posttoday

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”

04 กันยายน 2567

คุยกับ “ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) เรื่องการสร้างแบรนด์เมือง - City Branding ก้าวต่อไปของภารกิจการขับเคลื่อนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์

การเดินทางของ "พื้นที่เมืองสร้างสรรค์" เมื่อความภาคภูมิใจในรสนิยมได้เปล่งประกาย

เทศกาลงานออกแบบสร้างสรรค์ Pattani Decoded เทศกาลเชื่อมต่อให้เห็นศักยภาพของปักษ์ใต้ จากปักษ์ใต้ดีไซน์วีค (Pakk Taii Design Week) สู่ Pattani Decoded จบลงไปแล้วอย่างงดงาม สำเร็จเสร็จสมบูรณ์อย่างน่าภาคภูมิใจ เป็นที่น่าจดจำ แน่นอนว่ามันจะไม่จบลงเพียงเท่านี้ แค่เพียง 1 สัปดาห์ที่ผ่านไป แต่ Ultimate Goal หรือ เป้าหมายสูงสุดตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้หลังจากนี้ต่างหาก คือเป้าหมายที่แท้จริง

 

ความคาดหวังของหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงอย่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA ที่ร่วมกับพาร์ทเนอร์ นักออกแบบ นักสร้างสรรค์ ศิลปิน ภาคเอกชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการในพื้นที่ ชุมชน มัสยิด ผู้คนอีกมากมาย ที่เสกสรรค์ปั้นแต่งนครปัตตานีให้เจิดจ้าและจัดจ้านในย่านนี้ เพื่อให้แบรนด์ Made in Pattani ไม่เป็นรองใครในโลก และยังส่งต่อข้อความสำคัญในมิติต่างๆ ของพื้นนี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ต่อไปในนามของ พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์

 

“ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)

 

วันนี้โพสต์ทูเดย์มาหาคำตอบอย่างสร้างสรรค์กับนักขับเคลื่อนเมืองสร้างสรรค์กับ “ชาคริต พิชญางกูร” ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) ที่โพสต์ทูเดย์ได้มีโอกาสพูดคุยกันในงาน "ปัตตานีดีโคตร" ที่ผ่านมาในเรื่องของแนวคิดอย่างมี "รสนิยม" หรือเทรนด์ของงานออกแบบสร้างสรรค์ Pattani Decoded

 

คิดว่าเทรนด์และเทสต์ (รสนิยม) ของชาวปัตตานีเกิดจากอะไร CEA มองเห็นอะไรที่นี่

ผมคิดว่าเกิดจากการที่เขาไปเรียนรู้จากต่างประเทศ หรือจากสื่อต่างๆ ทั่วโลก มันจึงเกิดเทรนด์ พูดง่ายๆ คือเกิดเทสต์ที่เป็นโกลบอลมากขึ้น ผมมองว่ามันคือการหยิบอัตลักษณ์ของบ้านเราขึ้นมาแล้วเอาความเป็นโกลบอลเข้ามาบูรณาการให้มีความน่าสนใจ เกิดเป็นมุมมองใหม่ๆ

 

ความจริงแล้วเราอยาก promote เรื่องนี้ ว่าทำไมถึงพูดเรื่องอัตลักษณ์กันมากมายเหลือเกิน เพราะอัตลักษณ์คือสิ่งสำคัญ ผมจะคอยบอกอยู่เสมอว่า อัตลักษณ์คือสิ่งที่เรามีไม่เหมือนคนอื่น มันเหมือนกับเราทำธุรกิจก็ต้องมีจุดแข็งจุดแตกต่าง จุดที่คนอื่นมีก็ให้เขาทำไป ส่วนสิ่งที่เรามีเราก็ทำให้มันแข็งแรง ใครก็สู้เราไม่ได้ เพราะเราเป็นเจ้าของ

 

การนำอัตลักษณ์มาต่อยอดให้ ให้มันเป็นภาษาสากล เป็นสิ่งสำคัญที่เราต้องขับเคลื่อนต่อไป ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เพราะ CEA เป็นหน่วยงานที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพราะฉะนั้นเวลาเราทำอะไร เราจะมองที่ปลายทางว่า “ต้องเป็นสิ่งที่ขายได้”

 

หนึ่งในพื้นที่แสดงผลิตภัณฑ์ Made In Pattani

 

