posttoday

CCS/CCUS ไทยและทั่วโลก ดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์จากคาร์บอนทำได้แค่ไหน?

23 สิงหาคม 2567

ปัจจุบัน โครงการ CCS ในพื้นที่แหล่งอาทิตย์ในทะเลอ่าวไทยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจลงทุน

KEY

POINTS

  • มีการคาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ได้จริงภายในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตัน/ปี
  • การปรับใช้ CCUS ทั่วโลกในอดีตที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีโครงการมากกว่า 500 โครงการที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่างๆทั่วโลก
  • การดำเนินการ CCUS สามารถจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนที่ยากต่อการลดการปลดปล่อย CO2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมหนัก 

เทคโนโลยีการดักจับ, การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เป็นเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินหรือนำไปใช้ในกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอื่นๆ

 

โดยทั่วไปจากแหล่งกำเนิดขนาดใหญ่ เช่น โรงไฟฟ้าหรือโรงงานอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลหรือชีวมวลเป็นเชื้อเพลิง โดยหลักการแล้ว ก๊าซ CO2 ที่ได้ถูกปลดปล่อยออกมาจากกระบวนการ หากไม่ได้นำใช้ประโยชน์ด้านอื่นในสถานที่นั้น จะถูกอัดและขนส่งผ่านทางท่อ เรือ รถไฟ หรือรถบรรทุก เพื่อนำไปใช้ในงานหลากหลายประเภท หรือฉีดลงไปในชั้นหินใต้ดินลึก เช่น แหล่งน้ำมันและก๊าซที่หมดแล้วหรือชั้นหินน้ำเกลือ

 

เทคโนโลยี CCUS นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตไฟฟ้าและกระบวนการอุตสาหกรรม นอกจากนี้ยังมีบทบาทสำคัญในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) โดยทำให้สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO2 ได้อย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังเป็นวิธีการในการจัดการและลดระดับก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศ ซึ่งมีความสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement)

 

 

Source: Carbon Capture, Utilization and Storage, IEA


การดำเนินการ CCUS สามารถจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคส่วนที่ยากต่อการลดการปลดปล่อย CO2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมหนัก เช่น ซีเมนต์ เหล็ก โรงไฟฟ้า หรือเคมีภัณฑ์ นอกจากนั้น ด้วยคุณสมบัติของเทคโนโลยี CCUS ยังเป็นเครื่องมือที่ทำให้สามารถผลิตไฮโดรเจนที่มีคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Hydrogen) ในต้นทุนที่ต่ำที่สุด ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการลดคาร์บอนในระบบพลังงานอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิต การขนส่งทางรถบรรทุกและทางเรือ

 

การปรับใช้ CCUS ทั่วโลกในอดีตที่ผ่านมายังไม่เป็นไปตามความคาดหวัง แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้มีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยมีโครงการมากกว่า 500 โครงการที่กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาต่างๆทั่วโลก แต่อย่างไรก็ตาม การใช้งาน CCUS ยังถือว่าต่ำกว่าที่คาดการณ์ ในกรณีที่จะบรรลุเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งหมายความว่าจำเป็นต้องมีการเร่งการพัฒนาและการใช้งาน CCUS ให้มากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว

 

ปัจจุบันมีสถานประกอบการเชิงพาณิชย์ประมาณ 45 แห่งที่ดำเนินการใช้เทคโนโลยี CCUS ในกระบวนการอุตสาหกรรม การแปรรูปเชื้อเพลิง และการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในตลาดสหรัฐอเมริกาและยุโรปได้มีการลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์สำหรับโครงการต่างๆทั่วภูมิภาค ในขณะที่ประเทศเยอรมนีและญี่ปุ่นก็มีความก้าวหน้าสำคัญในด้านกฎหมาย CCUS ในประเทศ โดยในภาพรวมมีความสามารถในการดักจับ CO2 รวมมากกว่า 50 ล้านตัน/ปี

 

สำหรับประเทศไทย มีการดำเนินการโครงการที่ชื่อว่า “โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์” (Carbon Capture and Storage: CCS) ตั้งแต่ปี 2564 ส่วนในด้านการนำมาใช้ประโยชน์ (Utilization) ยังคงอยู่ในขั้นตอนการศึกษา โครงการ CCS เป็นส่วนหนึ่งในแผนดำเนินงานที่สำคัญที่ดำเนินการโดยบริษัท ปตท. สผ. เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) สู่สังคมคาร์บอนต่ำ

 

CCS/CCUS ไทยและทั่วโลก ดักจับ กักเก็บ ใช้ประโยชน์จากคาร์บอนทำได้แค่ไหน?

 

ณ ปัจจุบัน โครงการ CCS ในพื้นที่แหล่งอาทิตย์ในทะเลอ่าวไทยได้เสร็จสิ้นขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และการศึกษาทางวิศวกรรมเบื้องต้น (Pre-FEED study) แล้ว และอยู่ระหว่างการออกแบบด้านวิศวกรรม (FEED) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจลงทุน มีการคาดการณ์ว่าจะสามารถเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS ได้จริงภายในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อย CO2 จากกระบวนการผลิตปิโตรเลียมได้ประมาณ 700,000 – 1,000,000 ตัน/ปี

 

นอกจากนั้น โครงการแหล่งอาทิตย์ยังอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS Hub Model ที่เริ่มศึกษาในพื้นที่ปฏิบัติการของกลุ่ม ปตท. จังหวัดระยองและชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้ชายฝั่ง เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของอุตสาหกรรมในกลุ่ม ปตท. และอุตสาหกรรมในพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงอยู่ระหว่างการศึกษาและพัฒนาโครงการ CCS ที่แหล่งลังเลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย SK-410B ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของมาเลเซีย

 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย Net Zero ภายในปี 2065 ประเทศไทยจำเป็นต้องมีโครงการ CCS / CCUS ให้สามารถดักจับได้ประมาณ 40 ล้านตัน/ปี

 

เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมการผลิตพลังงานมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 250 ล้านตัน/ปี หากเมื่อเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศมีการปล่อยอยู่ที่ 350 ล้านตัน/ปี ในอีกทางหนึ่ง การปลูกป่า 1 ล้านไร่ สามารถกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 2 ล้านตัน/ปี ดังนั้นเราต้องปลูกป่าให้ได้มากกว่า 100 ล้านไร่จึงจะดักจับ CO2 ได้ทั้งหมด

 

ณ ปัจจุบันไทยมีป่าอยู่ 321 ล้านไร่ จึงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากมากๆที่จะปลูกป่าเพิ่มอีก 100 กว่าล้านไร่ ดังนั้น การดำเนินการโครงการ CCS / CCUS ในประเทศไทยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบรรลุถึงเป้าหมาย Net Zero Emissions ภายในปี 2065

 

 

 


ดร.ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร