posttoday

ถ่านหิน พลังงานสะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจของลำปาง ไปด้วยกันอย่างไร?

08 กันยายน 2567

สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการถ่านหินเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาแม่เมาะ และนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในพื้นที่ถ่านหิน สอดรับกับทิศทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดและยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรก

KEY

POINTS

  • กมธ.พลังงานเปิดเวที ‘ถ่านหิน โอกาส เศรษฐกิจลำปางที่ยังไปไม่ถึง’ แนะพลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส นำร่องโครงการพลังงานหมุนเวียนสู่ลำปาง
  • สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการถ่านหินเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาแม่เมาะ และนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในพื้นที่ถ่านหิน
  • สอดรับกับทิศทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดและยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรก

“ถ่านหิน โอกาส เศรษฐกิจลำปางที่ยังไปไม่ถึง”

คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร จัดสัมมนาว่าด้วย “ถ่านหิน โอกาส เศรษฐกิจลำปางที่ยังไปไม่ถึง” ณ อาคารหอประชุมจำป่าแดด ที่ว่าการอำเภอแม่เมาะ มีประชาชนอำเภอแม่เมาะกว่า 300 คน รวมทั้งหน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เข้าร่วม

 

ถ่านหิน  พลังงานสะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจของลำปาง ไปด้วยกันอย่างไร?

 

ชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง เขต 3 พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการและที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการพลังงาน กล่าวว่า “ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา การผลิตไฟฟ้าด้วยถ่านหินของโรงไฟฟ้าแม่เมาะดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้อำเภอแม่เมาะกลายเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของการผลิตไฟฟ้า ความนึกคิดของผู้คนต่างพื้นที่เมื่อได้ยินชื่อแม่เมาะคงนึกถึงพื้นที่เหมืองขนาดใหญ่”

 

“สิ่งที่น่ากังวลและจะเกิดขึ้นในอนาคต คือการที่ถ่านหินหมดหรือการปิดเหมืองด้วยนโยบายของรัฐบาล เพื่อสอดรับกับทิศทางที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญต่อพลังงานสะอาดและยุติการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสกปรก”

 

แผน PDP ของประเทศไทย บรรยายโดย สส. ศุภโชติ  ไชยสัจ รองประธานกรรมาธิการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร

ศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน ให้ข้อมูลถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2567 – 2580 ซึ่งดำเนินงานโดยสำนักงานนโยบายและแผน กระทรวงพลังงาน ว่า “แผนดังกล่าวยังคงกำหนดการใช้พลังงานถ่านหินไว้ประมาณ 7% เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อประชาชนอำเภอแม่เมาะโดยตรง ปัจจุบันโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีพนักงงานและลูกจ้างมากถึง 9,000 คน หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์มวลรวมของจังหวัดลำปาง (GPP) จะสูญเสียมากถึง 12,505 ล้านบาทต่อปี (GPP จังหวัดลำปาง อยู่อันดับที่ 41 ของประเทศในปัจจุบัน) สิ่งสำคัญในเวลานี้ คือ แผนการรองรับที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม”

 

“ปัจจุบันมีหลายจังหวัดในประเทศ กำลังผลักดันวาระการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero emission) อย่างเป็นระบบ เช่น จังหวัดสระบุรีที่ดำเนินการเรื่องของพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม หรือ จังหวัดกระบี่ที่ดำเนินการเรื่องการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ” ศุภโชติ ให้ข้อมูลภาพรวมของการดำเนินงาน


ต่อมา โครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรม องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ที่เข้ามามีส่วนร่วมผลักดันโครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ได้นำเสนอข้อมูลการทำงานในช่วงเวลาที่ผ่านมา อันมุ่งเน้นให้องค์ความรู้แก่ประชาชน ต่อทิศทางการดำเนินงานด้านการเข้าถึงองค์ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน

 

นายสุชาติ คล้ายแก้ว ผู้จัดการโครงการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในภูมิภาคถ่านหิน (GIZ) นำเสนอแนวทางเชิงยุทธศาสตร์ในการเปลี่ยนผ่านทางพลังงานโครงการในแม่เมาะ

 

สุชาติ คล้ายแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน GIZ กล่าวว่า “ GIZ ผลักดันโครงการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อการปกป้องสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ มีการบูรณาการทำงานหลายฝ่าย โดยรัฐบาลของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอมรมนีเป็นผู้สนับสนุนงบประมาณ สำหรับประเด็นพื้นที่อำเภอแม่เมาะ มีวัตถุประสงค์เพื่อการยกระดับเศรษฐกิจของชุมชนให้เกิดความยั่งยืนเป็นธรรม และเป้าหมายการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานคาร์บอนต่ำ”

 

GIZ บูรณาการทำงานร่วมกันกับโครงการแม่เมาะ สมาร์ทซิตี้, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กระทรวงพลังงานและคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร และประชาชนในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางการทำงาน ช่วงที่ผ่านมามีการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพการทำงานของประชาชนแม่เมาะ ในการทำงานรองรับกับการพัฒนาสู่การใช้พลังงานสะอาด” สุชาติ กล่าว

 

ปัญหาของแม่เมาะยังคงอยู่ เมื่อระยะเวลากำหนดการเปลี่ยนแปลง ทำอย่างไรที่ทุกคนจะไม่ตกขบวนการเปลี่ยนผ่าน ?