เท่านั้นยังไม่พอ ตอนนี้ก็ยังมีเรื่องซอฟพาวเวอร์ด้วย แต่เดิมเราคิดว่าขายได้ในประเทศพอแล้ว ขายนอกประเทศก็ยังไม่พอ ต้องสร้างแบรนด์สร้างชื่อเสียง เพราะฉะนั้น ตอนนี้เราเริ่มมองตลาดต่างประเทศเป็นหลัก และพยายามพูดภาษาสากลให้มากขึ้นในการที่จะพัฒนาสินค้าและบริการ

 

แล้วปัตตานีขายอะไร

ปัตตานีสำหรับงาน Pattani Decoded ปีนี้ที่เราร่วมมีอยู่สามกิจกรรมด้วยกัน

กิจกรรมแรกคือ Made in Pattani คือเราจะมี Made In อยู่หลายที่ ตัวคอนเส็ปต์ของ Made in ที่เราตั้งชื่อ คือการนำอัตลักษณ์เมืองหรือจังหวัดมาพัฒนาเป็น Products ซึ่งความจริงชาวบ้านนั้นทำอยู่แล้ว แต่เราได้นำมาพัฒนาให้มันเป็นภาษาสากลเพื่อที่จะนำผลิตภัณฑ์ ออกสู่ตลาดต่างประเทศได้ เพราะการขายคนไทยด้วยกันเองกับการขายชาวต่างชาตินั้นไม่เหมือนกัน

 

ดังนั้นการนำนักออกแบบหรือคนรุ่นใหม่ที่มีเทสต์ มีสไตล์ ที่สามารถที่จะเข้าถึงตลาดต่างประเทศหรือว่านักท่องเที่ยวได้ เราจึงได้นำนักออกแบบเหล่านี้มาทำงานร่วมคนที่นี่ มาพูดคุย ศึกษา ค้นหาอัตลักษณ์ที่น่าสนใจออกมาเป็นสินค้าที่มีความหลากหลายซึ่งเราจะได้เห็นกันมากมายในงานนี้

 

ลวดลาม ผ้าคราม อันเป็นเอกลักษณ์ของปัตตานี

 

ดังนั้นสิ่งแรกคือ การพัฒนา Products เราเชิญคนมา มี buyer มีนักลงทุน เราคาดหวังว่าจะมีคนสนใจนำสินค้าไปขาย สนใจลงทุน คือมีการเอาไปพัฒนาต่อ

 

กิจกรรมที่สองคืองาน Lighting การใช้แสงสีมาทำให้พื้นที่น่าสนใจ น่าท่องเที่ยว ในทีนี้คือมัสยิดมีภาพลักษณ์ใหม่ๆ ทำให้แปลกตาจากการท่องเที่ยวในเวลากลางวัน จุดประสงค์ตรงนี้ก็คือจะเน้นเรื่องการท่องเที่ยวเป็นหลัก

 

ส่วนข้อที่สามก็คือการเข้าไปพัฒนาเรื่องการทำตลาด คือการเข้าไปในพื้นที่ต่างๆ แล้วไปเลือกของที่น่าสนใจ แล้วก็ทำเป็นตลาดในชุมชน เพื่อเป็นต้นแบบ และถ้าต้นแบบมันดีเราคาดหวังว่า คนในชุมชน ผู้ประกอบการในชุมชน องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาเห็นจะนำไปพัฒนาต่อ

 

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การทำงานของเรามีอยู่สามมิติ คือมีทั้งมิติการทำงานกับชุมชน มิติของการท่องเที่ยว และมิติของการทำตลาดให้สินค้าขายได้ คือปลายทางแล้วมันคือเรื่องของเศรษฐกิจหมดเลย

 

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”

 

เรื่อง Made in มันเริ่มจากอะไร กระบวนการมันเป็นอย่างไร

ความจริงแล้วกระบวนการของเมดอินมันจะล้อกับกระบวนการที่เรียกว่า Design Thinking มันเป็นกระบวนการคิดเชิงออกแบบ เป็นการพัฒนา Products ขึ้นมาชิ้นหนึ่ง ส่วนมากแล้วจะเป็นผู้ประกอบการคิดทำขึ้นมา แต่กระบวนการ Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบ คือการเอานักออกแบบมาเป็นคนคิดผลิตภัณฑ์ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่

 

กระบวนการคิดเชิงออกแบบคือการเอาผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง โจทย์มาจาก CEA  ว่า ผู้ใช้นั้น เราจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายกลุ่มไหน นักออกแบบจะทำความเข้าใจกับกลุ่มเป้าหมายนั้น เพื่อจะหา Insight ออกมา แล้วหยิบอัตลักษณ์ที่คิดว่าแมตช์กับเป้าหมายออกมาเป็น Products ใหม่ เช่น อาจจะเป็นเสื้อผ้าที่มาจากลายพื้นถิ่นที่นั่นที่นี่

 

หรือ เกลือหวานของปัตตานี ที่มีรสชาติเป็นเอกลักษณ์  กับ คราม ที่มีอัตลักษณ์พิเศษของที่นี่  ครามที่นี่มีสีไม่เหมือนที่อื่น จะนำมาทำเป็นสินค้าอะไรได้อีกบ้าง เกลือ นอกจากทำอาหารเอาไปทำขนมได้ไหม

 

โจทย์มาจากเรา และ เป็นกระบวนการคิดเชิงออกแบบ ซึ่งสองศาสตร์นี้เป็นศาสตร์ที่ CEA ถนัด คือการส่งนักออกแบบมาทำงานกับคนในชุมชน คือการคอลแลปส์กัน มาทำงานร่วมกัน

 

หนึ่งในการคอลแลปส์ระหว่างสองนักออกแบบ โก้-ชููโชติ เลิศลาภ สถาปนิก นักซ่อมเทวรูป กับศิลปินร่วมสมัย TRK

 

เราพยายามที่จะนำงานที่ออกมาไปเชื่อมโยงกับนักลงทุน เราไม่ได้คิดหรืออยากมองแค่ว่า ให้คนมาเดินที่นี่แล้วซื้อของแค่อาทิตย์เดียวแล้วจบ เพราะ ultimate goal จริงๆ คือเราอยากให้มองเห็นว่า เขามีศักยภาพ น่าผลิต น่าสั่ง น่าเอาไปขายต่อเป็นสเกลใหญ่ เราไม่ได้คาดหวังว่า เราทำงานนี้เพื่อให้คนมาซื้อหรือมาท่องเที่ยวแค่นั้น เพราะว่าการท่องเที่ยวเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น

 

กฎคือผลิตภัณฑ์เดิมแต่ทำให้มันน่าสนใจมากขึ้น เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เลย เราไม่ได้อยากจำกัด ว่าต้องเป็นแบบไหน คือถ้าเอาตลาดเป็นตัวตั้งเราไม่ควรตีกรอบ

 

โจทย์ของ CEA มาจากไหน มีการศึกษาตลาดอย่างไร มีเป้าหมายในระยะยาวไหม จะเปลี่ยนโจทย์ไปในแต่ละปีหรือเปล่า

เรื่องของการพัฒนาตัวเมืองและย่านเราทำงานกับหลายหน่วยงาน ไม่ได้ทำงานคนเดียว คือ CEA เรามีความถนัดในกระบวนการคิดเชิงออกแบบไปพัฒนาเป็นสินค้าและบริการ แต่ว่าในการทำงานจริงๆ เรามีพาร์ทเนอร์เยอะ ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย ร่วมงานกับหน่วยงานราชการอีกหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ สำนักนวัตกรรมแห่งชาติ  ทีเส็บ (TCEB- สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน)) หน่วยงานพวกนี้จะมีความเข้าใจ เรื่องความเป็นสากล เพราะเขาทำงานที่เกี่ยวข้องกับตลาดต่างประเทศเยอะ

 

แน่นอนว่าในแต่ละปี เราจะมี Theme ที่แตกต่างกันไป และเราก็ต้องมีการพูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ว่าตอนนี้เทรนด์มันเป็นยังไง กระแสมันเป็นยังไง อย่างตอนนี้ก็มีเรื่องของ Soft Power มีเรื่องอุตสาหกกรรมที่เราต้องขับเคลื่อนอยู่ เป็นที่มาของการเลือกสินค้าประเภทต่างๆ ที่จะเข้ามา แต่ละสินค้าต่างๆ ก็จะสะท้อนในแต่ละภูมิภาคไม่เหมือนกัน

 

นิทรรศการไลท์ติ้ง ในบรรยากาศสงบหน้ามัสยิดรายอ ในย่านประวัติศาสตร์ "จะบังติกอ"

 

การตีโจทย์ในแต่ละพื้นที่ที่มีอัตลักษณ์ยากไหม

บอกเลยว่ายาก ไม่ใช่เฉพาะ Made In Pattani เพราะแต่ละเมืองแต่ละย่านองค์ประกอบมันจะเกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักสร้างสรรค์จากหลายอุตสาหกรรม เช่น บางคนมาจากวงการออกแบบ บางคนมาจากวงการภาพยนตร์ บางคนอยู่ในอุตสาหกรรมเสื้อผ้า คือ มันเป็นความท้าทายของ CEA ทุกครั้งในการทำงาน

พูดตามตรง ในความเป็นจริง มันต้องเลือกเพราะคุณไม่สามารถขับเคลื่อนทุกเรื่องในเวลาเดียวกันได้

 

เรื่องของการสร้างแบรนด์เมือง - City Branding

เพราะนอกเหนือจากการขับเคลื่อนเมืองแล้ว เรากำลังพูดถึงเรื่องการสร้างแบรนด์เมือง การทำ Branding เรื่องเมือง ตอนนี้ CEA กำลังจะทำต่อ ต่อเนื่องจากการขับเคลื่อนเรื่อง “เมืองสร้างสรรค์” สเต็ปต์ต่อไปคือจะพยายามทำเรื่อง City Branding แน่นอนมันเป็น Single Message เมืองนี้นำเสนอเรื่องอะไร มันต้องมีใช่ไหมครับ

ยกตัวอย่าง UNESCO จะให้รางวัลเมืองสร้างสรรค์ก็ให้เป็นสาขา เช่น ปูซาน (เกาหลีใต้) คือฟิล์ม กรุงเทพฯ คือออกแบบ คุณจะมาจับหลายอย่างไม่ได้

 

เราต้องพูดคุย ต้องทำงานกับคนในพื้นถิ่น การทำงานตั้งแต่เริ่มต้นต้องมีทีมลงมาทำ workshop กับนักสร้างสรรค์ในพื้นที่ แน่นอน เพราะว่าเป็นกลุ่มที่ต้องขับเคลื่อน เพราะการขับเคลื่อนเมืองด้วย activities  มันต้องการ “คนสร้างสรรค์ในพื้นที่” เป็นคนทำ เราไม่ได้ทำเอง CEA ทำไม่เป็น ต้องให้พวกเขาทำ เราแค่มีเครื่องมือมาให้พวกเขา (นักออกแบบ นักสร้างสรรค์) มาทำงานด้วยกันแค่นั้นเอง ประเด็นแรกคือต้องหาเขาให้เจอก่อน

 

ฮาดีย์ หะมิดง ประธานจัดงาน Pattani decoded 2024 และ นาดา อินทพันธ์ หนึ่งในทีมจัดงาน pattani decoded

 

ซึ่งที่นี่ (ปัตตานี) มีความแข็งแรง มีศักยภาพ ทุกคนคงเห็นชัดเจน เราก็ใช้หน่วยงานในพื้นที่ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการงบประมาณ เราก็ต้องคุยกับพวกเขา เอาเข้ามาเกี่ยว จากนั้นก็เป็นกลุ่มเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่ ซึ่งกลุ่มนี้สำคัญเพราะเขามีเงิน แล้วก็ต้องการขับเคลื่อนเมือง 3 กลุ่มคนนี้ (นักออกแบบ หน่วยงานราชการในพื้นที่ และผู้ประกอบการเอกชน) เราต้องจับเขามาตกลงกันว่าจะทำเรื่องอะไร

 

จะต้องมีการจัดลำดับความสำคัญ ทำเรื่องนี้ก่อนแล้วเรื่องอื่นจะตามมา คือเรามีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ถึงแม้จะเลือกอุตสาหกรรมเดียวขึ้นมา แต่ว่ามันจะเกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์กับอุตสาหกรรมอื่นคือมันเป็นเชน เช่นเอาอาหารนำก็เอาเข้ามาก่อนจากนั้นคุณก็อาจจะขายเสื้อผ้าได้ ไม่จำเป็นว่าจะต้องทำแต่อาหาร คือความจริงแล้วมันต้องมีตัวนำแล้วตัวนำอื่นจึงจะเกิด คือมันจะมีโดมิโนเนอร์เอฟเฟ็กต์กับอุตสาหกรรมอื่นอย่างแน่นอน

 

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”

 

ปีนี้ที่เห็นได้ชัดก็คือเรื่องของแฟชั่น มีนิทรรศการ Unparalleled ที่มีการนำเสื้อผ้ามาเล่าเรื่อง evaluation ว่ามันมีวิวัฒนาการยังไง ส่วนเรื่องอาหารก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าแถวนี้อาหารมีอัตลักษณ์สูง มันเกิด combination ที่น่าสนใจของอาหาร

