โชว์เทคโนโลยี GIS ล้ำหน้า จำลองภาพน้ำท่วมชัดๆ แบบ 3D รับมือ “ลานีญา” มาแน่ 80%
สร้างเมืองอย่างยั่งยืนกับนวัตกรรมรับมือภัยพิบัติ Flood Simulation ฟีเจอร์เทค GIS ระบบแผนที่สุดล้ำ จำลองภาพ 3D สถานการณ์น้ำท่วมหลากหลายแบบ “ทุกความเป็นไปได้“ จากสถิติข้อมูลน้ำฝนกับข้อมูลเชิงพื้นที่
ปัจจุบันเทคโนโลยีด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Tech) ยังมีขีดจำกัดในเรื่องใดบ้าง ทุกวันนี้เราสามารถคาดการณ์ได้เพียงว่า ฝนจะตกมากตกน้อย มีพายุเข้าที่ไหน แต่เราจะรู้ไหมว่าหากฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วมขึ้นในบริเวณใดบ้าง ท่วมมาก หรือ ท่วมน้อย ในแบบที่เห็นภาพล่วงหน้าได้ชัดเจน จนสามารถเตรียมการตั้งรับได้ทัน
Esri Thailand โชว์นวัตกรรมรับมือภัยพิบัติจากวิกฤตโลกรวน และปัญหาสภาพภูมิอากาศ ในงาน Thai GIS User Conference 2024 งานแสดงเทคโนโลยีระบบแผนที่ หรือ GIS (Geographic Information System) "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์" ที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่งของไทย
งานนี้มีโชว์ 2 โซลูชันเด็ด คือ "GeoAI" ประสาน AI ทํางานร่วมกับ GIS และ "Flood Simulation" จําลองสถานการณ์น้ำท่วมจากสถิติข้อมูลน้ำฝนกับข้อมูลเชิงพื้นที่ (Geospatial Data) เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เตรียมพร้อมรับมือเชิงรุกกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธาน บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จํากัด เปิดเผยว่า ในปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขและรับมือเพื่อลดความเสี่ยงลงให้ได้มากที่สุด Esri Thailand ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี GIS และ Location Intelligence ในประเทศไทย เห็นว่าการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยให้เกิด “การทํางานแบบบูรณาการ” เป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศ หรือ ภัยพิบัติจากโลกรวน
และในส่วนของการบูรณาการเทคโนโลยีหลายๆ ด้านมาทำงานร่วมกันเพื่อสร้างโซลูชันใหม่ๆ เช่น การประสานกันระหว่างเทคโนโลยีระบบแผนที่ GIS และ AI เรียกว่า GeoAI นำเดต้าสถิติข้อมูลน้ำฝนและข้อมูลเชิงพื้นที่อันแสนซับซ้อน มาคำนวณวิเคราะห์ในระบบก่อนจำลองภาพสถานการณ์น้ำท่วม ในฟีเจอร์ Flood Simulation มาให้เห็นแบบชัดๆ เข้าใจง่าย ในรูปแบบ 3 มิติ
งานนี้ Esri จัดภายใต้ธีม 'GIS - Uniting Our World' ชูการนำเทคโนโลยี GIS เปลี่ยนความซับซ้อนของข้อมูลเชิงพื้นที่ให้เป็นภาษาที่ทุกคนเข้าใจได้
ทั้งหมดนี้ก็เพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศที่ไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ แต่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้แบบ “เห็นภาพ” และเทคโนโลยี GIS ยังสามารถนำไปปรับใช้งานยกระดับระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานด้านอื่นๆได้อีก เช่น การอัพเกรดระบบส่งไฟฟ้า การเชื่อมโยงข้อมูลเข้ากับอุปกรณ์ต่างๆ แบบเรียลไทม์ ช่วยให้สามารถยกระดับการจัดการด้านความปลอดภัย และยังสามารถประเมินเหตุขัดข้องได้ เป็นต้น
Flood Simulation จำลองภาพน้ำท่วมแบบ 3 มิติ ได้ทุกพื้นที่ในประเทศไทย คำนวณปีนี้เกิด “ลานีญา” แน่เกิน 80% แต่เป็นระดับอ่อนถึงปานกลาง
รองศาสตราจารย์ ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมเสวนาภายในงาน Thai GIS User Conference 2024 หัวข้อ “ภูมิสารสนเทศกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง: หนทางสู่โอกาสไม่ใช่ความเสี่ยง" กล่าวว่า วิกฤตโลกรวนเวลานี้ เรียกได้ว่า แล้งก็แล้งสุดๆ ท่วมก็ท่วมสุดๆ แต่ด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยี ทำให้เกิดระบบวิเคราะห์น้ำท่วม ที่คาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ในขณะที่ เทคโนโลยีปัจจุบันยังมีขีดจำกัดในการคาดการณ์สภาพอากาศรุนแรง โดยยกตัวอย่างผู้พัฒนาเทคโนโลยีแผนที่และตำแหน่งที่ตั้งยักษ์ใหญ่ของโลก ทั้ง NVIDIA และ Google ต่างก็กำลังอยู่ในช่วงทดลองการใช้งาน
นวัตกรรมรับมือภัยพิบัติจาก GIS ได้ “จำลองภาพน้ำท่วม” ให้เห็นกันแบบชัดๆ จากข้อมูลจริง ช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนจากความเสี่ยงไปสู่ความยืดหยุ่น หรือ Moving from Risk to resilience ด้วยฉากทัศน์มากมายในสถานการณ์ (scenarios) อันหลากหลายของ Flood simulation
ดร.เสรี ตอบเมื่อถามถึง ปรากฎการณ์ลานีญาในปีนี้ที่ทุกฝ่ายต่างกังวลว่า ปีนี้ “ลานีญา” มาแน่นอน โอกาสเกิดสูงมาก มากกว่า 80% เพียงแต่เป็นลานีญาระดับที่ไม่รุนแรง
“เป็นลานีญาระดับอ่อนถึงปานกลาง เพราะฉะนั้นไม่ได้กังวลน้ำท่วมใหญ่เลย แต่ถ้าบอกว่า ไม่ต้องกังวลน้ำท่วมใหญ่ ไม่ได้แปลว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ต้องเตรียมรับสถานการณ์ ตนจึงต้องสร้างภาพในเชิงว่า ถ้าฝนที่ตกเกิน 10% เกิน 20% หรือ เกิน 30% ภาพที่คุณต้องเตรียมการเป็นอย่างไร มันเป็นการบ้านที่หน่วยงานจะต้องไปทำ”
และตนได้ลองคำนวณดูแล้วว่า ฝนปีนี้ต้องตกมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติ 30% จึงจะเกิดน้ำท่วมใหญ่ ซึ่งแน่นอนในภาคเหนือหรือภาคตะวันออกเฉียงเหนือโอกาสเกิดยากมาก
“แต่ว่าเราต้องทำภาพให้เห็นว่าถ้ามันตกเกิน 30% ภาพเป็นอย่างไร หรืออย่างภาคกลางตกเกิน 20% เกิดภาพน้ำท่วมใหญ่ ประเด็นก็คือว่า ขณะนี้มันตกแค่เฉลี่ยๆ เพราะฉะนั้นโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในช่วง 3 เดือนสุดท้ายจึงน้อยมาก ฝนตกสะสมเวลานี้เท่ากับค่าเฉลี่ย เช่น ภาคกลางตัวเลขประมาณ 1,000 มิลลิเมตร ซึ่งขณะนี้ยังไม่ถึงปลายปี (ลานีญาถ้าจะเกิดก็คือในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม) แต่ว่าน้ำท่วมรอการระบายมาแน่ โอกาสที่ฝนจะตกหนึ่งวันหรือสองวันมาแน่นอนเพียงแต่ว่า น้ำท่วมใหญ่แบบน้ำหลากเข้ามา ไม่มีโอกาสเกิด”
ทั้งนี้ โอกาสท่วม ขณะนี้สูงที่สุดเทียบเคียงกับปี 2565 (เป็นลานีญาระดับปานกลาง) แต่โอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 (จัดเป็นลานีญาระดับรุนแรง) โอกาสน้อยกว่า 30%
“เทคโนโลยีช่วยคาดการณ์ฝนระยะสั้น 3 วัน มีการคำนวนปริมาณน้ำฝนในแต่ละวันแล้วสามารถจำลองภาพน้ำท่วมออกมาให้เห็นก่อนได้เลย ตอนนี้ประเทศไทยมีการพยากรณ์แค่ ฝนตกหนักให้ระวังน้ำท่วม แต่ท่วมตรงไหนบ้าง ไม่มีใครรู้ชัดเจน จนกว่าจะท่วมจริง แต่เมื่อมีการใช้เทคโนโลยีจะเห็นภาพอย่างชัดเจนว่าท่วมตรงไหน ด้วย Resolution ต่ำกว่า 1 เมตร ใส่ดาต้าข้อมูลฝน ข้อมูลน้ำเข้าไป เทคโนโลยีจะคำนวณให้เห็น”
