posttoday

ความเรืองรองของ "ช่องแคบมะละกา" ท่าเรือสำคัญและ 4 เมกะโปรเจ็กต์ของอาเซียน

03 สิงหาคม 2567

ก่อนที่เราไปจะไกลถึง “แลนด์บริดจ์” มาดูกันว่ากำลังเกิดโครงการอะไรขึ้นอีกบ้างแถวๆ ช่องแคบมะละกา หนึ่งในช่องทางสัญจรทางน้ำที่มีความหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีอะไรที่เราต้องรู้เกี่ยวกับช่องแคบนี้กันอีกบ้าง

KEY

POINTS

  • ท่าเรืออัตโนมัติควบคุมระบบด้วย AI หรือ “สมาร์ทเอไอ” จะขยายตัวและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามท่าเรือขนาดใหญ่ของโลก รวมถึงท่าเรือมากมายที่ช่องแคบมะละกา ถนนการค้าบนเส้นทางน้ำสายสำคัญของเอเชียและของโลก
  • สินค้าของเรือที่แล่นผ่านเส้นทางน้ำเก่าแก่นี้มีมูลค่าทางการค้าถึง 121 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)
  • ภายใน พ.ศ. 2573 การขนส่งทางเรือคาดว่าจะเกินขีดจำกัดของช่องแคบมะละกา ซึ่งถือเป็นเส้นตายที่กำลังใกล้จะมาถึง ชาติต่างๆ ในอาเซียนต่างงัดยุทธศาสตร์ เพื่อเข้ามาควบคุมเส้นทางเดินเรือให้มากที่สุด

ก่อนที่เราไปจะไกลถึง “แลนด์บริดจ์” มาดูกันว่ากำลังเกิดโครงการอะไรขึ้นอีกบ้างแถวๆ ช่องแคบมะละกา หนึ่งในช่องทางสัญจรทางน้ำที่มีความหนาแน่นมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก มีอะไรที่เราต้องรู้เกี่ยวกับช่องแคบนี้กันอีกบ้าง

 

ก่อนที่ท่าเรืออัตโนมัติควบคุมระบบด้วย AI หรือ “สมาร์ทเอไอ” จะขยายตัวและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ตามท่าเรือขนาดใหญ่ของโลก รวมถึงท่าเรือมากมายที่ช่องแคบมะละกา ถนนการค้าบนเส้นทางน้ำสายสำคัญของเอเชียและของโลก 

 

ความสำคัญของช่องแคบมะละกา

ช่องแคบมะละกาเป็นทางน้ำสำคัญเชื่อมระหว่างทะเลอันดามัน (มหาสมุทรอินเดีย) และทะเลจีนใต้ (มหาสมุทรแปซิฟิก) ทอดยาวราว 930 กิโลเมตร ระหว่างคาบสมุทรมลายู (ประเทศมาเลเซีย) และเกาะสุมาตราของอินโดนีเซียทางทิศตะวันตก และยังทำหน้าที่เชื่อมหลายเขตเศรษฐกิจในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น ไต้หวัน เกาหลีใต้ จีน และอินเดีย

 

จากข้อมูลจากสถาบันวิจัยเศรษฐกิจอาเซียนและเอเชียตะวันออกบอกว่า สินค้าของเรือที่แล่นผ่านเส้นทางน้ำนี้มีมูลค่าทางการค้าถึง 121 ล้านล้านบาท (ประมาณ 3.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ)

 

ส่งผลให้ช่องแคบมะละกาเป็นน่านน้ำที่แออัด มีการขนส่งหนาแน่นเป็นอันดับ 2 ของโลก รองรับสินค้า 30% ของการค้าโลก แต่ละปีมีเรือแล่นผ่านถึงปีละประมาณ 94,000 ลำ

 

การจราจรหนาแน่นในช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นเส้นทางหลักของการขนส่งข้ามทวีปทั่วโลก เกือบหนึ่งในสี่ของกระแสการค้าทางทะเลระหว่างประเทศเคลื่อนตัวผ่านเส้นทางเดินทะเลนี้ ซึ่งจุดที่แคบที่สุดมีความยาวประมาณ 800 กิโลเมตร และกว้าง 50 กิโลเมตร © Olaf Schülke/Süddeutsche Zeitung รูปภาพ

 

เมื่อมีความสำคัญขนาดนี้ ความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ใดๆ ที่เกิดขึ้นในช่องแคบแห่งนี้ ไม่ว่าจะเกิดจากจุดแออัดในทะเล ที่ซึ่งอุบัติเหตุ การปิดกั้น ความขัดแย้ง หรือการกระทำจากโจรสลัดอาจส่งผลกระทบต่อการค้าทั่วโลกได้

 

ทั้งน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าผลิตจากเอเชียตะวันออก ตะวันออกกลาง และยุโรป โดยเฉพาะญี่ปุ่นนำเข้าน้ำมันถึง 90% และเกาหลีใต้นำเข้าน้ำมัน 80% ผ่านช่องทางนี้

 

ภายใน พ.ศ. 2573 การขนส่งทางเรือคาดว่าจะเกินขีดจำกัดของช่องแคบมะละกา ซึ่งถือเป็นเส้นตายที่กำลังใกล้จะมาถึง

 

ส่งผลให้ทุกฝ่ายทั่วทั้งอินโดแปซิฟิกและพื้นที่อื่นๆ รวมทั้งไทย ใช้โอกาสและหาเส้นทางการค้าอื่น ผ่านเส้นทางในทะเลที่ปลอดภัยและมั่นคง

 

ทางเลือกอื่นที่จะมาแทนช่องแคบมะละกาได้รับการเสนอเรื่อยมาตั้งแต่ที่เมืองท่ามะละกาได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญในศตวรรษที่ 16 รวมถึงยังมี “ข้อเสนอเก่าแก่ที่มีอายุหลายร้อยปีในการขุดลอกคลองผ่านคอคอดกระ” ในคาบสมุทรมลายู

 

สำหรับจีน "คอคอดกระ" เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญหลายด้าน อดีตประธานาธิบดี หูจิ่นเทาของจีนเคยพูดไว้ตั้งแต่ปี 2003 ว่า หากขุดคอคอดกระสำเร็จจะช่วยแก้ปัญหา “วิกฤตมะละกา” ที่จีนเผชิญอยู่

 

จีนต้องพึ่งพาเส้นทางนี้ในการนำเข้าน้ำมันถึง 80% และวัตถุดิบต่างๆ เพื่อป้อนโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นช่องทางในการกระจายสินค้าจีนไปทั่วโลก

 

ช่องแคบมะละกาจากแผนที่

 

รายงานของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานสหรัฐฯ ระบุว่า “การเปลี่ยนเส้นทาง (หากไม่ผ่านช่องแคบมะละกา) จะทำให้ขีดจำกัดการขนส่งทั่วโลกติดขัด และเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง และอาจส่งผลต่อราคาพลังงาน”

 

เวลานี้หลายประเทศในอาเซียนเปิดตัวโครงการเมกะโปรเจกต์การขนส่งทางน้ำ โดยมีช่องแคบมะละกาเป็นจุดเชื่อมเส้นทางเดินเรือระหว่างเอเชียตะวันออกไปยังยุโรป

 

และขณะนี้มีอย่างน้อย  4 โครงการสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินเรือสำคัญของอาเซียนและการเชื่อมต่อกับช่องแคบมะละกา ประกอบด้วย

 

1.โครงการแลนด์บริดจ์ ของไทย วงเงินการลงทุน 1 ล้านล้านบาท มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2573 เชื่อมท่าเรือ 2 ฝั่ง ไม่ต้องเดินทางผ่านช่องแคบมะละกา และลดเวลาเดินทางเหลือ 5 วัน จากปัจจุบัน 9 วัน และท่าเรือแต่ละฝั่งรองรับขนส่งสินค้า 20 ล้านคอนเทนเนอร์ต่อปี

2.โครงการคลองฟูนันเตโช ของกัมพูชา วงเงินการลงทุน 61,200 ล้านบาท เริ่มพิธีขุดคลองวันที่ 5 ส.ค.2567 เปิดให้บริการปี 2571

3.โครงการพัฒนาท่าเรือกลัง (เฟสใหม่) ของมาเลเซีย วงเงินการลงทุน 296,800 ล้านบาท เปิดบริการปี 2570

4.โครงการพัฒนาท่าเรือ Tuas (เฟส 1-4) ของสิงคโปร์ วงเงินการลงทุน 7.2 แสนล้านบาท เปิดบริการเต็มรูปแบบปี 2585 จะเป็นท่าเรืออัตโนมัติใหญ่สุดในโลก

 

ความเรืองรองของ \"ช่องแคบมะละกา\" ท่าเรือสำคัญและ 4 เมกะโปรเจ็กต์ของอาเซียน

 

ปัจจุบันท่าเรือสำคัญในช่องแคบมะละกาอยู่ตรงไหนบ้าง?

ช่องแคบมะละกามีท่าเรือสำคัญหลายแห่งที่มีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศ ไล่เรียงตามลำดับดังนี้

 

1. ท่าเรือสิงคโปร์ (Tuas) หนึ่งในท่าเรือที่ใหญ่และมีความสำคัญที่สุดในโลก ท่าเรือสิงคโปร์เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่เชื่อมต่อกับภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่มากมาย

 

ปัจจัยหลักที่จูงใจให้เรือมาใช้บริการที่ท่าเรือสิงคโปร์จำนวนมากก็คือ มีทำเลที่ดีทำให้เกิดเป็นศูนย์รวมของเส้นทางเดินเรือที่สำคัญของโลกกว่า 200 สาย ให้บริการเชื่อมโยงท่าเรือกว่า 600 แห่งใน 123 ประเทศทั่วโลก

 

ปัจจัยอื่นที่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของท่าเรือสิงคโปร์ก็คือมีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากร มีคุณภาพการให้บริการที่ดี และมีการบริหารงานที่โปร่งใส

 

2. ท่าเรือปอร์ทกลัง (Port Klang) ตั้งอยู่ในประเทศมาเลเซีย ท่าเรือนี้เป็นท่าเรือหลักที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียและเป็นหนึ่งในท่าเรือที่มีความสำคัญในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีบทบาทสำคัญในการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา

 

Port Klang ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ของโลกและเป็นอันดับสองรองจากสิงคโปร์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในแง่ของกำลังการผลิต สำหรับในปี 2564 วางแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตต่อปีจาก 14 ล้าน TEU (หน่วยนับสินค้าที่บรรจุในตู้คอนเทนเนอร์ซึ่งมีขนาความยาว 20 ฟุต โดยตู้คอนเทนเนอร์ 20 ฟุต เท่ากับ 1 TEU) เป็น 27 ล้าน TEU

 

3. ท่าเรือยะโฮร์ (Johor Port) ในรัฐยะโฮร์อยู่ทางตอนใต้สุดของคาบสมุทรมลายูประกอบด้วยท่าเรือสองแห่ง ได้แก่ ท่าเรือ ตันจุงเปเลปาส Tanjung Pelepas (PTP) และท่าเรือยะโฮร์ที่ Pasir Gudang โดยในปี 2562 มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รวม 120 ล้านตัน และเป็นท่าเรือคู่แข่งสำคัญของสิงคโปร์

 

4. ท่าเรือปีนัง (Penang Port) ท่าเรือขนถ่ายตู้คอนเทนเนอร์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามและเกาแก่ที่สุดของมาเลเซีย อยู่ทางเหนือของ ชายฝั่งตะวันตกของคาบสมุทรมาเลเซียและเกาะปีนัง เชื่อมต่อการเข้าถึงไปยังรัฐทางตอนเหนือของมาเลเซีย และจังหวัดทางตอนใต้ของประเทศไทย โดยในปี 2561 มีปริมาณการขนส่งสินค้า 34 ล้านตัน นอกจากนี้ยัง เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับการท่องเที่ยวด้วยเรือสำราญ

 

5. ท่ารือซาบาห์ (Sabah Port) ในรัฐซาบาห์เป็นรัฐทางตอนเหนือของเกาะบอร์เนียว เป็นที่ตั้งของท่าเรือแปดแห่งซึ่งรวมกันแล้วมี ปริมาณการขนส่งสินค้ารวม 34.2 ล้านเมตริกตัน ในปี 2562 และเนื่องจากมีสวนปาล์มน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดใน ประเทศและอุตสาหกรรมไม้และเกษตรกรรมขนาดใหญ่ การขนส่งสินค้าจึงมีความมั่นคงและได้มาตรฐาน

 

6. ท่าเรือกวนตัน (Kuantan Port) ท่าเรือกวนตันเป็นท่าเรือหลักที่ชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรมลายูหันหน้าออกสู่ทะเลจีนใต้ ท่าเรือ นี้สามารถขนส่งสินค้าได้เกือบ 25 ล้านตันในปี 2561 ซึ่งเป็นสินค้าแห้งเทกอง แร่ แร่ธาตุรวมทั้งแร่อะลูมิเนียม

 

7. ท่าเรือเบอลาวัน (Belawan Port) ตั้งอยู่ในประเทศอินโดนีเซีย เป็นท่าเรือหลักที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศในภาคเหนือของเกาะสุมาตรา

 

ความเรืองรองของ \"ช่องแคบมะละกา\" ท่าเรือสำคัญและ 4 เมกะโปรเจ็กต์ของอาเซียน

 

ท่าเรือเหล่านี้เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศและมีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก

 

และจากความเห็นของ ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์  ต่อโครงการแลนด์บริดจ์มูลค่า 1 ล้านล้านบาทของไทย กรณีจะช่วยร่นเวลาและลดต้นทุนได้จริงไหม ก็มีคำถามชวนคิดแต่ยังไม่ได้คำตอบว่า

 

“ถ้ามีเรือบรรทุกน้ำมันขนาด 100,000 ตัน จะใช้เวลานานเพียงใดที่จะสูบน้ำมันจากเรือลงสู่ท่อ หรือถ้ามีเรือบรรทุกสินค้าขนาด 50,000 ตัน จะใช้เวลานานแค่ไหนที่จะขนสินค้าจากเรือสู่รถ และจะต้องใช้รถบรรทุกจำนวนมากขนาดไหน

 

ข้อเป็นห่วงนี้ ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้แจงให้กระจ่าง และจะต้องคาดการณ์ว่าจะมีเรือมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยแค่ไหนนั้น โดยคำนึงถึงประเภทของสินค้าที่เรือจะขนมา และจุดต้นทางและปลายทางของสินค้า เช่น

 

(1) เรือบรรทุกน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางสู่ประเทศญี่ปุ่น จะเปลี่ยนเส้นทางจากช่องแคบมะละกามาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยเพียงใด

(2) เรือบรรทุกคอนเทนเนอร์จากยุโรป (ท่าเรือร็อตเตอร์ดัม) สู่ญี่ปุ่น จะเปลี่ยนเส้นทางจากช่องแคบมะละกา มาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร มากน้อยเพียงใด

(3) เรือบรรทุกแร่เหล็กจากอินเดียสู่ตะวันออกไกลจะเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่

(4) เรือบรรทุกถ่านหินจากแอฟริกาสู่ตะวันออกไกลจะเปลี่ยนมาใช้แลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร หรือไม่

 

คำถามคือ ถ้าโครงการแลนด์บริดจ์ ระนอง-ชุมพร เป็นรูปธรรมขึ้นมา คงต้องรอดูกันว่าประตูสู่เอเชียจะเปลี่ยนไปหรือไม่? แล้วบทบาทของช่องแคบมะละกาจะเป็นไปอย่างไร?

 

 

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