ส่วนเรื่อง ศิลปะ การออกแบบ หัตถกรรม เป็นพื้นฐานของประเทศอยู่แล้ว เรื่องของ Art Craft Design มันเป็น Foundation ของประเทศอยู่แล้ว เพราะเราเก่งเรื่องนี้ แต่ว่าเรื่องอื่นๆ ต้องมาจับทางกันว่า จะเน้นแฟชั่นหรือจะเน้นอะไร

แฟชั่นที่ผ่านมาเราเน้นเรื่องการพัฒนาเรื่องตัว Texttile เยอะ เราจึงพยายามจะให้มาทำเรื่องดีไซน์มากขึ้น

 

การขับเคลื่อนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์

คืออยากให้มองว่ามันคือ ภารกิจการขับเคลื่อนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์ ถ้าพูดถึงคอนเส็ปต์ smart city ก็จะพูดถึงการทำให้เมืองมีความฉลาดมากขึ้นด้วยเทคโนโลยี เป็น Digital City พูดง่ายๆ มันคือการเอาเทคโนโลยีมาใช้ขับเคลื่อนเมืองเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคม

 

การขับเคลื่อนเมืองด้วยความคิดสร้างสรรค์คือการเอาบุคลากรในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ เข้ามาทำงานกับเมืองและผู้ประกอบการในเมือง เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมที่เกิดขึ้นจากสินค้าและบริการใหม่

 

แล้วเรื่องพื้นที่ทางสังคม

สังคมในมุมที่ CEA พยายามทำ ผมมองว่าเป็นความพยายามในการสร้างความร่วมมือในชุมชนในมิตินั้นมากกว่า

อยากให้เวทีนี้เป็นเวทีที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติพื้นถิ่น ได้มาทำงานร่วมกัน อยู่บนเวทีเดียวกัน ทำให้เกิด community engagement การสร้างรายได้ หลังจากงานนี้จบไปแล้ว เขาได้เกิด เกิดการซื้อ-ขายมากขึ้น เอางานที่ทำตลาดไปทำต่อให้เกิดความยั่งยืน ชุมชนก็มีรายได้มากขึ้น

 

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”

 

เป็นภารกิจที่เราทำกับชุมชนกับพื้นที่กับเมือง ความจริงภารกิจของ CEA นั้นมีหลายมิติ อย่างการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการใหญ่ๆ ก็มีเช่นการถ่ายทำหนัง เราก็มีโปรเจ็กต์ที่เกี่ยวกับ การอำนวยความสะดวกบริษัทต่างประเทศให้มาถ่ายทำหนังในประเทศไทย เพื่อจะให้มีคอนเทนท์ที่ใช้โลเคชั่นไทย เมื่อไปฉายยังต่างประเทศก็กลับมาสู่การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวเป็นแค่จุดตั้งต้นเพราะพอมาเที่ยวแล้ว มาลงทุนมาอยู่แบบยาวๆ ไป

 

เช่นภาพยนตร์เรื่องหลานม่า ไม่ได้เป็นหนังต่างประเทศ เป็นหนังไทยแต่ไปฉายที่อินโดนีเซีย จนกลายเป็นหนังที่ดังมากในอินโดนีเซีย ติดอันดับต้นๆ ตอนนี้ทำให้มีนักท่องเที่ยวอินโดฯ มาเที่ยวเมืองไทยมากเป็นพิเศษในช่วงสามสี่เดือนที่ผ่านมา

 

แต่ประเด็นเมืองเราพยายามทำงานอย่างใกล้ชิดเพราะว่าเป็นประเด็นที่ต้องพยายามผลักดันเพราะว่ามันเป็นเหมือนต้นน้ำ ความคิดสร้างสรรค์มันต้องเกิดมาจากในชุมชนนี่แหละ มันจึงจะเปล่งประกายออกไปข้างนอก รวมไปถึงภารกิจที่ได้ช่วยสังคมและชุมชนด้วย CEA จึงพยายามทำงานทั้งในระดับ Micro และ Macro

 

ส่วนผู้ประกอบการที่เราผลักดันจนสำเร็จก็จะเลือกไปออกงานในงานอีเวนท์ต่างประเทศ เช่นงานที่สถานทูตไทยในต่างประเทศจัดทุกปีอย่างงาน Thaifest มีหลายประเทศ คนเยอะมาก เราก็เลือกประเทศที่คนเยอะๆ เช่น ญี่ปุ่น หรือ รัสเซีย ที่มอสโก

 

เราได้นำผู้ประกอบการ Made In ต่างๆ ที่พูดถึง บินไปแสดงผลงานแล้วเกิดการซื้อขายสินค้า นี่คือ Ultimate Goal ปลายทางที่เราพยายามผลักดัน คือเราไม่ได้ทำแค่นี้และจบแค่นี้ เราดันต่อ...

