ตรวจการบ้าน ผู้ว่า ชัชชาติ ผ่านวงรอบ 2 ปี บริหาร กทม.ทำอะไรไปแล้วบ้าง
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รับตำแหน่งผู้ว่าราชการกทม. ครบ 2 ปีมาแล้วเกือบ 4 เดือน ผ่านมาแล้วครึ่งทางของการเข้ามาบริหารงานเมืองหลวงของประเทศไทย เราไปดูผลงานของ ผู้ว่าฯชัชชาติ ว่าทำอะไรและได้ผลสัมฤทธิ์เรื่องใดไปแล้วบ้าง
นาย ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้ามารับหน้าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครครบ 2 ปี เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ผ่านครึ่งทางของวงรอบการทำงานในวาระผู้ว่า กทมฯ
ซึ่งตอนนั้น นายชัชชาติ แถลงข่าวในหัวข้อ “2ปี ทำงาน เปลี่ยน ปรับ ยกระดับกรุงเทพฯเมืองน่าอยู่” และให้คะแนนตัวเองจากการทำงาน 2 ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 5 เต็ม 10
ช่วงแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง ผู้ว่าฯที่แกร่งที่สุดในปฐพี ผู้ว่าชัชชาติ ขยับหยิบจับทำอะไรก็มีแตี่เสียงชื่นชมและดูดีไปหมด ทว่าหลังเวลาผ่านไป 1 ปีและ 2 ปี กระแสของ"ชัชชาติ"เริ่มตก นโยบาย 226 ข้อ ที่วางไว้ทิศทางเริ่มไม่ชัด บางเรื่องประชาชนอาจจะลืมไปแล้วว่ามีนโยบายอะไรบ้าง
วันนี้โพสต์ ทูเดย์พาไปดูนโยบายที่ ทำแล้ว กำลังทำ และบางนโยบาย อาจไม่ได้ทำแล้ว
เป้าหมายปี 2567 ที่กำลังทำ
เริ่มที่เป้าหมายของ กทม.ที่กำลังทำในปี 2567 มีหลายนโยบายที่ทำได้เกือบ 100 % ขณะที่บางนโยบายทำไปได้แค่ 1 % เท่านั้น
1 พัฒนาถนนสวย ทำสำเร็จไปแล้ว 63.68% จากที่ ตั้งเป้า 131.50 กิโลเมตร. ทำไปแล้ว 83.74 กม.
2 ค้างจ่ายหนี้ BTS 37.1 % จ่ายแล้ว 23,000 ล้านบาท หนี้รวม 62,000 ล้านบาท
3 ปลูกต้นไม้ 569.68% ตั้งเป้า 200,000 ต้น 1,139,374 ต้น
4 ปรับปรุงทางเท้า สำเร็จ 1.34% ตั้งเป้า 322.11 กม. ทำแล้ว 4.33 กม.
5 ติดตั้ง และ ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่าง 71.79% ตั้งเป้า 32,078 ดวง ทำไปแล้ว 23,029 ดวง
6 แก้ไขจุดเสี่ยงน้ำท่วม 71.65% ตั้งเป้า 127 จุด ทำไปแล้ว 91 จุด
7 แก้ปัญหาการจราจรติดขัด 60 % ตั้งเป้า 185 แห่ง ทำไปแล้ว 111 แห่ง
8 ติดตั้ง และ ซ่อม ไฟฟ้าส่องสว่างริมคลอง 37.09% ตั้งเป้า 8,056 ดวง ทำไปแล้ว 2,988 ดวง
9 ขุดลอกท่อ 62.17% ตั้งเป้า 4,260.43 กม. ทำแล้ว 2,648.83 กม.
10 แก้ไขจุดเสี่ยงอุบัติเหตุ 53.60% ตั้งเป้า 125 แห่ง แล้ว 67 แห่ง
แผนงานอีก 2 ปีที่เหลือ
การแก้ปัญหาหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว เป็นสิ่งที่ กทม.ยังต้องตามใช้หนี้ ตอนนี้ กทม. ใช้หนี้ไปแล้วเป็นส่วนของ E&M หรือตัวระบบ วงเงินประมาณ 23,000 ล้านบาท เหลือส่วนของ O&M หรือค่าเดินรถที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครอง วงเงินประมาณ 27,000 ล้านบาท
อีกเรื่องที่ กทม. กำลังดำเนินการคือ ออกแบบการบริหารจัดการรถไฟฟ้าหลังปี 2572 ที่หมดสัมปทานของส่วนใจกลางเมือง และจะเป็นการจ้างเดินรถทั้งหมด กทม.วางแผนลดต้นทุนในการจ้างเดินรถ เพื่อให้ค่าโดยสารของประชาชนลดลงให้ได้มากที่สุด
ปัญหา ฝุ่น PM2.5 คืออีกปัญหาที่ กทม.ยังต่อสู้กับปัญหานี้แบบเต็มๆ ปัญหา PM 2.5 กทม. ได้วางแผนจัดสรรไว้ 3 ส่วน
การแจ้งเตือน: โครงการนักสืบฝุ่น สืบหาแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 ที่หนักและเบา พัฒนาระบบพยากรณ์ที่มีความแม่นยำสูง สามารถคาดการณ์ฝุ่นได้ล่วงหน้า 3 วัน
กำจัดต้นตอ: ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายมอบโปรโมชันและส่วนลดเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและไส้กรองอากาศ การตรวจแหล่งกำเนิดฝุ่นต่างๆ เช่น โรงงานซีเมนต์ โรงงานอุตสาหกรรม และการตั้งจุดตรวจรถควันดำ จัดหาเครื่องอัดฟางให้เกษตรกรที่หนองจอก
การป้องกันปัญหาสุขภาพของประชาชน: โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศในศูนย์พัฒนาเด็กก่อนวัยเรียน (ศูนย์เด็กเล็ก) และเด็กอนุบาล 1,740 ห้องเรียน เปิดศูนย์โรคระบบทางเดินหายใจและคลินิกมลพิษทางอากาศใน 6 โรงพยาบาล เพื่อดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น
นโยบายที่ไม่ได้ไปต่อ
- ‘ลดรถ ลดติด ด้วยจอดแล้วจร’ กทม. ไม่สามารถหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการพัฒนาอาคารจอดรถได้
- ‘ร่วมกับเอกชนในการจัดหาแท็บเล็ตให้นักเรียนใช้ในช่วง Study from Home’ เนื่องจากขณะนี้โรงเรียน กทม. ไม่ได้อยู่ในช่วง Study from Home และ กทม. ได้เริ่มโครงการ Digital Classroom จัดหาแล็ปท็อปให้นักเรียนทุกคนในชั้นเรียน โดยได้เริ่มนำร่องไปแล้ว 17 โรง และกำลังขยายไปอีก 111 โรง
- ‘พัฒนาห้องสมุดและการเรียนรู้เคลื่อนที่’ กทม. ประเมินและคิดว่า แนวคิดห้องสมุดเคลื่อนที่ไม่มีความต้องการจากประชาชน และ กทม. ได้ไปพัฒนาบ้านหนังสือที่มีกระจายอยู่ในชุมชนให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นแทน