 

“ต้องไม่หลงลืมว่าปัญหาหลายอย่างของอำเภอแม่เมาะยังคงอยู่ ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ เช่น กรณีการออกเอกสารสิทธิรองรับการอพยพ หรือการพัฒนาพื้นที่ผ่านการใช้งบประมาณของกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ” ชลธานี กล่าว

 

ช่วงที่ผ่านมาประชาชนอำเภอแม่เมาะได้ร่วมกันเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินงานเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์สำหรับผู้ที่อพยพมาจากพื้นที่ดั้งเดิม ปัจจุบันหลายกรณีอยู่ระหว่างการดำเนินงานของหน่วยงานราชการระดับกรม ภายหลังจากการลงพื้นที่ของหลายหน่วยงาน อาทิ คณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นต้น บางกรณีมีมติคณะรัฐมนตรียืนยันหลักการต้องได้รับเอกสารสิทธิมาตั้งแต่ปี 2544

 

ถ่านหิน  พลังงานสะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจของลำปาง ไปด้วยกันอย่างไร?

 

หรือในกรณีของกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ช่วงที่ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง มีการให้สัมภาษณ์ต่อความผิดปกติของงบประมาณของกองทุนว่า “กฎหมายระบุว่าการให้เงินชดเชยจะถูกกฎหมาย เมื่อให้แก่ผู้ที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าในรัศมีไม่เกิน 5 กิโลเมตร แต่การร้องเรียนครั้งนี้ระบุว่ามีการให้แก่ผู้ที่อยู่เกิน 5 กิโลเมตร จึงสงสัยว่าจ่ายในรัศมีเกินได้อย่าไร” หรือการเบิกจ่ายงบประมาณของกองทุน

 

ณรงค์ศักดิ์เคยให้ข้อมูลไว้ว่า “ถ้ามันผิดกฎหมายแล้วเราอนุมัติย้อนหลัง คนอนุมัติย้อนหลังก็ผิดกฎหมาย ถามว่าผิดกฎหมายคืออะไร ติดคุก” สำหรับกองทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มีวัตถุประสงค์เพื่อนำงบประมาณสนับสนุนการสร้างประโยชน์แก่ประชาชนและชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยงบประมาณของกองทุนมาจากเงินค่าไฟฟ้าที่ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้านำส่งเข้ากองทุนฯ

 

วัตถุประสงค์ของเวทีเสวนานี้เป็นไป เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการพลังงานของประเทศไทย และความเข้าใจเกี่ยวกับการบริหารจัดการถ่านหินเพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า แผนพัฒนาแม่เมาะ และนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในพื้นที่ถ่านหิน

 

“สิ่งที่เราทุกคน ทุกหน่วยงาน ต้องดำเนินการเตรียมรับมือ คือ การรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อกำหนดแผนการรองรับที่จะเป็นประโยชน์ต่อการรองรับสถานการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น พลิกวิกฤติให้กลายเป็นโอกาส นำร่องการนำโครงการพลังงานหมุนเวียนมาริเริ่มในพื้นที่” คุณชลธานี เชื้อน้อย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ลำปาง เขต 3 พรรคประชาชน กล่าวทิ้งท้าย

 

ถ่านหิน  พลังงานสะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจของลำปาง ไปด้วยกันอย่างไร?

 

"ลำปาง” และ "โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่" หนึ่งใน Smart City รุ่นแรกของไทย กับก้าวต่อไปสู่การเป็น Mae Moh Power Green Area

 

หลังจาก กฟผ. แม่เมาะ ได้รับตราสัญลักษณ์ Smart City เมื่อช่วงปลายปี 2021 ในช่วงต้นปี 2022 ก็ได้จัดตั้ง “โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่” ขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ที่ต้องการจะพัฒนาพื้นที่แม่เมาะในหลากหลายมิติ เหตุที่ กฟผ. แม่เมาะ เร่งทำงานแข่งกับเวลา เป็นเพราะคาดการณ์ไว้แล้วว่าถ่านหินที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะอาจหมดลงในช่วงปี 2050 เมื่อ กฟผ. แม่เมาะแบกรับหน้าที่การผลิตไฟฟ้าป้อนพื้นที่ภาคเหนือและภาคกลาง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ กฟผ. แม่เมาะ ต้องเร่งหาพลังงานสะอาดมาทดแทน และการได้มาซึ่งพลังงานสะอาดนั้น ก็สามารถเชื่อมโยงกับการพัฒนาชุมชนแม่เมาะได้อย่างลงตัว

 

ถ่านหิน  พลังงานสะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจของลำปาง ไปด้วยกันอย่างไร?

 

ประเด็นหลักของเวทีเสวนานี้ตั้งใจให้เป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ แนวคิดการพัฒนาพื้นที่แม่เมาะ โอกาสสำคัญของแม่เมาะที่จะเกิดขึ้นในช่วง 5-10 ปี ผลกระทบในอนาคตหากโรงไฟฟ้าแม่เมาะจำเป็นต้องปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้าลง อุปสรรคด้านกฏหมายในพื้นที่แม่เมาะ การบริหารจัดการกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้าแม่เมาะ มุมมองการทำแผนเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจากต่างประเทศ โอกาสของอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางหากมีพลังงานที่สะอาด ประสบการณ์ของผู้บรรยายด้านการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนที่ยั่งยืนและโอกาสของประชาชนชาวลำปาง

 

ถ่านหิน  พลังงานสะอาด โอกาสทางเศรษฐกิจของลำปาง ไปด้วยกันอย่างไร?

 

Fact:

ประเทศไทยมีปริมาณสำรองถ่านหินมากกว่า 2,000 ล้านตัน โดยในจำนวนนี้คิดเป็นปริมาณสำรองที่ประเมินแล้ว (Measured Reserve) ประมาณ 1,100 ล้านตัน แหล่งถ่านหินส่วนใหญ่จะอยู่บริเวณตอนเหนือของประเทศ โดยมีศักดิ์ของถ่านหิน (Coal Rank) อยู่ในระดับลิกไนต์ (Lignite) ซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous) จนถึงบิทูมินัส (Bituminous) มีบ้างที่มีศักดิ์เป็นแอนทราไซต์ (Anthracite) แต่มีปริมาณเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งพบได้ที่แหล่งในจังหวัดเลย ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 

 

การผลิตถ่านหินในประเทศ 

ถ่านหินของประเทศส่วนใหญ่มาจากเหมืองของแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งในปี พ.ศ. 2543 มีปริมาณการผลิตลิกไนต์ถึง 13.6 ล้านตัน คิดเป็นปริมาณมากกว่า 3 ใน 4 ของปริมาณการผลิตทั้งประเทศ

 

นอกจากนี้ยังมีแหล่งผลิตถ่านหินสำคัญอีก 3 แหล่ง คือ แหล่งที่ อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน มีกำลังการผลิตรวม 1.9 ล้านตัน แหล่งที่ อำเภอสบปราบ จังหวัดลำปาง ปริมาณการผลิต 1.6 ล้านตัน และแหล่ง อำเภอเชียงม่วน จังหวัดพะเยามีประมาณการผลิต 0.2 ล้านตัน ซึ่งทั้ง 3 แหล่งนี้ดำเนินการผลิตโดยบริษัทเอกชน นอกจากนี้มีการผลิตจากแหล่งอื่นๆ เล็กน้อยรวมกันแล้วประมาณ 0.4 ล้านตัน

 

ถ่านหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ  ประเทศไทยมีการนำเข้าถ่านหินคุณภาพสูง โดยมีการนำเข้าถ่านหินบิทูมินัสในปริมาณมากที่สุด เนื่องจากแหล่งถ่านหินส่งออกของภูมิภาคนี้ส่วนใหญ่ผลิตถ่านหินบิทูมินัส ซึ่งมีคุณภาพดี

 

โดยในปี 2544 มีมูลค่ากว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าการนำเข้าถ่านหินทั้งหมด รองลงมาได้แก่ถ่านหินแอนทราไซต์ และถ่านโค้กและเซมิโค้ก ตามลำดับ โดยมีปริมาณนำเข้าถ่านหินจากประเทศอินโดนีเซียมากที่สุดประมาณร้อยละ 65 รองลงมาได้แก่ เวียดนาม พม่า ออสเตรเลีย จีน ลาว และอื่นๆ ตามลำดับ เนื่องจากการเลือกใช้ถ่านหินขึ้นอยู่กับคุณภาพและระยะทางขนส่ง การนำเข้าถ่านหินจึงมาจากประเทศใกล้เคียง เพื่อให้ได้ถ่านหินที่มีคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมนั่นเอง

 

การใช้ถ่านหินในประเทศไทยและแนวโน้มในอนาคต  การใช้ถ่านหินภายในประเทศจำกัดอยู่ในลักษณะที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสันดาปโดยตรง และใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตและใช้ความร้อนใน 2 ภาค การผลิต คือ

1 ภาคการผลิตไฟฟ้า (Power Sector) 

2 ภาคอุตสาหกรรม (Non-power Sector or Industrial Sector) ถ่านหินที่ใช้ในประเทศไทยส่วนใหญ่ใช้ในการผลิตภาคไฟฟ้าถึงร้อยละ 81 ที่เหลือร้อยละ 19 ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเรียงตามลำดับการใช้จากมากไปหาน้อยได้ ดังนี้ อุตสาหกรรมซีเมนต์ กระดาษ เยื่อไฟเบอร์ อาหาร ปูนขาว ใบยาสูบ โลหะ แบตเตอรี่ และอื่นๆ

 

 

ภาพ: สรวิชญ์ หงษ์พาเวียน

ข้อมูลเพิ่มเติม: www.lannernews.com

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน

กฟผ. แม่เมาะ