posttoday

City Transportation: การเดินทางของรถไฟ 4 ยุคสมัยในภาพเดียว

02 กันยายน 2567

ภาพประดิษฐ์จาก AI ทำให้เราได้เห็นการเดินทางของ “รถไฟไทย“ ในยุคต่างๆ อย่างครบครัน ในยุคที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้ บางสิ่งยังอยู่คู่บ้านคู่เมืองอย่างคลาสสิค ผสมผสานกันอย่างลงตัวบนจุดตัดในมหานครที่มีพลวัตตลอดเวลา

ศตวรรษที่ 21 กรุงเทพมหานคร ยังมีขบวนรถไฟจากสมัยสงครามโลก ให้เห็นแบบกระจะตาร่วมกับรถไฟรุ่นลูกหลานอีกสี่ห้าขบวน จุดตัดบนเส้นขนานของยุคสมัยในกลางเมือง เป็นภาพที่หาดูได้ยาก ถ้าไม่ได้ AI มาช่วยเสริมให้เห็นภาพชุดนี้โดยช่างภาพที่ใช้นามในโซเชียลว่า Aekachai Wanson

 

ภาพโดย Aekachai Wanson สถานที่ถ่ายภาพ แยกหัวหมาก สถานีรถไฟหัวหมาก จุดเชื่อมรถไฟสามสาย


วันนี้เรามาสำรวจภาพนี้กันว่า มีขบวนรถไฟจากยุคไหนรวมอยู่บ้าง เริ่มจาก

 

คุณปู่ "รถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิค" หมายเลข 824 และ 850

เป็นรถจักรไอน้ำที่ ถูกใช้การหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เพื่อทดแทนรถจักรที่เสียหายจากสภาวะสงคราม และนับเป็นการสั่งรถจักรไอน้ำเข้ามาใช้งานเป็นครั้งสุดท้ายของการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย รถจักรรุ่นนี้ถูกสร้างขึ้นมาจำนวน 30 คัน (หมายเลข 821-850) ระหว่าง พ.ศ.2592-2493 โดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งประเทศญี่ปุ่น มีการจัดวางล้อแบบ 4-6-2 เรียกว่า “แปซิฟิค” คือ มีล้อนำ 4 ล้อ – ล้อกำลัง 6 ล้อ – ล้อตาม 2 ล้อ ใช้สำหรับลากจูงขบวนรถที่ใช้ความเร็ว น้ำหนักน้อย

 

รถจักรไอน้ำแบบแปซิฟิค หมายเลข 824 และ 850 / ภาพ: Wikipedia

 

ชื่อทางการ รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิค (Japan Pacific Steam Locomotive) (SRT Class Steam Locomotive) ส่วนใหญ่เรียกว่ารถจักรนี้ว่า รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิค เป็นชุดรถจักรไอน้ำสุดท้ายของการรถไฟแห่งประเทศไทย และเป็นรถจักรไอน้ำไทยคันแรกของประเทศไทย

 

สร้างโดยสมาคมอุตสาหกรรมรถไฟแห่งญี่ปุ่น ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2485 - พ.ศ. 2502 รถจักรไอน้ำรุ่นนี้มีทั้งหมด 45 คัน จุดประสงค์หลักของรถจักรไอน้ำที่ถูกออกแบบและสร้างขึ้นเพื่อใช้ในการลากจูงขบวนรถไฟโดยสารเช่น ขบวนรถด่วน ขบวนรถธรรมดา ขบวนรถเร็ว เป็นต้น ปัจจุบัน รถจักรไอน้ำญี่ปุ่นแปซิฟิค เหลือส่วนห้องขับทั้งหมด 2 ห้องที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ของหมายเลข 823 และ 841 และเหลือการใช้งาน 2 คัน คือหมายเลข 824และ 850 ซึ่งจะวิ่งในวันสำคัญต่างๆ


 

รถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอม เอเอชเค (AHK) / ภาพ: Wikipedia

 

ตามมาด้วยสิ่งที่เราคุ้นตากันดีตั้งแต่ปี 2523 รถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอม เอเอชเค (AHK) เป็นรถจักรดีเซลไฟฟ้าประเภทหนึ่งของการรถไฟแห่งประเทศไทย สั่งซื้อจากบริษัทอัลสตอม (Alstom) ประเทศฝรั่งเศส ผลิตโดยบริษัท Henschel และ Krupp ประเทศเยอรมนี  

 

AHK มาจากชื่อของทั้งสามบริษัท ที่กลายเป็นตัวย่อของชื่อเรียกรถจักรรุ่นนี้ หมายเลขรถ 4201 - 4230 รวมจำนวนรถทั้งสิ้น 30 คัน เข้าประจำการตั้งแต่ พ.ศ. 2523 จนถึงปัจจุบัน มีจำนวนรถประจำการล่าสุด 27 คัน ปลดระวางแล้ว 3 คัน

 

รู้หรือไม่

รถจักรดีเซลไฟฟ้าอัลสตอม เอเอชเค (AHK) หมายเลข 4203 4213 4216 4223 และ 4230 เป็นรถจักรที่มีการหุ้มเกราะกันกระสุน

