posttoday

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

01 กันยายน 2567

"กรมเจ้าท่า" เริ่มศึกษาความเหมาะสมและสำรวจแบบโครงการ "ท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่" ใน 3 จังหวัดหลัก ตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางจอดแวะพัก สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ที่สุดในโลก เพิ่มรายได้การท่องเที่ยวทางทะเล ประเดิมปีนี้ ครม.อนุมัติ "เกาะสมุย" เป็นโครงการแรก

ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิศาสตร์เส้นทางการท่องเที่ยวทางทะเลระหว่างประเทศที่สำคัญ และมีศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเรือสำราญ โดยจากข้อมูลปี 2561 ช่วงก่อนสถานการณ์โควิด-19 พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนเรือสำราญเข้ามาแวะพักจอดมากเป็นอันดับที่ 3 ของภูมิภาคเอเชีย จำนวน 581 เที่ยวต่อปี อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 14%

 

โดยมีท่าเทียบเรือหลักที่รองรับ ได้แก่ ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือเกาะสมุย และท่าเรือภูเก็ต นอกจากนี้ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) ประเมินว่า ในปี 2566 ไทยจะมีจำนวนเรือสำราญเข้าสู่ประเทศ ไม่น้อยกว่า 156 ลำ ซึ่งคาดว่าจะสร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

รัฐบาลโดยกรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคม เริ่มเดินหน้าโครงการเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ จำนวน 3 โครงการ ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือผ่านประเทศไทย ทั้งในเส้นทางเดินเรือฝั่งอันดามัน และเส้นทางฝั่งอ่าวไทย โดยมีความคืบหน้าโครงการ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2566 ดังนี้ 

 

  • 1) โครงการศึกษาและวิเคราะห์การให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ ที่ อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันมีความก้าวหน้าของผลการศึกษาแล้ว 80% 
  • 2) โครงการศึกษาวางแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ และสำรวจออกแบบท่าเรือสำราญขนาดใหญ่บริเวณชายฝั่งอันดามัน ทำการศึกษาแนวทางปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต โดยมีความก้าวหน้าแล้ว 50% 
  • 3) โครงการศึกษาสำรวจออกแบบ ท่าเรือต้นทาง (Home Port) สำหรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณอ่าวไทยตอนบน มีความก้าวหน้าแล้ว 60% และได้ข้อสรุปที่เหมาะสมในการพัฒนาท่าเรือบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี 

 

โดยกรมเจ้าท่า ประเมินว่า ทั้ง 3 โครงการจะแล้วเสร็จและเริ่มเปิดให้บริการท่าเรือได้ภายในปี 2571 ซึ่งจะส่งผลให้มีจำนวนเรือสำราญแวะเข้าเทียบท่ามากขึ้น และสามารถจอดท่องเที่ยวในไทยนานขึ้น สร้างเม็ดเงินและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจจากเดิมไม่น้อยกว่า 7 - 8 เท่า

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

ล่าสุดโครงการท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ใน 3 จังหวัดดังกล่าว กรมเจ้าท่าได้เริ่มว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาความเหมาะสมและสำรวจออกแบบท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท และได้รับจัดสรรงบประมาณปี 2563 - 2566 ภายใต้แผนงานบูรณาการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยว วงเงินรวม 156.15 ล้านบาท

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

แผนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ มีจำนวน 3 โครงการ ได้แก่

 

1. โครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี

 

โครงการนี้จะใช้พื้นที่ในการพัฒนาประมาณ 47 ไร่ แยกเป็นพื้นที่บนฝั่ง 15 ไร่ และพื้นที่นอกชายฝั่ง 32 ไร่ รวมมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 12,172 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายในการลงทุน 6,414.41 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา 5,757.19 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนในลักษณะ PPP Net Cost โดยให้เอกชนเป็นผู้ร่วมลงทุนในการก่อสร้างและการดำเนินงานทั้งหมด โดยรัฐจะชำระค่าลงทุนโครงสร้างพื้นฐานคืนให้ในระยะเวลา 10 ปี

 

โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2568 จนถึงปี 2604 โดยเริ่มก่อสร้างในปี 2572 และจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี  2575 ซึ่งมีระยะเวลาการให้บริการยาวนานถึง 30 ปี คาดการณ์ว่าหลังจากเปิดให้บริการจะสามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้ตั้งแต่ 200,000 ถึง 400,000 คนต่อปี และรองรับเรือสำราญได้ 240 เที่ยวต่อปี

 

จากการศึกษาโครงการฯ คาดว่าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เกาะสมุยจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลา 30 ปี ประมาณ 46,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีอัตราผลตอบแทนทางเศรษฐศาสตร์สูงกว่า 15%

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

สถานะโครงการปัจจุบันกรมเจ้าท่าได้ส่งรายงานผลการศึกษา ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) พิจารณาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำโครงการเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ก่อนสิ้นปี 2567 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 2572 เมื่อโครงการนี้เสร็จสิ้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพการท่องเที่ยวของประเทศไทยในระดับโลก ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ สร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน

 

2. โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต เพื่อรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal)

 

โครงการนี้จะปรับปรุงท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตให้สามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ บริเวณชายฝั่งอันดามัน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปลายปี 2567 โดยจะดำเนินการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกภูเก็ต ด้วยการขยายความยาวหน้าท่าเทียบเรือ ขุดลอกความลึกของร่องน้ำเท่ากับ -10.5 เมตร จากระดับน้ำลงต่ำสุด หรือ -12.8 เมตร เทียบกับระดับน้ำทะเลปานกลาง

 

นอกจากนี้ จะขุดลอกเพื่อขยายแอ่งกลับลำเรือให้มีความเหมาะสม ก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นและติดตั้งไฟหัวเขื่อน และก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารและเครื่องมืออุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐานของท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) โดยเมื่อท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตได้รับการปรับปรุงตามแผนดังกล่าว จะทำให้ท่าเรือน้ำลึกภูเก็ตมีศักยภาพเป็นท่าเรือแบบ Hybrid ที่เป็นทั้ง Home Port รองรับเรือ Cruise ขนาดกลางถึงเล็ก และเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of call) รองรับเรือ Cruise ขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียที่บรรทุกผู้โดยสารได้ถึง 4,200-4,900 คน
 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

3. โครงการพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) บริเวณอ่าวไทยตอนบน บริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

 

โครงการจะพัฒนาบริเวณแหลมบาลีฮาย เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี โดยท่าเรือเป็นลักษณะผสมผสาน (Hybrid) โดยจะเป็นท่าเรือต้นทาง (Home Port) สามารถรองรับผู้โดยสารได้ 1,500 คนต่อชั่วโมง และท่าเรือแวะพัก (Port of Call) จะสามารถรองรับผู้โดยสาร จำนวน 3,500 - 4,000 คนต่อชั่วโมง

 

อีกทั้งท่าเรือนี้จะพัฒนาให้สามารถรองรับเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้ รองรับเรือสำราญเข้าเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร พร้อมก่อสร้างอาคารพักผู้โดยสาร อีกทั้งจะพัฒนาที่จอดรถยนต์ เพื่อรองรับการเชื่อมต่อทางบกไปยังแหล่งท่องเที่ยว พัฒนาที่จอดเรือโดยสาร และเรือเร็ว เพื่อเชื่อมต่อการท่องเที่ยวไปยังเกาะแก่งต่างๆ

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

สำหรับผลการศึกษาเบื้องต้น ประเมินวงเงินลงทุนอยู่ที่ 7,412 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าลงทุนก่อสร้าง 5,934 ล้านบาท และค่าดำเนินงานและบำรุงรักษา (O&M) 1,478 ล้านบาท โดยกรมเจ้าท่าจะเปิดให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP Net Cost สัญญาสัมปทาน 30 ปี คาดว่าจะเริ่มเปิดประมูลภายในปี 2568 ก่อนดำเนินการก่อสร้างภายในปี 2569 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดว่าจะเปิดให้บริการภายในปี 2572ซึ่งท่าเรือพัทยา จะถูกออกแบบให้เป็นผสม (Hybrid) เป็นทั้ง Home Port และ Port of Call เพื่อให้พัทยาได้ประโยชน์สูงสุด

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

รูปแบบการลงทุน

เป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐเอกชน (PPP)

- ภาครัฐ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ท่าเทียบเรือ และทางเข้า มูลค่า 5,534.56 ล้านบาท (66%)

- เอกชนอาจ ลงทุนในส่วนของอาคารผู้โดยสาร และสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ มูลค่า 1,877.66 ล้านบาท (34%) เครื่องมือและอุปกรณ์และบริหาร 30 ปี ซึ่งจากการศึกษา มีอัตราผลตอบแทน 20% ระยะเวลาคืนทุนเท่ากับ 10 ปี