หลักการทำงาน
GIS Enhances Understanding Changing Climate: เทคโนโลยีจัดการความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ GIS เปิดตัว ฟีเจอร์ที่ชื่อว่า Flood Simulation ในซอฟต์แวร์เป็นครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อมารับมือกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดเป็นประจําทุกปี และทวีความรุนแรงมากขึ้นจากปัญหาโลกรวน
ผ่านการวิเคราะห์แบบ What-if analysis ที่สามารถสร้างสถานการณ์สมมติได้หลากหลายรูปแบบ โดยวิเคราะห์จากข้อมูลตัวเลข ระยะเวลาฝนตก ปริมาณน้ำฝน ผนวกเข้ากับข้อมูลเชิงพื้นที่เพื่อจำลองภาพ 3 มิติออกมาให้เห็นแบบชัดๆ บนแผนที่ ช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถวางแผนรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับแต่ละพื้นที่
ที่ผ่านมามีการนําร่องใช้งานกับ อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรีแล้ว โดยนําสถิติการเกิดฝนตกเป็นข้อมูลตั้งต้น ซึ่งพบว่า สามารถจําลองสถานการณ์ได้หลายรูปแบบอย่างไม่มีข้อจํากัด ไปจนถึงการกําหนดปริมาณน้ำฝนที่แตกต่างกันในแต่ละ ชั่วโมง หรือนาที เพื่อเอามาวิเคราะห์ควบคู่กับข้อมูลเชิงแผนที่ เช่น ระดับความสูงต่ำของพื้นที่
แต่สิ่งที่เหนือชั้นไปอีกขั้นคือ ฟีเจอร์นี้สามารถจําลองเครื่องมือที่ช่วยระบายน้ำ หรือจําลองสร้างแนวกันน้ำที่จะช่วยเปลี่ยนทิศทางน้ำ ทำให้เห็นผลลัพธ์ในรูปแบบต่าง ๆ ของวิธีการจัดการน้ำได้อย่างรวดเร็ว ช่วยให้สามารถวางแผนพร้อมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในอนาคตด้วยภาพที่ทุกคนสามารถเข้าใจร่วมกันได้
เทคโนโลยีนี้สามารถรับมือกับความท้าทายด้านสภาพภูมิอากาศ หรือภัยพิบัติธรรมชาติ ได้ทั้งในเชิงรุก และเชิงรับ รวมไปถึงปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก ภัยแล้ง พายุมรสุม อากาศร้อน หรือฝุ่น PM2.5 เป็นต้น ผ่านเครื่องมือหลากหลายรูปแบบที่มาร่วมจัดแสดงภายในงาน Thai GIS User Conference 2024 ที่มีเป้าประสงค์จะเพิ่มโอกาสสร้างร่วมมือของทุกฝ่าย ทุกองค์กร ทั้งเครือข่ายภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ภายใต้ธีม “GIS - Uniting Our World"
Fact:
GIS (geographic information system) หรือ "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์" ที่ทำงานโดยการป้อนข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เช่น ภาพแผนที่ ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ตัวเลข ตัวอักษร ระยะทาง เข้าไปวิเคราะห์ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มักมีความถูกต้องแม่นยำสูง สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายด้าน
GIS มีประโยชน์หลายด้านโดยเฉพาะการจัดการสิ่งแวดล้อม การวางผังเมือง การจัดการระบบสาธารณูปโภค โดยการคำนวณหาพื้นที่บริเวณที่จะใช้งานจากภาพแผนที่ เช่นการวัดระยะทางในการสร้างถนนหรือการกำหนดจุดบนแผนที่สำหรับงานการวางท่อประปา