสอย่างน้อย 30%
- ใช้ระบบทำความเย็นจากพลังงานความร้อนใต้พิภพแทนเครื่องปรับอากาศแบบเดิมๆ
- ประกอบด้วยส่วนหน้าอาคารที่เป็นฉนวนกันความร้อน พื้นห้องเย็น (cooling floors) ด้วยระบบทำความเย็นใต้พื้นบ้าน และพื้นที่สีเขียว เพื่อช่วยทำให้อุณหภูมิแตกต่างกับภายนอกอาคารอย่างน้อย 6 องศาเซลเซียส โดยสามารถปรับให้เข้ากับสภาพอากาศโดยประมาณในปี 2050 ได้
- มีพื้นที่สีเขียว 6 เฮกตาร์ รวมถึงพื้นที่เปิดโล่ง 1.2 เฮกตาร์ เพื่อสร้างเกาะที่เย็นสบายและลดอุณหภูมิของอาคาร
- ประกอบด้วยต้นไม้ขนาดใหญ่ 1,000 ต้นและต้นไม้เล็กและพุ่มไม้เกือบ 8,000 ต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพันธุ์พืชพื้นเมือง
ข้อมูลของ NBC ระบุว่ามีนักกีฬาจากโอลิมปิก จำนวน 14,250 คน และอีกราว 8,000 คนในพาราลิมปิก ดังนั้นการออกแบบในแต่ละห้องจะเน้นความเรียบง่าย และใช้วัสดุที่ช่วยลดมลพิษต่อโลก
พลังงาน
ปารีส 2024 จะใช้พลังงานหมุนเวียน 100 เปอร์เซ็นต์จากแหล่งพลังงานในท้องถิ่น สถานที่ทั้งหมดเชื่อมต่อกับโครงข่ายไฟฟ้า ช่วยให้สามารถใช้พลังงานหมุนเวียนได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปั่นไฟแบบดีเซล ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมาก แน่นอนว่ามีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมดที่ศูนย์กีฬาทางน้ำและหมู่บ้านโอลิมปิก และยังมีการนำระบบทำความเย็นด้วยพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ในห้องพักนักกีฬาที่หมู่บ้านโอลิมปิก แทนการใช้เครื่องปรับอากาศแบบเดิม
เรียกว่าเป็นระบบผันน้ำเย็นจากธรรมชาติใต้ดินขึ้นมาใช้เพื่อทำระบบความเย็นในอพาร์ตเมนต์แทน แต่ข่าวว่าระบบนี้ไม่ได้ผลและสร้างความกังวลให้กับนักกีฬา จากสภาพอากาศในฤดูร้อนของปารีส ที่อาจสูงถึง 37 องศาเซลเซียส
ทำให้ล่าสุดมีประเทศที่สั่งแอร์เคลื่อนที่เข้ามาติดตั้งกว่า 2,500 เครื่องแล้ว อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ฮ่องกง ฯลฯ
อาหาร
ครั้งนี้การแข่งขันจะเน้นแนวทางปฏิบัติด้านอาหารอย่างยั่งยืนเช่นกัน
- ปริมาณอาหารจากพืชสำหรับผู้ชมจะเพิ่มขึ้นสองเท่าเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากมื้ออาหารลงครึ่งหนึ่ง
- ลดการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในมื้ออาหารลง 50%
- นำอุปกรณ์จัดเลี้ยงและโครงสร้างพื้นฐานหลังการแข่งขันกลับมาใช้ใหม่ 100%
- การติดตั้งน้ำพุเครื่องดื่ม (beverage fountains) หรือ ตู้กดน้ำดื่ม 700 แห่งทั่วสถานที่จัดงาน Paris 2024 โดย Coca-Cola พันธมิตรโอลิมปิกทั่วโลก
- จะมีจุดน้ำดื่มฟรี และผู้ชมจะได้รับอนุญาตให้นำขวดที่ใช้ซ้ำเข้ามาในสถานที่ได้
ประมาณครึ่งหนึ่งของพลาสติก 4.8 ล้านตันที่ใช้และทิ้งในฝรั่งเศสต่อปีเป็นบรรจุภัณฑ์ ในจำนวนนั้น มีเพียง 23% เท่านั้นที่ถูกรีไซเคิล ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปที่ 38% ซึ่งยังต่ำลงไปอีกในปารีสที่ทำได้เพียง 14% ทั้งนี้ ขยะประมาณ 37% ที่ผลิตในเมืองมาจากบรรจุภัณฑ์ และคณะกรรมการจัดงานได้พยายามที่จะแก้ไขปัญหานี้เพิ่มเติมโดยกำหนดให้พันธมิตรด้านโลจิสติกส์ลดบรรจุภัณฑ์และการใช้พลาสติก ตลอดจนสร้างระบบฝากสำหรับพาเลท
การขนส่ง
สถานที่จัดงาน Paris 2024 ทั้งหมดสามารถเข้าถึงได้ด้วยระบบขนส่งสาธารณะ แนวทางนี้ไม่เพียงแต่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนเท่านั้น แต่ยังส่งเสริมทางเลือกการคมนาคมที่ยั่งยืนสำหรับชุมชนอีกด้วย
- 80% ของสถานที่จัดงานตั้งอยู่ในรัศมี 10 กม. จากหมู่บ้านโอลิมปิก
- เครือข่ายเลนจักรยานยาว 418 กม. รวมถึงเส้นทางใหม่ที่ได้รับการคุ้มครองยาว 88 กม.
- ที่จอดรถจักรยานสำหรับผู้ชม ณ สถานที่จัดการแข่งขันทุกแห่งในภูมิภาคอีล-เดอ-ฟรองซ์
- จำนวนกองเรือโอลิมปิกลดลง 37% เมื่อเทียบกับเกมครั้งก่อน
- การใช้รถยนต์ไฟฟ้า ไฮบริด และพลังงานไฮโดรเจนที่จัดโดยโตโยต้า พันธมิตรโอลิมปิกทั่วโลก
สนับสนุนแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ด้วยการลด การเช่า และการนำกลับมาใช้ใหม่
ปารีส 2024 มุ่งมั่นที่จะสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนด้วยการลดการใช้ทรัพยากรใหม่และรับประกันชีวิตที่สองสำหรับอุปกรณ์และสินค้า:
- การทำแผนที่โดยละเอียดของทรัพยากรที่จำเป็นและที่มีอยู่เพื่อลดการใช้ทรัพยากรใหม่และควบคุมวงจรชีวิตก่อน ระหว่าง และหลังเกม
- จนถึงขณะนี้ อุปกรณ์และสินค้ากว่า 90% ได้รับการประกันการมีชีวิตที่สองแล้ว
- งาน Paris 2024 ขยายแนวคิดการประหยัดทรัพยากรไปสู่การออกแบบภายในสถานที่จัดงานทั้ง 40 แห่ง ประเมินและรวบรวมความต้องการอย่างพิถีพิถัน ส่งผลให้การใช้เฟอร์นิเจอร์ลดลงจาก 800,000 ชิ้นเหลือ 600,000 ชิ้น (มีการคำนวณฟุตปรินท์วัสดุและการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่)
- ผู้จัดงานใช้วิธีการเช่ามากกว่าการซื้อ โดยอุปกรณ์กีฬาถึง 3 ใน 4 จะเช่าหรือจัดหาโดยสหพันธ์กีฬา และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 75% มาจากสัญญาเช่า ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์นี้ ทำให้อัฒจันทร์ เต็นท์ และบังกะโลทั้งหมดมาจากการเช่า ไม่ใช่ซื้อ เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมของงาน
มากกว่านั้นโอลิมปิกครั้งนี้ยังมีสนามหญ้าเทียมคาร์บอนเป็นศูนย์แห่งแรกของโลก มีชื่อว่า ‘Poligras Paris GT zero’ ที่ถูกพัฒนาขึ้นเป็นพิเศษโดยใช้พลาสติกที่เรียกว่า ‘I'm Green™’ ซึ่งเป็นพลาสติกชีวภาพที่พัฒนาโดยบริษัท Braskem จากบราซิล ทำมาจากชานอ้อยที่ถูกบดในครั้งที่ 3 แปลว่ามาจากอ้อยที่ไม่มีน้ำตาลแล้ว การใช้ชานอ้อยเป็นวัตถุดิบชีวภาพมาเป็นเส้นใย ยังช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 73 ตัน เมื่อเทียบกับหญ้าเทียมแบบเดิม รวมไปถึงการใช้ปริมาณน้ำ
และจากนี้ไปใครจะนำแนวคิดเหล่านี้ไปต่อยอดหรือสร้างแรงกระเพื่อมใหม่ๆ ให้กับวงการอื่นๆ ก็สามารถนำไปใช้ได้ เพราะตัวอย่างและไอเดียดีๆ แบบนี้ ไม่ควรถูกมองข้าม...
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก: Olympics.com