 

สำรวจ 3 โครงการท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ 3 จังหวัดหลัก โอกาสการท่องเที่ยวทางทะเล

 

ข้อมูลจาก SCI EIC brief ระบุใน Cruise Terminal…ก้าวสำคัญสู่การเป็นฮับท่องเที่ยวเรือสำราญของไทย ว่า

การท่องเที่ยวเรือสำราญเป็นรูปแบบการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวได้เร็วและมีโอกาสเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

เนื่องจากนักท่องเที่ยวกลุ่มหลักคือชาวอเมริกัน (15%) และยุโรป (8%) ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อและยังเป็นประเทศกลุ่มแรก ๆ ที่ประกาศเปิดประเทศ จึงทำให้การท่องเที่ยวเรือสำราญฟื้นตัวได้เร็วสอดคล้องกับข้อมูลของ Royal Caribbean Cruise ที่ยอดการจองกลับมาเทียบเท่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 แล้วในเดือนตุลาคม 2022 แม้จะเผชิญกับภาวะเงินเฟ้อก็ตาม อีกทั้ง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังมีความต้องการท่องเที่ยวสูง สะท้อนจากผลสำรวจของ Cruise Lines International Association (CLIA) ในเดือนกันยายน 2022 พบว่า 90% ของนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยเรือสำราญในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจะกลับมาท่องเที่ยวอีกครั้ง และ 66% ของนักท่องเที่ยวที่ไม่เคยท่องเที่ยวเรือสำราญจะเปิดรับการท่องเที่ยวรูปแบบนี้มากขึ้น ส่งผลให้ตัวแทนด้านการท่องเที่ยวต่างแข่งกันนำเสนอแพ็กเกจ Fly-Cruise โดยเส้นทางยอดนิยมยังคงเป็นทะเลแคริบเบียนตามด้วยเมดิเตอร์เรเนียน และเอเชีย 

 

ท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญของ EEC ตามแผนการพัฒนาและส่งเสริมการท่องเที่ยว

 

ที่ตั้งของท่าเทียบเรือ สิ่งอำนวยความสะดวกและบริการ รวมถึงการเปิดโอกาสให้บริษัทเรือสำราญเข้ามาลงทุนเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ท่าเทียบเรือสำราญประสบความสำเร็จ

 

ที่ผ่านมา Marina Bay Cruise Centre ของสิงคโปร์ถูกเลือกให้เป็นท่าเทียบเรือหลัก (Home port) ของภูมิภาคและถือเป็น 1 ใน 3 ท่าเทียบเรือสำราญที่สำคัญของโลก ด้วยทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง Marina Bay Sands ที่มีทั้งโรงแรม ช้อปปิ้งเซ็นเตอร์ และกาสิโน อีกทั้ง ยังอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทำให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปพื้นที่ใกล้เคียงได้สะดวก ประกอบกับความพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ได้มาตรฐานสามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ 2 ลำในเวลาเดียวกัน รวมถึงการให้บริการ Sea to Air ทั้งการ Check-in และการขนย้ายกระเป๋าเดินทางจากท่าเทียบเรือไปสนามบิน

 

นอกจากนี้ ท่าเทียบเรือที่ประสบความสำเร็จยังเกิดจากการที่รัฐบาลเปิดโอกาสให้บริษัทเรือสำราญเข้ามาลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือหลัก อย่างเช่น PortMiami ที่รัฐบาล Miami เปิดให้ Royal Caribbean Cruise เข้ามาลงทุนพัฒนาท่า Terminal A ซึ่งทำให้ท่านี้กลายเป็นท่าเทียบเรือหลักของบริษัทและยังเป็นท่าเทียบเรือสำราญที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ และ Royal Caribbean Cruise ยังมีแผนลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือสำราญในอีกหลายพื้นที่อย่าง Ravenna ในอิตาลี และ St. Thomas ใน U.S. Virgin Islands ซึ่งจะทำให้ท่าเทียบเรือดังกล่าวกลายเป็นหนึ่งในท่าเรือหลักของบริษัทในอนาคต

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม: ศูนย์ฝึกพาณิชย์นาวี

แผนการจัดทำแผนปฏิบัติการ การพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise) เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอันดามัน