posttoday

ตรวจความคืบหน้า “สนามบินอู่ตะเภา” รอบูรณาการก่อสร้างรันเวย์เชื่อมไฮสปีด

08 สิงหาคม 2567

ติดตามความก้าวหน้าโครงสร้างพื้นฐาน EEC พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา EEC เผยรอบูรณาการการก่อสร้างจากทุกฝ่าย เมื่อพร้อมทั้ง EEC -UTA และ เอกชนผู้พัฒนาโครงการ รวมทั้งโครงการคอมเพล็กซ์ครบวงจร สู่ “เมืองสนามบิน“ ในอนาคต

ลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้า EEC พื้นที่สนามบินอู่ตะเภา EEC เผยรอบูรณาการการก่อสร้างจากทุกฝ่าย ทั้ง EEC UTA และ เอกชนผู้พัฒนาโครงการทั้ง อิตาเลียนไทย ผู้ดำเนินโครงการรันเวย์สนามบิน เอเชีย เอรา วัน ผู้ดำเนินการโครงการรถไฟไฮสปีดเชื่อมสามสนามบิน และกลุ่มผู้รับเหมา พร้อมเดินหน้าสู่ “เมืองการบิน” ครบวงจร ตอบรับเทรนด์เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ทำสนามบินให้เป็นจุดหมายปลายทางสำหรับนักท่องเที่ยวทั่วโลก

 

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  กล่าวว่า การมารับฟังในส่วนของการพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในพื้นที่อีอีซี โดยเฉพาะโครงการสนามบินอู่ตะเภาฯ ในวันนี้ ถือเป็นการมาร่วมขับเคลื่อนสนามบินอู่ตะเภาฯ ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาพื้นที่อีอีซี และมีความยินดีที่วันนี้ ได้เกิดความร่วมมือจากทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐโดย กองทัพเรือ และภาคเอกชน ที่จะร่วมกันสร้างความร่วมมือผลักดันให้โครงการฯ ได้เดินหน้าต่อเนื่อง

 

ภาพโครงการสนามบินอู่ตะเภาจาก https://www.uta.co.th/th

 

ความก้าวหน้าการพัฒนา โครงการสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ในส่วนของหน่วยงานรัฐ ที่สำคัญ ๆ อาทิ ด้านงานก่อสร้างทางวิ่งที่ 2 และทางขับ ปัจจุบันกองทัพเรือ ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินจำนวน 16,210 ล้านบาท และ สกพอ. ได้ส่งมอบพื้นที่เขตส่งเสริมเมืองการบินภาคตะวันออก เพื่อให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการฯ เป็นที่เรียบร้อย และอยู่ระหว่างกระบวนการคัดเลือกผู้รับเหมางานก่อสร้าง และที่ปรึกษาเพื่อควบคุมงานก่อสร้าง 

 

ภาพแผนที่โครงการฯ จาก https://www.uta.co.th/th

 

ด้านงานระบบสาธารณูปโภคที่จัดทำโดยภาครัฐ เช่น ระบบไฟฟ้าและน้ำเย็น โรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์ ขนาด 15 เมกะวัตต์ มีความก้าวหน้า 95.13% งานระบบประปาและน้ำเสีย กำลังผลิตน้ำประปา 10,000 ลูกบาศเมตรต่อวัน (เฟสแรก) ก่อสร้างแล้ว 100% 

 

ระบบบริการน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยาน มีความก้าวหน้าภาพรวม 50.16%

 

ในส่วนการประสานแจ้งให้เอกชนเริ่มก่อสร้างโครงการฯ (NTP) คาดว่าจะสามารถแจ้ง NTP ได้ภายในปี 2567 นี้ เพื่อเริ่มก่อสร้างงานสำคัญ ๆ เช่น อาคารผู้โดยสารหลังที่ 3  อาคารเทียบเครื่องบินรอง และศูนย์ธุรกิจการค้า เป็นต้น 

 

คาดว่าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะสามารถเปิดให้บริการในปี 2572  โดยการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาฯ จะก้าวสู่ศูนย์กลางการบินระดับภูมิภาค เป็นสนามบินนานาชาติที่ได้มาตรฐานโลก รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการบิน เชื่อมโยงการท่องเที่ยวสู่ภาคธุรกิจ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และขนส่งทางอากาศแห่งภูมิภาค เพื่อสร้างความมั่นใจ และเป็นปัจจัยสำคัญดึงดูดให้นักลงทุนเข้าสู่พื้นที่อีอีซี

 

ปัจจุบันสนามบินอู่ตะเภามีดีมานด์การใช้สนามบินเพิ่มขึ้น 40% หลังโควิดแต่ยังไม่เท่ากับปริมาณการบินที่หนาแน่นในช่วงก่อนโควิด

 

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ยังกล่าวถึง อนาคตของเมืองใหม่ และความตั้งใจในการจัดการพื้นที่ EEC ในด้านต่างๆ โดยเฉพาะ การวางยุทธศาสตร์ให้สนามบินอู่ตะเภาเป็น จุดหมายปลายทางการเดินทาง ที่นักเดินทางสามารถบินมาพักผ่อนในกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ได้ที่สนามบิน เป็นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ที่มีพร้อมทั้งโรงแรม ห้างสรรพสินค้า มีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำเพื่อความบันเทิง ยกตัวอย่างสนามบินชางงีของสิงคโปร์ที่มี ห้างสรรพสินค้าอยู่ในพื้นที่ ในกรอบแนวคิด “เมืองสนามบิน” ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบในทุกมิติ ซึ่งหากสำเร็จ ก็จะรองรับการพัฒนาพื้นที่ทั้งหมดของ EEC ในอนาคต

 

และโดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์ให้อู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) ตนมองว่าคือโอกาสเพราะศูนย์ซ่อมในอาเซียนยังมีน้อย มีแค่ในมาเลเซียและสิงคโปร์ หากสำเร็จก็จะทำให้อู่ตะเภามีครบทุกด้านในการเป็นเมืองสนามบินแห่งอนาคต

 

ตรวจความคืบหน้า “สนามบินอู่ตะเภา” รอบูรณาการก่อสร้างรันเวย์เชื่อมไฮสปีด

 

โครงการทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC Model

รองนายกรัฐมนตรีฯ ภูมิธรรม และคณะ ยังได้ติดตามความความก้าวหน้า ที่วิทยาลัยเทคนิคระยอง ซึ่งเป็นสถานศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่ร่วมสนับสนุนการผลิต และพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อรองรับการจัดการศึกษายุคใหม่ตามหลัก “Demand Driven” ยกระดับพัฒนาทักษะบุคลากร สร้างกำลังคนตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในพื้นที่อีอีซี โดย อีอีซี ได้ขับเคลื่อนร่วมกับ สถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคอุตสาหกรรม

 

โดยกล่าวว่า โครงการทุนมนุษย์ตามแนวคิด EEC model นี้ ถือเป็นเรื่องสำคัญเพื่อสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาทักษะบุคลากรรองรับการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่อีอีซี โดยที่วิทยาลัยเทคนิคระยองแห่งนี้ นับเป็นสถาบันการศึกษาต้นแบบ ในพื้นที่จังหวัดระยองที่ได้เปิดสาขาการเรียนการสอนให้กับนักเรียน นักศึกษาระดับอาชีวะ ได้พัฒนาความรู้ให้เป็นบุคลากรทักษะสูง ที่จะตรงกับความต้องการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายดังกล่าวในอนาคตอันใกล้นี้ ซึ่งจะการันตีการสร้างงาน สร้างโอกาสที่ดีให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยขอให้ความมั่นใจว่าการพัฒนาอีอีซี จากนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม และภาครัฐจะผลักดันให้เกิดการลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในพื้นที่อีอีซีอย่างต่อเนื่อง