 

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”

 

TCDC ที่ปัตตานีภิรมย์

มองว่าเป็นพื้นที่ เป็นย่านที่มีศักยภาพสูง คือมีความลงตัวทั้งในด้านสถาปัตกรรม ที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์ไว้ได้ เมื่อสถานที่พร้อมคนที่เป็นนักออกแบบหรือนักสร้างสรรค์ก็อยากจะมาอยู่

 

คือคนที่มีคาแรกเตอร์พิเศษก็ต้องมีสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อความคิดสร้างสรรค์ สถานที่ก็ต้องเอื้อให้มาอยู่ ย่านนี้จึงเหมาะที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ เพราะมีความพร้อมสูงมาก ส่วนคนในพื้นที่อย่างคุณราชิต (ราชิต ระเด่นอาหมัด ประธานกลุ่ม Melayu Living และเป็น Design Director ที่ Subper) ก็มีแพสชั่นสูงมาก

 

CEA ไม่ได้เป็นคนทำ CEA ช่วยทำให้มันเกิดขึ้น เชื่อมโยงให้เกิด know how

ปัตตานีเป็น 1 ใน 10 แห่งที่ CEA เลือกในการสร้าง TCDC เช่นที่ เชียงใหม่ ขอนแก่น สงขลากำลังจะสร้าง

โมเดลเดิมใน 4 ที่ เราจัดการเอง 100% แต่อีก 10 แห่ง คนที่เป็นเจ้าของพื้นที่คือหน่วยงานรัฐในจังหวัดนั้นๆ เป็นคนจัดการ อาจเป็น เทศบาล อบต อบจ เป็นผู้จัดการเอง CEA เป็นเหมือนเฟรนไชส์เจ้าของโมเดล ที่ให้เจ้าของสถานที่สมัครเข้ามา

เราใช้ Creative City Index หรือ ดัชนีเมืองสร้างสรรค์ เป็นตัวชี้วัดในการเลือก ที่ CEA ทำขึ้นมามีอยู่ 10 ประเด็นสำคัญ ว่าการที่เมืองสร้างสรรค์จะเติบโตและโดดเด่นมันต้องมีอะไรบ้าง

 

แน่นอนว่า เรื่องนี้ PostToday จะติดตามมานำเสนอในตอนต่อๆ ไป...

 

ที่ตั้งของ TDCD ปัตตานีในอนาคต ย่านปัตตานีภิรมย์

 

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ได้ประกาศจัดตั้ง “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC)” ใน 10 จังหวัด ได้แก่ 1) เชียงราย 2) นครราชสีมา 3) ปัตตานี 4) พิษณุโลก 5) แพร่ 6) ภูเก็ต 7) ศรีสะเกษ 8) สุรินทร์ 9) อุตรดิตถ์ และ 10) อุบลราชธานี ไปเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567

 

สำหรับ TCDC แห่งใหม่ ที่กำลังเกิดขึ้นในแต่ละจังหวัด จะมีบริการรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า ‘Creative Lab’ ซึ่งเป็นพื้นที่ปฏิบัติการทางความคิดสร้างสรรค์ที่เกิดจากความร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น โดยมุ่งเน้นการค้นหา รวบรวม และต่อยอดเรื่องราวที่มีศักยภาพในท้องถิ่น (Empowering Local Stories) อีกทั้งยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะ (Upskill และ Reskill) ให้แก่นักสร้างสรรค์ คนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการ และชุมชน

 

ปัตตานี คือ Cultural Lab

เน้นการผสมผสานทุนทางวัฒนธรรมท้องถิ่น 3 สัญชาติ ระหว่างไทย จีน และมลายูอย่างลงตัว เข้ากับข้อมูลเชิงลึกของผู้บริโภค (Consumer Insights) จนสามารถพัฒนาความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ของวัฒนธรรมท้องถิ่นในการสร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) โดยเน้นการสร้างประสบการณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ (Unique Experience) ผ่านการ ผสมผสานวัฒนธรรมกับเทรนด์โลกได้อย่างน่าภาคภูมิใจ

 

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”

[INTERVIEW] City Branding: “อัตลักษณ์” บนพื้นที่สร้างสรรค์กับ “การสร้างแบรนด์เมือง”