"มหาดไทย"ยกระดับ"เทศบาลเมืองบุรีรัมย์" เป็น "เทศบาลนครบุรีรัมย์"
มหาดไทย ประกาศยกระดับ"เทศบาลเมืองบุรีรัมย์" เป็น"เทศบาลนครบุรีรัมย์" มีผลตั้งแต่31ตุลาคม2567 นับเป็นเทศบาลนครแห่งที่6ในภาคอีสานและเป็นเทศบาลนครลำดับที่ 32ของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่อง เปลี่ยนแปลงฐานะ"เทศบาลเมืองบุรีรัมย์" อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์เป็น"เทศบาลนครบุรีรัมย์" โดยให้เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็นเทศบาลนครบุรีรัมย์ มีแนวเขตตามคำบรรยายและแผนที่ท้ายประกาศกระทรวงมหาดไทย ยุบเลิกเทศบาลตำบลอิสาณ รับพื้นที่บางส่วนขององค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดมารวมกับเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ และเปลี่ยนแปลงเขตเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ ลงวันที่ 30 สิงหาคม 2567 และให้พ้นสภาพแห่งการเป็นเทศบาลเมืองนับแต่วันที่ได้เปลี่ยนแปลงฐานะเป็นเทศบาลนครมีผลตั้งแต่ 31 ต.ค. 67
เทศบาลนครบุรีรัมย์ จะมีการพื้นที่ครอบคลุมตำบลในเมือง ทั้งตำบล ตำบลอิสาณทั้งตำบล และบางส่วนของตำบลเสม็ด ( เฉพาะหมู่ 9,11,13,16) ภายในเขตเทศบาลนครบุรีรัมย์ เป็นที่ตั้งของหน่วยงานการบริหาร, สถานศึกษา, สถานพยาบาล และสาธารณสุข ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของบุรีรัมย์ มีพื้นที่ทั้งหมด 75.44 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 47,150 ไร่ โดยการสำรวจประชากรเมื่อปี2564 ราว 71,974 คน
การเปลี่ยนแปลงเทศบาลเมืองบุรีรัมย์ เป็นเทศบาลนครบุรีรัมย์ นับเป็นเทศบาลนครแห่งที่6 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยก่อนนี้มีแล้ว5เทศบาลนคร ประกอบด้วย เทศบาลนครนคราชสีมา เทศบาลนครอุดรธานี เทศบาลนครขอนแก่น 4. เทศบาลนครอุบลราชธานี 5. เทศบาลนครสกลนคร
สำหรับนายกเทศมนตรี เทศบาลเมืองบุรีรัมย์คนแรกคือ นายแพทย์วิกรม สมจิตต์อารีย์ นายกเทศมนตรีเมืองบุรีรัมย์คนปัจจุบัน
ทั้งนี้ในประเทศไทยมีเทศบาลนครจำนวน31แห่งในทั่วประเทศ เทศบาลนครแห่งแรกของไทย 3 แห่งคือเทศบาลนครกรุงเทพ เทศบาลนครธนบุรี และเทศบาลนครเชียงใหม่ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2478 การจัดตั้งเทศบาลนครกระทำโดยประกาศกระทรวงมหาดไทยยกฐานะเป็นเทศบาลนครตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 กระทั่งปี พ.ศ. 2537 จึงมีการจัดตั้งเทศบาลนครแห่งที่สองในส่วนภูมิภาคคือเทศบาลนครนครศรีธรรมราช และเทศบาลนครอื่น ๆ มาตามลำดับ ซึ่งในประเทศไทย เทศบาลนคร เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำหรับเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรตั้งแต่ 50,000 คนขึ้นไปและมีรายได้พอเพียงต่อการให้บริการสาธารณะตามหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้