(ภาพ) ถอดรหัส ปัตตานี “Pattani Decoded 2024” รสนิยมรุ่งเรือง 4 ย่านสร้างสรรค์
ว่ากันว่ารสนิยมการแต่งกายของชาวปัตตานีรุ่นใหม่งอกงามมาจากตลาดเสื้อผ้ามือสองและดนตรีร็อคเมทัล ย่านการค้าที่เจริญรุ่งเรือง ชุมชนเก่าแก่ในประวัติศาสตร์ ใน 4 ย่านแสดงงานสร้างสรรค์ของเทศกาล “ปัตตานีดีโคตร“ ที่กำลังเปล่งประกายอยู่ใต้ฟ้าสีครามสดใสของคาบสมุทรมลายู
คาบสมุทรมลายูมีกลิ่นอายและบรรยากาศเฉพาะสุดๆ สำหรับผู้มาเยือน
4 ย่านของงาน "Pattani Decoded 2024" (ปีที่ 2) กำลังบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองแบบ Unparalleled ควบคู่ไปในวิถีดั้งเดิมกับวิถีของชาวปัตตานีรุ่นใหม่ ทั้งปัตตานีภิรมย์ ถนนปรีดา ตลาดเทศวิวัฒน์ และชุมชนเก่าแก่ "จะบังติกอ"
เริ่มจาก "ปัตตานีภิรมย์" ถนนสายเล็กๆ ที่เป็นเหมือนกระดูกสายหลัก ย่านของคนจีน ย่านการค้าที่เคยรุ่งเรือง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของร้านกาแฟ อาคารสถานที่แสดงงานภาพเขียน ภาพถ่าย งานฝีมือ งานคราฟท์ ที่กำลังอวดตัวอย่างรื่นเริงอยู่ในงาน Pattani Decoded 2024 ระหว่างวันที่ 24 สิงหาคม - 1 กันยายน 2024 นี้
ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของกลุ่ม Malayu Living ในอาคารสองห้อง ที่กำลังจะกลายเป็นที่ทำการของศูนย์สร้างสรรค์และการออกแบบปัตตานีหรือ TCDC Pattani ในอนาคตอันใกล้
กลุ่มมลายูลิฟวิ่งร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA กำลังขาย แบรนด์ Made In Pattani สู่โลกกว้าง จะมีอะไรบ้างนั้น โพสต์ทูเดย์จะนำมาเล่าให้ฟังอีกหลายตอน และแน่นอนหนึ่งในย่านวาณิชย์แห่งนี้มีร้านซ่อมพระในตำนานอย่างหย่งชางตั้งอยู่ และงานนี้ก็มีศิลปินสายสถาปัตย์อย่างโก้-ชูโชติ เลิศลาภ เจ้าของกิจการที่กลายมาเป็นช่างซ่อมพระและเทวรูปเต็มตัวมาบอกเล่าเรื่องราวการเดินทางใน 77 จังหวัดให้เราฟังและที่ไม่ธรรมดาก็คืองานนี้ CEA เขาจัดให้ x กับศิลปินร่วมสมัยอย่าง TRK
ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน Pattani decoded 2024 อธิบายให้เราฟังถึงนิทรรศการที่แสดงถึง “ความไร้เทียมทาน” แบบ Unparalleled ว่ามันมีรากฐานที่มาจากวิถีที่ขนานไปกับเส้นทางของศาสนาในแบบฉบับของชาวมุสลิม การแต่งกายที่พร้อมจะสลับสับเปลี่ยนจากจารีตโบราณในมัสยิดเก่าแก่ไปสู่อีกด้านของรสนิยมสตรีทสไตล์ ทั้งพังค์ เมทัล ป๊อบและรสนิยมทางดนตรีที่ผสมผสานจนเกิดเป็นความเท่แบบ "วัยรุ่นปัตตานี" และทำให้เมืองมีบรรยากาศในแบบที่ไม่อาจหาได้ในที่อื่นของโลก
ที่นี่ยังมีนิทรรศการภาพถ่ายฮิญาบ การเดินทางของจิตวิญญาณของผู้หญิงมุสลิมที่เลือกอำพรางเรือนผมสวยไว้ใต้ผ้าคลุมอย่างลึกซึ้งและเปี่ยมไปด้วยศิลปะ มีการแสดงแนวคิดของเครื่องแต่งกาย Unparalleled ที่นำมาแสดงให้เห็นแบบตัดกันชัดเจนในรูปแบบ ชีวิตทั้งสองด้าน ศาสนาและตัวตนในโลกแฟชั่น มีงานแสดงภาพเขียน Installation งานศิลปะ งานคราฟ์อีกมากมายที่มาอวดโฉมและคอนเส็ปต์กันอย่างครึกครื้น ไม่น่าเชื่อว่าคลังสมบัติแห่งความคิดสร้างสรรค์จะมีมากมายถึงเพียงนี้ ไม่เชื่อต้องรีบเดินทางไปชมด้วยตาตัวเอง
จากปัตตานีภิรมย์ มีอะไรอีกที่ “ถนนปรีดา” ย่านที่เคยคึกคักทั้งในเวลากลางวันและกลางคืนเคยเป็นที่ตั้งของวิกคิงส์โรงหนังชื่อดังและโรงหนังอีกหลายโรงที่ตั้งอยู่ในละแวกเดียวกันปรีดาเคยเป็นย่านที่ชุมนุมของช่างตัดเสื้อและร้านถ่ายรูปซึ่งอยู่คู่เมืองมากกว่า 70 ปี ก่อนจะเข้าสู่ยุคเงียบเหงาอย่างที่เรารู้กัน แต่ในวันนี้ปัตตานีเจนใหม่กำลังปลุกมันขึ้นมาอีกครั้งให้เปรมปรีดาสมชื่อ กลายเป็นย่านสุดฮิปของวัยรุ่นปัตตานีที่หากคุณหลงเดินเข้ามาตอนค่ำๆ อาจลืมไปว่าครั้งหนึ่งที่นี่เคยเงียบสนิท ทุกบานประตูปิดตัวราวกับไม่รับรู้ความเคลื่อนไหวของโลก แต่วันนี้ราวกับโลกทั้งใบพร้อมจะผ่านมาทางนี้ เพื่อพบกับไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ร้านเสื้อยืด มือหนึ่งมือสอง ร้านงานวิเทจ เครื่องประดับ หมวก ไปจนถึงร้านเครื่องดื่ม น้ำผลไม้ อิตาเลียนโซดา และพันซ์แบบต่างๆ
และที่นี่ก็มีโรงแรมชื่อแปลกซ่อนตัวอยู่ชื่อว่า “โรงแรมจงอา” เดิมชื่อว่า โรงแรมปรีดาตามชื่อถนน เปิดมาตั้งแต่ก่อนปี 2500 จุดเริ่มต้นเป็นเพียงเพิงขายกาแฟเล็กๆ จนธุรกิจเติบโตกลายเป็นโรงเตี๊ยมเบอร์หนึ่งของเมือง ก่อนจะเกิดจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญจากเหตุไฟไหม้ในเมืองทำให้ธุรกิจสูญสลายไปในพริบตา แต่ด้วยความใจสู้และความช่วยเหลือจากผู้คนในย่านทำให้เจ้าของกิจการลุกขึ้นสู้ทำธุรกิจโรงแรมอีกครั้งในปี 2502 แล้วตั้งชื่อใหม่เป็นโรงแรมจงอา คนมีชื่อเสียงที่เคยมาพักที่โรงแรมแห่งนี้ก็มี สุรพล สมบัติเจริญ และพุ่มพวง ดวงจันทร์
ตลาดเทศวิวัฒน์ หรือ ตลาดไกล อดีตศูนย์ความเจริญของเมืองปัตตานี นอกจากจะเป็นตลาดตลาดสดแล้วยังเป็นแหล่งร้านทองและแหล่งขายผ้า เป็นจุดจอดรถโดยสารสาธารณะเกือบทุกสายที่วิ่งเข้ามาในเมืองปัตตานี แม้จะยังทำหน้าที่ตลาดสดอย่างไม่ขาดตกบกพร่องในปัจจุบันแต่ความเป็นศูนย์กลางก็ค่อยๆ กระจายตัวไปยังย่านอื่น ตามการขยายตัวของเมือง
จะบังติกอ แปลว่า สามแยก มีแม่น้ำปัตตานีไหลผ่าน ชุมชนเก่าแก่ที่เคยเป็นที่ตั้งของวังเจ้าเมืองปัตตานี อดีตปัจจุบันและอนาคตยังบรรจบกันอยู่ที่สามแยกแห่งนี้เรื่องราวของมัสยิดรายอจารีตและขนบความเป็นมลายูน่าสนใจที่งาน Pattani Decoded เลือกย่านแห่งนี้เป็นที่เปิดงานในบริเวณด้านหน้าของมัสยิดเก่าแก่อย่างมัสยิดรายอ แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและการบรรจบกันระหว่างความคิดของคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ที่กำลังขยับขับเคลื่อนตัวเองสู่โลกภายนอกมากขึ้น
ที่นี่มีตลาดที่ขายอาหารพื้นถิ่นมากมายทั้งทอดมันปลาแบบปัตตานี ขนมมาดู ฆาตง และอาหารทั่วๆไปมาออกร้านกันอย่างครึกครื้น
มัสยิดรายอเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของปัตตานีกำลังจะครบรอบ 180 ปีในปีหน้า
ที่นี่เท่แบบเงียบๆ กับนิทรรศการแสงในช่วงค่ำคืน การแสดงไม้แกะสลักเก่าแก่ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นฐานที่ตั้งของหลังคามัสยิด ลวดลายดอกชบาอ่อนช้อย ขับเน้นประวัติศาสตร์ผ่านแสงเงาได้อย่างลึกซึ้งในความเงียบสงบของสถานที่แห่งศรัทธา
ทั้งหมดนี้กำลังบอกเล่ากล่าวขานตำนานของตัวเองอยู่ภายในย่านงานทั้ง 4 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคมนี้
Fact:
ปัตตานีเป็นหนึ่งในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลตะวันออกของภาคใต้สุด ติดกับทะเลจีนใต้ อยู่ห่างจากกรุงเทพโดยทางรถยนต์ประมาณ 1,055 กิโลเมตร หรือ 1,025 กิโลเมตรโดยทางรถไฟ
มีประชากร 700,000 กว่าคน และมีแม่น้ำที่สำคัญ 2 สาย คือ แม่น้ำปัตตานีและแม่น้ำสายบุรี