posttoday

เจาะ Clearer Seoul 2030 สงครามฝุ่น 20 ปี ความจริงจังแบบเกาหลีแก้ PM2.5 สำเร็จ!

13 กันยายน 2567

"Clearer Seoul 2030" ท้องฟ้าใสที่เกาหลี แลกเปลี่ยนประสบการณ์แก้ปัญหา PM2.5 อย่างจริงจังกับผู้เชี่ยวชาญจากเกาหลีใต้ ที่ทำสงครามสู้กับฝุ่นพิษมายาวนานกว่า 20 ปีจนประสบผลสำเร็จลดปริมาณฝุ่นพิษลงได้กว่าครึ่ง

KEY

POINTS

  • เจาะโมเดล “Clearer Seoul 2030” นโยบายต่อสู้กับสงครามฝุ่น PM2.5 ของเกาหลีใต้
  • 3 ทิศทางหลักกับกุญแจสำคัญ - เปลี่ยนรถยนต์ดีเซลให้เป็นรถปล่อยมลพิษต่ำโดยเร็วที่สุด กำหนดพื้นที่จราจรสีเขียวที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศของทั้งประเทศ ขยายเขต Green Transport Zone ห้ามรถยนต์ปล่อยมลพิษทั่วกรุงโซล
  • ตั้งเป้าหมายให้กรุงโซลเป็นเมืองที่ผู้คนเข้าถึงอากาศบริสุทธิ์ได้จากทุกที่และทุกมิติของชีวิต

เกาหลีใช้เวลา 20 ปีทำสงครามสู้กับฝุ่นพิษ PM2.5 มาอย่างยาวนานและจริงจัง จนประสบความสำเร็จ คืนท้องฟ้าใสสะอาดและพื้นที่สีเขียวให้กับกรุงโซลได้อย่างงดงามอย่างที่เราเห็นทุกวันนี้ เขาทำอย่างไร เกาหลีมียานพาหนะดีเซลที่เคยเป็นสาเหตุของฝุ่นพิษในสัดส่วน 28% ส่วนที่เหลือมาจากอุตสาหกรรมหนักด้านถ่านหิน นิวเคลียร์และก๊าซธรรมชาติเหลว (เคยมีปริมาณฝุ่นสูงถึง 24-25 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร)

 

ส่วนกรุงเทพฯ ภาคการขนส่งมีส่วนในการก่อ PM2.5 ถึง 61% รองลงมาคือ การใช้เตาความร้อน และภาคการเกษตร แต่ 20 ปีที่ผ่านมาเกาหลีทำสงครามกับฝุ่นอย่างจริงจังและไม่ยอมลดราวาศอก ทำให้กรุงโซลประสบความสำเร็จอย่างงดงาม

 

ในปัจจุบันค่าฝุ่นละอองลดลงจากเมื่อ 20 ปีก่อนถึง 2 เท่า จากประเทศที่ Financial Times เคยจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีมลพิษทางอากาศมากที่สุดในโลกตั้งแต่ปี 2017 และกรุงโซลยังเป็นเมืองที่มีปัญหาฝุ่น PM2.5 เรื้อรังเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย รองจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน และกรุงเดลี ประเทศอินเดีย ตามลำดับ เกาหลีมีกลยุทธ์อะไรในการแก้ปัญหา PM2.5 ที่เราต้องรับฟังและนำไปแก้ไข

 

ทิวทัศน์กรุงโซล เกาหลีใต้ ภาพ: freepik

 

นายธานี แสงรัตน์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโซล กล่าวว่า โจทย์ที่สำคัญอย่างยิ่งของปัญหา PM 2.5 ในกรุงเทพมหานครก็คือ จะรับมืออย่างไรให้ตอบโจทย์ได้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่ กรมควบคุมมลพิษและสำนักสิ่งแวดล้อม มีทั้งความเชี่ยวชาญ ความก้าวหน้าและมีเทคโนโลยีเกือบทุกด้าน ตนในโอกาสที่ได้ไปประจำตำแหน่งยังประเทศต่างๆ ก็ได้แสวงหาโอกาสและความร่วมมือที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยมาโดยตลอด  และล่าสุดเมื่อได้ไปประจำที่กรุงโซล ก็ได้แสวงหาความร่วมมือดังกล่าวเช่นกัน

 

โดยระบุว่า ที่ผ่านมา ไทยและเกาหลีมี MOU ร่วมกัน 3-4 ฉบับแต่ยังไม่มี MOU ด้านสิ่งแวดล้อมหรือด้านสภาพภูมิอากาศเลย ในขณะที่เกาหลีใต้มีความจริงจังในการแก้ปัญหาเรื่อง PM2.5 จนประสบความสำเร็จ จึงได้เชิญคุณ ชา ชางฮุน (Sa Changhun) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายคุณภาพอากาศ (Director of Air Quality Policy Division) และคุณคิม ซอนแบ ผู้เชี่ยวชาญด้าน PM2.5 จากเกาหลีใต้มาร่วมแลกเปลี่ยนร่วมกับสำนักสิ่งแวดล้อม และ กรมควบคุมมลพิษ ในการบรรยายแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้เชี่ยวชาญรัฐบาลกรุงโซลด้านการรับมือกับ PM 2.5 ณ ห้องนราธิป กระทรวงการต่างประเทศ (เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567)

 

กรุงโซล เกาหลีใต้ ภาพ: Freepik

 

“Clearer Seoul 2030” ประกาศใช้เมื่อกันยายน 2022 ต่อยอดจาก “Clear Seoul 2007”

 

สงครามฝุ่นที่เคยคุกคามสุขภาพชาวกรุงโซล ทำให้รัฐบาลเกาหลีเริ่มต้นนโยบาย Clear Seoul ในปี 2007 ส่งผลให้ยกเลิกการใช้รถ City Bus แบบดีเซลได้สำเร็จ และมีโครงการส่งเสริมการปล่อยมลพิษต่ำของรถดีเซลเก่าในวงกว้าง นอกจากนี้ยังมีโครงการ Green Car Smart Seoul ที่เป็นรากฐานให้เกิดการใช้ EV อย่างแพร่หลาย

 

โซลต่อยอดความสะอาดต่อด้วยนโยบายห้ามขับขี่ภายในพื้นที่การจราจรสีเขียว (Green Transport Zone) ผลิดอกออกผลเป็นค่าฝุ่น PM2.5 ที่ลดลงกว่าครึ่งเมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว และจำนวนวันอากาศดีที่เพิ่มขึ้น

 

แต่เกาหลีมองว่าค่าฝุ่นในกรุงโซล ยังสูงเมื่อเทียบกับกรุงลอนดอน แอลเอ หรือปารีส จึงได้เตรียมมาตรการ Clearer  Seoul 2030 ที่มีความเข้มข้นมากกว่าเดิมออกมาใช้ โดยวางเป้าหมายให้ปริมาณฝุ่นลดลงให้เหลือ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรให้ได้ภายในปี 2026 และจะลดมลพิษทางอากาศลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030

 

ชา ชางฮุน (Sa Changhun) ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายคุณภาพอากาศ (Director of Air Quality Policy Division) เกาหลีใต้

 

เจาะ “Clearer Seoul 2030” นโยบายต่อสู้สงครามฝุ่น PM2.5 ของเกาหลี กับทิศทางหลัก 3 ประการ:

 

1.แผนเปลี่ยนรถยนต์ดีเซลให้เป็นรถปล่อยมลพิษต่ำโดยเร็วที่สุด

2.ขยายเขตการห้ามรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษไปทั่วกรุงโซล

3.ทำให้กรุงโซล เป็นเมืองที่ผู้คนเข้าถึงอากาสบริสุทธิ์ได้จากทุกที่และทุกมิติของชีวิต

 

 

1.

เปลี่ยนรถยนต์ดีเซลให้เป็นรถปล่อยมลพิษต่ำ  

28% ของสาเหตุการเกิดฝุ่น PM2.5 ในกรุงโซลเกิดจากรถยนต์ดีเซล

โดยเฉพาะรถที่วิ่งระยะไกลและต้องวิ่งเข้าออกซอกซอยในเขตบ้านเรือนหรือเขตที่พักอาศัยเช่น รถขนส่งพัสดุ รถบัสระยะใกล้หรือ Town Bus หรือรถทำความสะอาด มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนให้เป็นรถปล่อยมลพิษต่ำอย่างเร่งด่วนที่สุดเพื่อสุขภาพของประชาชน จึงวางแผนที่จะเปลี่ยนรถขนส่งพัสดุและมอเตอร์ไซค์ขนส่งอาหารที่อยู่ในชีวิตประจำวันให้เป็นยานพาหนะไฟฟ้าทั้งหมด เนื่องจากกรุงโซลเป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมการส่งวัสดุและฟู้ดเดลิเวอรี่อย่างกว้างขวาง ยานพาหนะในกลุ่มนี้จึงปล่อยมลพิษสูงเป็นพิเศษ

 

รถบัสระยะใกล้ Town Bus ที่เข้าถึงเขตที่พักอาศัยได้ลึกกว่าเมื่อเทียบกับ City Bus ทั่วไป แต่ยังเป็นแบบดีเซลอยู่ ต่างจาก City Bus ทั่วไปที่เลิกใช้ดีเซลไปแล้ว ในอนาคตจึงมีแผนเปลี่ยน Town Bus ให้เป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด และยังวางแผนเปลี่ยนรถทำความสะอาดให้เป็นรถ CNG หรือรถไฟฟ้าทั้งหมดด้วย

 

กรุงโซล เกาหลีใต้ ภาพ: Pixabay

 

2.

ขยายเขตห้ามขับขี่รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเพื่อลดมลพิษทางอากาศให้ได้อย่างก้าวกระโดด

จากการบังคับใช้การห้ามขับขี่เพื่อจัดการฝุ่นตามฤดูกาล (โดยเฉพาะในช่วง 4 เดือนในฤดูหนาวพฤศจิกายน- กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นฤดูที่ฝุ่นพิษหนาแน่นที่สุด) พบว่า ปริมาณการสัญจรของรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 5 ในกรุงโซลลดลงถึง 97%

 

ขยายการห้ามขับขี่รถเก่าควบคู่ไปกับการเร่งให้เลิกใช้รถยนต์เครื่องสันดาปอย่างด่วนที่สุด สำหรับการห้ามขับขี่รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 5 ซึ่งมีการบังคับใช้แค่ในเฉพาะในพื้นที่การจราจรสีเขียวและบังคับใช้ช่วงการจัดการฝุ่นตามฤดูกาลไปแล้วนั้น มีแผนจะบังคับใช้ข้อห้ามดังกล่าวทั่วกรุงโซลโดยไม่จำกัดเขตในปี 2025 ส่วนการห้ามขับรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษในระดับ 4 มีแผนเริ่มบังคับใช้ทั่วกรุงโซลในปี 2030

 

ก่อนที่จะมีการบังคับใช้นโยบายการห้ามขับขี่ รัฐบาลกรุงโซลได้เริ่มสนับสนุนให้มีการทำลายรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 4 ก่อนกำหนดไปแล้วด้วย จากการเริ่มโครงการปล่อยมลพิษต่ำอย่างจริงจังในปี 2007 จนถึงปัจจุบัน มีรถที่ปล่อยมลพิษในระดับ 5 ที่ปฏิบัติตามโครงการดังกล่าวราว 110,000 คัน ในปี 2023 มีผู้เข้าร่วมโครงการทำลายรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 4 ก่อนกำหนดเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดการทำลายรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษระดับ 4 ก่อนกำหนดนั้นพุ่งไปถึงกว่า 9,000 คันเมื่อปีที่ผ่านมา ทั้งนี้การนำรถเข้าโครงการทำลาย ไม่มีค่าใช้จ่าย รัฐเป็นผู้จัดการให้ทั้งหมด

 

เดิมเกาหลียังมีนโยบายในการสนับสนุนเงินเพิ่มเติมสำหรับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่ หลังจากทำลายรถเก่าไปแล้ว ซึ่งหากไม่มีการซื้อรถใหม่ก็จะไม่สามารถขอรับเงินสนับสนุนได้ นโยบายนี้ไม่มีส่วนทำให้รถยนต์ลดลง ในครึ่งปีหลังนี้จึงได้มีการออกโครงการที่เรียกว่า  Climate Fund โดยการมอบยอดค่าใช้จ่ายใน Climate Card (เป็นเงิน 65,000 วอนหรือราว 1,600 บาท) ให้กับประชาชนที่ทำลายรถเก่าไปแล้วแต่ยังไม่ได้ซื้อรถใหม่เป็นระยะเวลา 1 ปี

 

Climate Card คือบัตรโดยสารขนส่งสาธารณะแบบกำหนดระยะเวลาใช้ เมื่อเติมเงิน 1 ครั้ง สามารถใช้บริการขนส่งสาธารณะได้ทั้งหมด รวมถึงรถจักรยานสาธารณะแบบไม่จำกัดจำนวนครั้งได้ด้วย

 

“จุดยืนหลักของรัฐบาลโซลคือการเลิกใช้รถยนต์เครื่องสันดาป ทั้งการขยายการห้ามขับขี่ในพื้นที่จราจรสีเขียวในปี 2035 และการเลิกใช้รถยนต์เครื่องสันดาปในกรุงโซลและและทั่วประเทศในปี 2050 คือเป้าหมายของเรา”

 

นายชา ชางฮุนย้ำว่า "เราจะเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคแห่งยานยนต์ไฟฟ้าด้วยข้อจำกัดการขับขี่รถยนต์เครื่องสันดาปและเพิ่มการติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าซึ่งเป็นการเปิดยุคแห่งรถไฟฟ้า 10% ในปี 2026 และในปี 2030 รถยนต์จำนวน 1 ใน 4 คันของรถที่ลงทะเบียนในกรุงโซลจะเป็นรถไฟฟ้า"

 

เจาะ Clearer Seoul 2030 สงครามฝุ่น 20 ปี ความจริงจังแบบเกาหลีแก้ PM2.5 สำเร็จ!

 

3.

ปรับปรุงคุณภาพอากาศสำหรับพื้นที่สาธารณะ ประชาชนเข้าถึง "อากาศบริสุทธิ์" ได้ทุกที่

นอกจากยานพาหนะ พื้นที่อยู่อาศัยนับเป็นอีกหนึ่ง “จุดบอด” ในการบริหารจัดการปัญหามลพิษ จากหลากหลายสาเหตุของการเกิด PM2.5 ในกรุงโซล "ฝุ่นฟุ้งกระจายและเครื่องจักรก่อสร้าง" นับเป็นอีก 2 สาเหตุที่มีสัดส่วน 24% และ 20% ตามลำดับ จึงได้มีการนำระบบตรวจจับฝุ่น PM2.5 แบบต่อเนื่องผ่านการใช้ Internet of Things หรือ IoT มาใช้ช่วยในการบริหารจัดการการปล่อยมลพิษในไซต์งานก่อสร้าง มีแผนการจำกัดการใช้งานเครื่องจักรก่อสร้างแบบเก่าในไซต์งานก่อสร้างที่มีฝุ่นฟุ้งกระจายทุกแห่งด้วย

 

มากกว่านั้นมลพิษทางอากาศที่เกิดจากอุปกรณ์ทำความร้อนและจากสถานประกอบการเป็นสาเหตุของการเกิดฝุ่น PM2.5 ถึง 27% จึงจะทำการเปลี่ยนอุปกรณ์ทำความร้อนเช่น Burner และ Boiler ให้เป็นอุปกรณ์แบบ Eco Friendly ทั้งหมด

 

และยังได้เริ่มต้นจัดการปัญหาโอโซน ความเสี่ยงใหม่ต่อระบบทางเดินหายใจที่มีความแตกต่างจากปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อลดปริมาณ VOCs -Volatile organic Compounds) หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่ก่อให้เกิดโอโซน ส่วนใหญ่ปล่อยมาจากโรงพิมพ์ ร้านซักผ้า หรืออุปกรณ์ทาสีต่างๆ จึงมีการส่งเสริมการลด VOCs และวางแผนบังคับใช้ผลิตภัณฑ์ที่มี VOCs ต่ำ

 

ชา ชางฮุน ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายคุณภาพอากาศและคุณคิม ซอนแบ ผู้เชี่ยวชาญด้าน PM2.5 จากเกาหลีใต้

 

การออกแบบนโยบายให้เข้ากับเมืองและดำเนินการเชิงรุก

สรุปสั้นๆ การที่เกาหลีสามารถปรับปรุงคุณภาพอากาศของกรุงโซลได้นั้นเป็นเพราะการออกแบบนโยบายให้เข้ากับเมืองและดำเนินการเชิงรุก กุญแจสำคัญคือ การเปลี่ยน City Bus แบบดีเซลให้เป็นแบบ CNG หรือไฟฟ้าทั้งหมด และการกำหนดพื้นที่จราจรสีเขียวที่ช่วยลดมลพิษทางอากาศของทั้งประเทศ

 

จากความพยายามเชิงนโยบายเมื่อเทียบกับปี 2005 ในปี 2020 ปริมาณฝุ่น PM2.5 ของกรุงโซล ลดลงถึง 75% และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลดลงถึง 14% ตัวเลขดังกล่าวเกิดจากการคำนวณโดยโปรแกรมของสถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมกรุงสตอร์กโฮม ซึ่งกรุงโซลได้รับการประเมินในระดับดีเยี่ยม ซึ่งการได้รับการยอมรับในระดับสากลนี้มีความหมายต่อรัฐบาลกรุงโซลมาก

 

และหากปฏิบัติตามนโยบายการปรับปรุงคุณภาพอากาศและนโยบายความเป็นกลางทางคาร์บอนที่วางไว้ คาดการณ์ว่าในปี 2025 ฝุ่น PM2.5 จะลดลงถึง 78% และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะลดลงถึง 79% รวมถึงมลพิษทางอากาศและก๊าซเรือนกระจกก็มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน