posttoday

จะดีแค่ไหนถ้าเมืองไทยมี “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์”? (1)

11 สิงหาคม 2567

ก่อนไปถึงตรงนั้น เรามาลองประเมินดูว่า มีที่ไหนในประเทศไทยที่เหมาะกับการสร้าง "เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์" หรือ "สถานบันเทิงครบวงจร" ก่อนจะไปวิวาทะกันต่อเรื่องกฎ กติกา มารยาท...การมีหรือไม่มีดีกว่าอย่างไร?

"สถานบันเทิงครบวงจรจะต้องมีสถานีรถไฟฟ้า ตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมือง ถึงโรงแรมเพื่อให้นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้สามารถใช้เวลาไปท่องเที่ยวต่อยังจังหวัดต่างๆ เพิ่มขึ้นในประเทศไทยอีก 2-3 วัน หลังจากเสร็จสิ้นการประชุม เช่น เดินทางไป ภูเก็ต หัวหิน พัทยา ระยอง และเชียงใหม่"

 

เพราะสิ่งจำเป็นที่ "สถานบันเทิงครบวงจรของไทย" จะต้องมี คือความสะดวกสบาย และง่ายในการเดินทาง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับสิงคโปร์ได้...

 

แต่ก่อนไปถึงตรงนั้น ลองประเมินดูก่อนว่า

 

พื้นที่เป้าหมายที่มีศักยภาพคาดว่า จะเป็นที่ตั้งศูนย์บันเทิงครบวงจร หรือ Entertainment complex ของไทยด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสม เช่น การเดินทางสะดวก เข้าถึงสนามบินได้ง่าย อยู่ในย่านชานเมือง มีโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รองรับแล้ว มีที่ไหนบ้าง?

 

ในกรุงเทพฯ คาดว่ามี 2 จุดคือ บริเวณท่าเรือคลองเตย (ที่เตรียมย้ายออก) และโซนมักกะสัน ที่อื่นมี สมุทรปราการ โซนบางกระเจ้า (พื้นที่ฝั่งตรงข้ามท่าเรือคลองเตย) และพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ EEC (ระยอง) ตามมาด้วยเชียงใหม่ และภูเก็ต 

 

จะดีแค่ไหนถ้าเมืองไทยมี “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์”? (1)

 

ท่าเรือคลองเตย: แผนพัฒนาท่าเรือคลองเตย สู่สมาร์ทคอมมูนิตี้สมบูรณ์แบบ

ท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) มีความพร้อมในหลายๆ ด้าน มีโครงการกำหนดแผนพัฒนาพื้นที่ในเขตรั้วศุลกากร 490 ไร่ ปรับรูปแบบเป็น Modern Port โครงการสร้างทางยกระดับเชื่อมต่อทางด่วนพิเศษ S1 ให้รถบรรทุกสินค้าเข้าออกท่าเรือโดยตรง  ส่งเสริมให้ท่าเรือกรุงเทพเป็นศูนย์กลางการให้บริการร่วมกับท่าเรือเอกชนในแม่น้ำเจ้าพระยา (Chaophraya Super Port) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ และลดปัญหาการจราจรในเขตเมือง

มีอะไรอีกในแผนที่คู่ควรสำหรับ "Complex"

 

จะดีแค่ไหนถ้าเมืองไทยมี “เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์”? (1)

 

  • โครงการ Mixed-Use Building Complex จัดสรรพื้นที่สำนักงาน (Office Areas) , พื้นที่อยู่อาศัย (Residential Areas) ศูนย์การค้า (Commercial Areas) และพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจ (Recreation Areas) อยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว
  • โครงการท่าเรือ Cruise Terminal เพื่อส่งเสริมและเชื่อมโยงกิจกรรมด้านการท่องเที่ยว เสริมสร้าง Modern Tourism Business และสนับสนุนนโยบาย Soft Power ของรัฐบาล
  • จัดตั้งเขตการค้าปลอดภาษี Duty Free/ Free Zone เพื่อส่งเสริมการจับจ่ายใช้สอยของนักท่องเที่ยวและนักธุรกิจต่างชาติ
  • Wellness Center ศูนย์สุขภาพใจกลางเมืองที่ทันสมัยและครบวงจร

 

 

ภาพ "โครงการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ย่านมักกะสัน" จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พื้นที่มักกะสัน:การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง (TOD) มักกะสันสู่ EEC Gateway 

อีกหนึ่งทำเลทองของพื้นที่ที่คาดว่าจะเป็น "เอ็นเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์" ศูนย์รวมความบันเทิงทุกรูปแบบในยุคดิจิทัล ด้วยเหตุผลต่อไปนี้

  • พื้นที่มักกะสันถูกวางบทบาทเป็นศูนย์คมนาคมของรถไฟความเร็วสูง+MRT+Airport Link+รถประจำทาง+รถยนต์ ดังนั้นพื้นที่นี้จะต้องทำหน้าที่เป็นจุดเปลี่ยนถ่ายการสัญจร
  • ถูกวางบทบาทเป็น City Air Terminal หรือสถานีรับส่งผู้โดยสารในเมือง (เพื่อลดภาระการรองรับคนและสัมภาระของสนามบิน)
  • การพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่ง (TOD) มักกะสัน เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ที่บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ได้สิทธิพัฒนาทั้งพื้นที่มักกะสันและศรีราชา
  • มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสถานีมักกะสัน ซึ่งมีพื้นที่โดยรอบราว 140 ไร่ ให้เป็น EEC Gateway เพื่อให้เกิดการพัฒนาพื้นที่ ใช้ประโยชน์ที่ดินแบบผสมผสาน (Mix-used) เป็นพื้นที่ต้นแบบเมืองอัจฉริยะ และสนับสนุนกิจการรถไฟความเร็วสูงและระบบขนส่งมวลชนระบบรางในขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก

 

ภาพจากเว็บไซต์ EEC

 

EEC (Eastern Economic Corridor) "เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก"

อีกหนึ่งตัวเลือกสำคัญทางภาคตะวันออก กับความพร้อมในสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับนักลงทุน ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐานด้านต่างๆ ที่กำลังก่อร่างสร้างขึ้นด้วยโอกาสและ "ความเป็นไปได้" มากมาย

 

EEC มี 4 โครงการหลักที่กำลังเร่งดำเนินการคือ 1.โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก 2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน 3.โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3  4. โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3

 

โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา มีเป้าหมายจะพัฒนาพื้นที่ 6,500 ไร่บริเวณสนามบินอู่ตะเภาให้เป็น “เมืองการบินภาคตะวันออก” โดย EEC วางยุทธศาสตร์ให้ เมืองการบินภาคตะวันออก ทำภารกิจสำคัญ 3 ประการคือ

  1. เป็น “สนามบินกรุงเทพฯ แห่งที่ 3”  เชื่อมสนามบินดอนเมือง และสุวรรณภูมิ ด้วยรถไฟความเร็วสูง
  2. เป็นศูนย์กลางการพัฒนาธุรกิจเป้าหมายโดยเฉพาะการเป็น “ศูนย์กลางอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และ Logistics & Aviation” ของ EEC
  3. เป็นศูนย์กลางของ “มหานครการบินภาคตะวันออก” ที่จะครอบคลุมการพัฒนาพื้นที่เมือง ประมาณ 30 ก.ม. โดยรอบสนามบิน (เมืองพัทยา ถึง ตัวเมืองระยอง) ซึ่งเป็นการสานต่อเจตนารมณ์ของการพัฒนา Eastern Seaboard ที่ต้องการให้เกิดเป็นเมืองท่าและเมืองธุรกิจสำคัญของประเทศไทย  โดยเข้าเชื่อมโยงเป็นส่วนขยายของกรุงเทพฯ และปริมณฑลไปทางตะวันออก ที่สามารถเชื่อมโยงกันได้สะดวกทั้ง ทางน้ำ (เรือและท่าเรือ) ทางบก (ทางด่วน รถไฟ และ รถไฟความเร็วสูง) และทางอากาศ (สนามบิน)

 

ภาพจากโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา https://www.uta.co.th/th

 

โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน

ล่าสุดในการลงพื้นที่ตรวจโครงการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ให้รายละเอียดโครงการรถไฟไฮสปีดฯ ว่า  ขณะนี้กำลังคุยเรื่องที่จะแก้ไขสัญญากันอยู่ เพื่อนำเข้าที่ประชุม กพอ. โดยยังติดในส่วนของเรื่องหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวนค่าก่อสร้าง 120,000 ล้านบาท ที่เอกชนคู่สัญญา คือ บริษัทเอเชีย เอรา วัน จำกัด จะต้องนำมาวาง

 

“โดยหลักการคือทางฝั่งการรถไฟฯ ได้มีการกำหนดขอบเขต ให้เอเชีย เอรา วันต้องเอาหลักประกันมาวางเต็มจำนวนเงินค่าก่อสร้าง คือเอาแบงค์การันตี มาวางก่อน รายละเอียดยังคุยกันอยู่ หลังจากนั้นก็นำเข้า ครม. อีก 2 รอบ เซ็นสัญญาแก้ไขแล้ว จึงพร้อมเริ่มการก่อสร้างได้”

 

ทั้งนี้ หลักการแก้ไขปัญหา จะอยู่บนพื้นฐานความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐ และเอกชน เป็นธรรมต่อคู่สัญญา รัฐไม่เสียประโยชน์ และเอกชนไม่ได้ประโยชน์เกินควร มีหลักการที่สำคัญ ได้แก่ การแก้ไขวิธีชำระเงินที่รัฐร่วมลงทุนในโครงการฯ (PIC) โดยรัฐจะเริ่มลงทุนเร็วขึ้นตามระยะเวลาความแล้วเสร็จของงาน และเอกชนตกลงวางหลักประกัน (Bank Guarantee) เต็มจำนวนค่าก่อสร้าง และการแก้ไขวิธีการชำระค่าสิทธิโครงการแอร์พอร์ตเรลลิงก์ (ARL) เอกชนแบ่งชำระ 7 งวด โดย รฟท. ยังคงได้รับค่าสิทธิครบจำนวน 10,671.09 ล้านบาท เอกชนรับภาระดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม และค่าใช้จ่ายทางการเงินส่วนที่เกินทั้งสิ้น

 

ขอยกมาเท่านี้ก่อนเพราะหากดูจากคุณสมบัติข้างต้นดูจะสอดคล้องกับ "ผลศึกษาการเปิดสถานบันเทิงครบวงจร" ที่ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า "พื้นที่ที่มีความเหมาะสมในการจะตั้ง Entertainment Complex จะต้องมีความพร้อมในหลายๆ ประการ เช่น ต้องอยู่ ใกล้กับสนามบิน มีระบบการขนส่งสาธารณะที่มีประสิทธิภาพ มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐาน สามารถรองรับการเข้ามาของนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนมากได้ และควรอยู่ใกล้สถานที่ที่ได้รับ ความสนใจจากนักท่องเที่ยวด้วย เช่น ศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม ศูนย์การแสดงนิทรรศการต่างๆ"

 

ตอนที่ 2 มาว่าด้วยเรื่องของ กฎ กติกา มารยาทกันต่อ...