 

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT Yellow Line) / ภาพ: Wikipedia

 

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT Yellow Line)

ชื่อเต็มๆ แบบเป็นทางการ รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ (ลาดพร้าว–ศรีนครินทร์–สำโรง) - Metropolitan Rapid Transit Nakkhara Phiphat Line หรือ รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง (MRT Yellow Line)

 

ชื่อ นัคราพิพัฒน์ เป็นชื่อที่พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานเพื่อเป็นชื่ออย่างเป็นทางการของโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง มีความหมายว่า "ความเจริญแห่งเมือง" โดยกระทรวงคมนาคมเป็นผู้รับมอบนามเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2567

 

เส้นทางสายนี้เกิดขึ้นครั้งแรกใน พ.ศ. 2543 โดยเป็นการรวมเส้นทางระบบขนส่งมวลชนรองช่วงรัชโยธิน–ศรีเอี่ยม และสำโรง–ศรีสำโรง ให้เป็นเส้นทางเดียวกัน แต่ได้ถูกนำออกไปเมื่อครั้งปรับปรุงแผนแม่บทปี พ.ศ. 2547 และนำกลับมาอีกครั้งในการปรับปรุงแผนแม่บท พ.ศ. 2549 โดยพิจารณาแยกเส้นทางออกเป็นสองช่วง 

 

ช่วงแรกให้เป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวตั้งแต่รัชดา-ลาดพร้าว จนถึงพัฒนาการแล้วเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้ารางหนักไปจนถึงสถานีสำโรง

 

ใน พ.ศ. 2551 ได้มีการปรับปรุงเส้นทางสายสีเหลืองให้เป็นรถไฟฟ้าวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ก่อนปรับปรุงใหม่อีกครั้งใน พ.ศ. 2553 โดยลดเส้นทางเหลือเพียงช่วงลาดพร้าว–สำโรง และให้ดำเนินการเป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยวทั้งสาย

 

รู้หรือไม่

รถไฟฟ้ามหานคร สายนัคราพิพัฒน์ เป็นระบบรถไฟฟ้าที่มีโครงสร้างเป็นทางยกระดับเหนือพื้นดินตลอดโครงการ ดำเนินการโดย บริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด บริษัทร่วมค้าของกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ที่มี บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ที่ได้รับสัมปทานโครงการในการร่วมทุนก่อสร้างและดำเนินการเชิงพาณิชย์ หรือ PPP-Net Cost ภายในกรอบระยะเวลา 33 ปี 3 เดือน จากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย 

 

มีระยะทางรวม 30.4 กิโลเมตร มีแนวเส้นทางพาดผ่านพื้นที่กรุงเทพมหานครฝั่งตะวันออก ตลอดจนพื้นที่ส่วนเหนือของจังหวัดสมุทรปราการ เริ่มต้นเส้นทางจากบริเวณแยกรัชดา-ลาดพร้าว วิ่งไปทางทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครตามแนวถนนลาดพร้าว จนถึงบริเวณแยกบางกะปิแนวเส้นทางจะมุ่งลงทิศใต้ตามแนวถนนศรีนครินทร์และเข้าเขตจังหวัดสมุทรปราการ จนถึงแยกศรีเทพาแล้วแนวเส้นทางจะเบนไปทางทิศตะวันตกตามแนวถนนเทพารักษ์ ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีสำโรง

 

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ / ภาพ: Wikipedia

 

รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์

โครงการระบบขนส่งมวลชนทางรถไฟเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และสถานีรับ-ส่งผู้โดยสารอากาศยานกรุงเทพมหานคร, รถไฟฟ้าเอรา วัน ซิตี้ (AERA1 CITY) หรือ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ (Airport Rail Link) เป็นโครงการระบบขนส่งมวลชนแบบพิเศษ 

 

เดิมอยู่ในโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าในระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงอ่อน ช่วงตลิ่งชัน - ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานครและพื้นที่ต่อเนื่อง ภายหลังรัฐบาลได้นำโครงการนี้มาเป็นโครงการเร่งด่วนและแยกการก่อสร้างต่างหากจากระบบรถไฟฟ้าชานเมือง ดำเนินการก่อสร้างโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

 

เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อ พ.ศ. 2553 โดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจในกระทรวงคมนาคม ต่อมาได้มีการโอนกิจการทั้งหมดให้กับ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2564 เพื่อรวมเส้นทางสายนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

 

รู้หรือไม่

ในระยะแรก รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ว่าจ้าง "ด็อยท์เชอบาน" เป็นผู้เดินรถชั่วคราวเนื่องจากไม่มีประสบการณ์ โดยเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย 

 

ด็อยท์เชอบาน (Deutsche Bahn, DB AG, DBAG หรือ DB) แปลว่า การรถไฟเยอรมัน เป็นรัฐวิสาหกิจของประเทศเยอรมนี มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเบอร์ลิน เป็นบริษัทเดินรถไฟรายใหญ่อันดับสองของโลกและอันดับหนึ่งของยุโรป โดยมีผู้โดยสารกว่าสองพันล้านเที่ยวคนต่อปี