posttoday

ผสานแนวคิด ถมทะเล สร้างเกาะเขื่อนอ่าวไทย จาก ปาล์มจูไมราห์ Delta Works

15 กันยายน 2567

“สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” แบบจำลองความคิด โครงการสร้างเกาะเขื่อน ถมทะเล ป้องกันน้ำท่วมของไทย ผุดขึ้นมาอีกครั้งในรัฐบาล “แพทองธาร” ไม่ใช่สิ่งใหม่ แต่คือการผสานแนวคิดจากระบบจัดการน้ำที่ดีที่สุดของโลกมารวมกันไว้ ทั้งจากเกาะต้นปาล์มของดูไบ และ Delta Works จากเนเธอร์แลนด์

“กรุงเทพฯ เสี่ยงจมน้ำในปี ค.ศ. 2030”

จากการคาดการณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2573 หรือ ค.ศ. 2030 (อีก 6 ปีข้างหน้า) มากกว่า 96% ของพื้นที่กรุงเทพฯ อาจถูกน้ำท่วมหากเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่กว่าปกติในรอบ 10 ปี จากรายงาน "ten-year flood" ของกรีนพีซ หรือในชื่อไทย "อุทกภัยคาบอุบัติซ้ำ 10 ปี" หมายถึง "เหตุการณ์น้ำท่วมชายฝั่งที่เกิดจากคลื่นพายุซัดฝั่งและระดับน้ำขึ้นสูงสุด โดยมีโอกาส 10% ต่อปีที่จะเกิดน้ำท่วมสูงเกินระดับน้ำทะเล" ประกอบกับกรุงเทพฯ เป็นนครที่ตั้งอยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1.5 – 2 เมตรเท่านั้น และมีบางพื้นที่ เช่น รามคำแหง บางกระปิ สุขุมวิท อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 2 เมตร ไม่นับว่าปัญหาจาก Climate Change ที่เป็นตัวเร่ง เป็นเหตุให้ไทยต้องเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างเร่งด่วน

 

“สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” จึงถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งในรัฐบาลยุคนี้ที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อ แพทองธาร ชินวัตร

 

โครงการนี้เคยมีการนำเสนอในช่วงการหาเสียงของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตรมาแล้วแต่ยังไม่ได้ใช้ และเริ่มมีการกลับมาพูดถึงอีกครั้งหลังการแสดงวิสัยทัศน์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ทักษิณ ชินวัตร บนเวที "Vision for Thailand 2024" ว่า

 

“ผมเคยพูดไว้นานแล้ว แต่ยังไม่ได้ทำ นั่นคือ การถมทะเลบางขุนเทียน ปากน้ำ เพื่อให้ได้พื้นที่ ขยายความแออัดของ กทม.ส่วนหนึ่งและทำให้เป็นเมืองสีเขียว และเป็นเมืองใหม่ให้รถไฟฟ้าวิ่งเท่านั้น มีรถไฟเชื่อม ป้องกันน้ำท่วม กทม. ได้ เราต้องเตรียมการป้องกันน้ำท่วม กทม.ตั้งแต่วันนี้”

 

ผสานแนวคิด ถมทะเล สร้างเกาะเขื่อนอ่าวไทย จาก ปาล์มจูไมราห์ Delta Works

 

ขณะที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นปัญหาที่รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาและป้องกันเพื่อไม่ให้ประชาชนจำนวนมากได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมที่เป็นปัญหาที่มีความรุนแรงขึ้นทุกปี

และล่าสุด เรื่องนี้ได้กลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง เมื่อ “แบบจำลองความคิด” เรื่องนี้ ได้ถูกพูดคุยออกมาจาก ปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ ซึ่งเป็นทีมคิดนโยบายสิ่งแวดล้อมของพรรคเพื่อไทย

 

“รูปแบบโครงการไม่ใช่แค่ถมทะเล แต่เป็นแนวคิดสร้างเกาะ 9 เกาะในอ่าวไทยรูปตัว ก. เชื่อมต่อกันและสร้างเขื่อนกั้นน้ำทะเลความยาวรวมประมาณ 100 กิโลเมตร แต่ละเกาะให้สัมปทานเอกชนลงที่ลงทุน 99 ปี ใช้เวลาก่อสร้างถึง 20 ปี หวังสร้างเกาะที่บางขุนเทียนเป็นแห่งแรกในรัฐบาลนี้”

 

พื้นที่โครงการครอบคลุมตั้งแต่จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพฯ สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ไปถึงจังหวัดชลบุรี รวมพื้นที่กว่า 16,000 ตารางกิโลเมตร มีเป้าหมายให้สามารถป้องกันน้ำท่วม กทม. – ปริมณฑล และพื้นที่อื่นๆ ในภาคกลาง โดยวางแผนให้เป็น “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” ซึ่งเป็นการสร้างเกาะเชื่อมต่อกันเหมือนไข่มุกร้อยเป็นเส้นทางวงโค้งตามแนวของอ่าวไทยที่มีลักษณะเหมือนตัว ก. รวมถึงการก่อสร้างประตูน้ำเพื่อควบคุมระดับน้ำทะเล โครงการลักษณะนี้ มีต้นแบบให้เห็นมากมายหลายประเทศ ที่มีชื่อเสียงด้านวิศวกรรมและเป็นแบบอย่างในระดับโลกก็มี โครงการ Delta Works ของเนเธอร์แลนด์ และ โครงการเกาะต้นปาล์ม หรือ ปาล์มจูไมราห์ (Palm Jumeirah) ของนครดูไบ

 

ผสานแนวคิด ถมทะเล สร้างเกาะเขื่อนอ่าวไทย จาก ปาล์มจูไมราห์ Delta Works

 

“โครงการนี้มีชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า โครงการสร้อยไข่มุกอ่าวไทย ซึ่งถือว่าโครงการนี้ถือว่าเป็นโครงการที่ใหม่มาก แต่ก็มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องตัดสินใจว่าจะเริ่มเดินหน้าได้หรือไม่ เพราะโครงการนี้เป็นโครงการที่ต้องแข่งกับเวลา เพราะทั้งโครงการจะต้องใช้เวลาสร้างกว่า 20 ปี และจะเป็นโครงการที่ใช้เงินในการก่อสร้างมากที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่ประเทศไทย เคยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานมา โดยหากสามารถเดินหน้าในพื้นที่แรกคือ เกาะในพื้นที่ชายทะเลบางขุนเทียน หากสามารถเริ่มทำได้ก่อนในสมัยรัฐบาลนี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีเพราะจะทำให้เกิดการลงทุนต่อเนื่องในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป” นายปลอดประสพ กล่าว 

 

ใช้วิธีการถมทะเลและสร้างเขื่อน

การสร้างเกาะเขื่อน มีตั้งแต่การใช้เขื่อนและเสาเข็มเพื่อตอกลงในน้ำ และระบายน้ำออกก่อนถมดินเพิ่มเติม เช่นในเนเธอร์แลนด์ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทั้งการระบายน้ำและเขื่อนยืดหยุ่นเพื่อสร้างพื้นที่ใช้งานขนาดใหญ่ วิธีนี้ยังถูกนำไปใช้ในโครงการถมทะเลขนาดใหญ่เช่นในดูไบ ฮ่องกง และเพิร์ธ ออสเตรเลีย 

 

แม้การถมทะเลอาจไม่ยั่งยืนในระยะยาว เนื่องจากต้องการการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่องและสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากมาย นอกจากนี้ ยังต้องเผชิญกับความท้าทายจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่การถมทะเลและการสร้างเกาะเทียมเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมและการขาดแคลนพื้นที่ที่สามารถพัฒนาได้ โดยประเทศตัวอย่างที่เคยดำเนินการโครงการถมทะเลขนาดใหญ่ ได้แก่ ดูไบ และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งทั้งสองประเทศประสบความสำเร็จในการใช้วิธีการนี้อย่างเป็นรูปธรรม 

 

โ้ครงการเกาะเทียม ปาล์ม จูไมราห์ (Palm Jumeirah)  ของดูไบ จากมุมสูง l ภาพ wikipedia

 

"ดูไบ" ทุ่มงบมหาศาลสร้างเกาะ เขื่อน ถมทะเลใน 2 โครงการยักษ์ใหญ่ ล่าสุดกับ โครงการหมู่เกาะ The World

 

หมู่เกาะต้นปาล์ม คือเกาะเทียมที่มีการถมทะเลสร้างขึ้นนอกแนวชายฝั่ง ดำเนินการโดยนาคีล พรอพเพอร์ตีส์ (Nakheel Properties) บริษัทพัฒนาอสังหาที่รัฐบาลสนับสนุน ประกอบด้วยโครงการใหญ่ถึง 3 โครงการ มีการสร้างเกาะเทียมทั้งหมด 3 เกาะได้แก่ ปาล์มจูไมราห์ ปาล์มเจเบล อาลี และปาล์มเดียรา

 

เริ่มจากโครงการแรกเกาะต้นปาล์ม หรือ ปาล์มจูไมราห์ (Palm Jumeirah) ที่ปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์หรูหราอลังการตั้งอยู่ราว 4,000 หลัง และโรงแรมอีกหลายสิบแห่ง

 

มุมใกล้ของเกาะเทียม ปาล์มจูไมราห์ l ภาพจาก www.theviewpalm.ae

 

อภิมหาแลนด์มาร์คบนทะเลสุดอลังการ ปัจจุบันสร้างเสร็จสมบูรณ์เเละเปิดให้บริการเพียง 1 เกาะเท่านั้น คือ ปาล์ม จูไมราห์ ที่เริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2001 เป็นเกาะที่มีขนาดเล็กที่สุดในบรรดาเกาะทั้งสาม มีขนาดพื้นที่ประมาณ 25 ตารางกิโลเมตร และถูกล้อมด้วยเขื่อนหินทิ้งถึง 7 ล้านตันที่ทำเป็นลักษณะรูปครึ่งวงกลมล้อมรอบตลิ่งรูปทรงต้นปาล์มยักษ์เอาไว้ ด้วยความยาวประมาณ 11 กิโลเมตร

 

ไฮไลท์ของเกาะต้นปาล์มก็คือส่วนของวิลล่าหรูที่ตั้งอยู่บนใบปาล์มทั้ง 17 แฉก ทุกบ้านจะมีชายหาดหน้าบ้านเป็นของตัวเอง ทำให้ ปาล์มจูไมราห์ เป็นที่หมายปองของบรรดาคนดังตัวแม่จากทั่วโลกที่มาจับจองเป็นเจ้าของกันตั้งเเต่ยังเกาะยังสร้างไม่เสร็จ จนเรียกได้ว่าเป็นจุดรวมของมหาเศรษฐีจากทั่วโลกไว้ด้วยกัน

 

โครงการปาล์มเจเบล อาลี (The Palm Jebel Ali) ซ้าย และปาร์มจูไมราห์ (ขนาดเล็กกว่า)  ของดูไบ | ภาพ Google Map
 

การก่อสร้าง ปาล์มจูไมราห์ ใช้เวลาประมาณ 10 ปี โดยแรงงานสำคัญจากอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ 

 

ตามมาด้วยโครงการที่ 2 ในปี 2004 คือ โครงการปาล์มเจเบล อาลี (The Palm Jebel Ali) ที่สร้างต่อมาจนถึงปัจจุบัน และโครงการที่ 3 คือ ปาล์มเดียรา (The Palm Deira)  ที่คาดกันว่าน่าจะเสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 10-15 ปี

 

ทั้ง 3 โครงการดำเนินการโดยคณะวิศกรและบริษัทก่อสร้าง Jan de Nul Group จากเบลเยี่ยมและบริษัท Van Oord จากเนเธอร์แลนด์

 

โครงการเดอะเวิลด์ เคียงข้าง เกาะต้นปาล์ม ภาพจาก wikipedia

 

โครงการเดอะ เวิลด์ (The World Islands)

เป็นโครงการที่มีการออกแบบให้เป็นกลุ่มของ เกาะเทียมจำนวน 260 เกาะ มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์และคาดว่าจะใช้เงินมากกว่าหมู่เกาะต้นปาล์มหลายเท่า ดำเนินการโดยบริษัทนาคีลเจ้าเดิม ที่จะทำการจัดวาง ถมทะเล สร้างเกาะเทียม เป็นรูปทรงของทวีปต่าง ๆ บนโลก ได้แก่ แอฟริกา, แอนตาร์กติกา, เอเชีย, ยุโรป, อเมริกาเหนือ, โอเชียเนีย และอเมริกาใต้ โดยกลุ่มเกาะของเดอะ เวิลด์ จะตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งนครดูไบราว 4 กิโลเมตร

 

เชคโมฮัมเหม็ด อัล มักตูม เจ้าผู้ครองนครดูไบ ประกาศเปิดตัวโครงการเดอะ เวิลด์ ขึ้นเมื่อปี 2003

ล่าสุดหลังจากเปิดตัว เดอะเวิลด์ มานานกว่า 20 ปี วันนี้ยังคงเป็นเพียงผืนทราย มีแต่ความว่างเปล่าเป็นส่วนใหญ่

บีบีซีระบุว่า เหตุผลที่การก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ บนเกาะหยุดชะงักลงเกิดจากวิกฤตทางการเงินที่เกิดขึ้นในดูไบตั้งแต่ช่วงปี 2007 และลากยาวมาถึงปี 2010 และดูไบประสบปัญหาราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ตกฮวบ ซึ่งทำให้บริษัทพัฒนาอสังหาฯ ต่างระงับแผนการพัฒนาโครงการเอาไว้ก่อนหรือไม่ก็ยกเลิกไปเลย

 

ภาพโครงการ The World ที่ยังเป็นผืนทรายที่ว่างเปล่าในปัจจุบัน

 

แผนการสร้างคือการให้กับบริษัทเอกชนต่าง ๆ เข้ามาก่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกบนเกาะ เช่น โรงแรม ภัตตาคาร รีสอร์ท หรือคฤหาสน์ เพื่อดึงดูดให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกันทั่วโลก

 

หากสร้างเสร็จ “กลุ่มเกาะเทียมของเดอะ เวิลด์” จะทำให้นครดูไบมีพื้นที่ของชายหาดเพิ่มอีก 230 กิโลเมตร เพราะมันถูกสร้างขึ้นด้วยทรายปริมาณ 321 ล้านลูกบาศก์เมตรที่ขุดขึ้นมาจากอ่าวเปอร์เซีย

 

นักนิเวศวิทยาวิจารณ์ว่า การขุดทรายขึ้นมาได้สร้างความเสียหายให้กับแนวปะการังในอ่าวเปอร์เซีย ทำให้บริษัทนาคีลที่ก่อสร้างเกาะเทียม ได้ว่าจ้างให้นักชีววิทยาทางทะเลสร้างและฟื้นฟูแนวปะการังขึ้นมาใหม่

 

เทียบกันชัดๆ 3 โครงการจากซ้าย โครงการปาล์มเจเบล อาลี ปาล์มจูไมราห์ และ The World | ภาพ Google Map

 

ปัญหาสำคัญในการก่อสร้าง

มีรายงานว่า ปัญหาการสร้างเกาะเทียมรูปต้นปาล์มที่ผ่านมา เกิดขึ้นตั้งเเต่เริ่มต้นการขุดทรายมาถมทะเล เพราะทรายที่นำมาถมในช่วงแรกนั้นเป็นทรายจากพื้นดินมันจึงไม่สามารถเกาะยึดตัวใต้น้ำ เมื่อถมลงไปแล้วทรายก็ละลายพัดออกไปตามกระเเสน้ำหมด
 

จึงต้องเปลี่ยนไปใช้ทรายจากใต้ทะเลเเทน โดยการให้เรือขนทรายไป "ดูดทราย" จากกลางทะเลแล้วมาถมเกาะทีละนิดๆ เเทน ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องยากลำบากมาก
 

เเต่เมื่อก่อสร้างเกาะจนดูเป็นรูปเป็นร่างเหมือนตันปาล์มขึ้นมาเเล้ว ก็เกิดปัญหาขึ้นมาอีก เพราะน้ำทะเลนั้นเข้ามากัดเซาะและทำให้พื้นที่เกาะลดลงเรื่อย จึงต้องมีการถมทรายเข้าไปอีก เป็นที่มาของการสร้างเขื่อนหินทิ้งรูปครึ่งวงกลมที่ต้องใช้หินถึง 7 ล้านตันมาล้อมรอบเกาะต้นปาล์มไว้

 

เเต่พอแก้ปัญหาการกระทบของคลื่นกับตัวเกาะได้แล้ว ก็เกิดปัญหาอื่นตามมาอีก เนื่องจากน้ำทะเลไม่ไหลเวียนภายในตัวเกาะทำให้เกิดน้ำเน่าและส่งกลิ่นเหม็น เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายก็ต้องช่วยกันหาวิธีในการระบายทำให้น้ำหมุนเวียน โดยการติดตั้งเครื่องที่ทำให้น้ำหมุนเวียน และน้ำไม่ขังจนทำให้เกิดน้ำเน่าขึ้น
 

ระยะเวลากว่า 10 ปีตั้งแต่ 2001-2011 มีการก่อสร้างและแก้ไขปัญหาต่างๆ มากมาย และแม้แต่ปัจจุบันก็ยังคงมีอสังหาริมทรัพย์บนเกาะที่มีการพัฒนาไปอยู่อย่างต่อเนื่อง


 

ส่วนหนึ่งของโครงการ Delta Works ภาพจาก holland.com

 

ถอดประสบการณ์เจ็บปวดจากน้ำท่วมเนเธอร์แลนด์สู่ไทย

กรุงเทพฯ กับประเทศเนเธอร์แลนด์ มีสภาพภูมิประเทศที่ใกล้เคียงกันมาก เพราะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าน้ำทะเลเพียงไม่กี่เมตร

 

เนเธอร์แลนด์ เป็น 1 ในประเทศที่มีสถานะเป็น "ประเทศแผ่นดินต่ำ" (Low Countries) จึงมักมีปัญหาน้ำท่วมเกิดขึ้นในประเทศแถบนี้อยู่บ่อยครั้ง พื้นที่กว่า 17% ของเนเธอร์แลนด์เป็นพื้นที่ที่เกิดจากการถมทะเล และพื้นที่ประมาณ 20% ของประเทศอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ส่วนอีก 50% อยู่สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 1 เมตร เท่านั้น 

 

ประสบการณ์เจ็บหนักจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งใหญ่ ที่มีชื่อว่า ‘The 1953 North Sea Flood’ เมื่อ 67 ปีที่แล้ว หรือ ในปี 1953 (ส่งผลให้ชีวิตชาวดัตช์สูญหายไปกว่า 1,836 คน บ้านเรือน 4,500 หลังถูกทำลาย ประชาชนกว่า 100,000 คนกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย) ให้บทเรียนสำคัญที่ทำให้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ยอมทุ่มเม็ดเงินจำนวนมหาศาลไปกับโครงการ ‘Delta Project’ หรือ 'Delta Works'

 

"Delta Works" ประกอบด้วยการสร้างคันกั้นน้ำ เขื่อน และสร้างกำแพงกันคลื่นจากลมพายุกว่า 14 แห่ง รวมทั้งสร้างประตูระบายน้ำบริเวณปากอ่าวเพื่อควบคุมน้ำทะเลไม่ให้ทะลักเข้าแม่น้ำ ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมในพื้นที่อยู่อาศัยของประชาชน รวมๆ มีโครงการย่อยถึง 16 โครงการรอบพื้นที่ที่ติดทะเลทั่วประเทศ บริเวณปากแม่น้ำไรน์-เมิส-เชลดา เพื่อป้องกันไม่ให้ประวิติศาสตร์ซ้ำรอย ดำเนินการโดย หน่วยงานจัดการน้ำ Rijkswaterstaat (RWS)

 

โครงการ Delta Works ที่ปัจจุบันเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมโครงการ l ภาพ rotterdamexperience.com

 

Delta Works ใช้งบประมาณกว่า 2.4 แสนล้านบาท คิดเป็น 0.84 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ทั้งประเทศ จากเดิมที่ตั้งไว้เพียง 3.6 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ใช้เวลาในการก่อสร้างดำเนินโครงการเรื่อยมาถึง 47 ปี ตั้งแต่ปี 1954 หลังเกิดเหตุ ‘The 1953 North Sea Flood’ เพียง 1 ปี จนเป็นตัวอย่างให้กับชาวโลก ทั้งจากความสำเร็จในการป้องกันน้ำท่วม การสร้างพื้นที่ใหม่จากทะเลเพื่อการเกษตรและการพัฒนาเมือง

 

เส้นทาง Afsluitdijk ระยะทาง 32 กม. แยกทะเลสาบไอเซลเมียร์ (Ijsselmeer) ทะเลสาบตื้นที่มนุษย์สร้างขึ้น (ขวา) ออกจากทะเล Wadden (ซ้าย) ปกป้องพื้นที่ได้หลายพันตารางกิโลเมตร

 

อีกหนึ่งโครงการถมทะเลในเนเธอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียง คือ "Zuiderzee Works" เป็นโครงการยักษ์ใหญ่ที่เปลี่ยนทะเลตื้นทางใต้ที่ชื่อ Zuiderzee ให้กลายเป็นทะเลสาบน้ำจืด โครงการนี้ช่วยป้องกันการไหลเข้าของน้ำทะเลที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ต่ำ

 

Afsluitdijk เป็นทางและเขื่อนที่ตัดทะเลตอนใน คือทะเลใต้ (Zuiderzee) ออกจากทะเลเหนือ (North Sea) เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Zuiderzee Works เป็นระบบเขื่อนที่มนุษย์สร้างขึ้น โดยรวมแล้วเป็นโครงการวิศวกรรมไฮดรอลิกที่ใหญ่ที่สุดที่ดำเนินการโดยเนเธอร์แลนด์ในช่วงศตวรรษที่ 20

 

เขื่อนนี้และโครงการ Afsluitdijk มีเป้าหมายเพื่อปกป้องเนเธอร์แลนด์ตอนกลางจากผลกระทบของทะเลเหนือ เพิ่มแหล่งอาหารของชาวดัตช์โดยการพัฒนาและการเพาะปลูกพื้นที่เกษตรกรรมใหม่ จากการควบคุมระดับน้ำทะเลและสร้างผืนแผ่นดินใหม่จากการสร้างเขื่อนระบายน้ำออกไป

 

ทั้ง 2 อภิมหาโครงการนี้กลายเป็นแบบอย่างให้หลายประเทศรวมถึงไทยต้องเดินทางไปดูงานถอดโมเดล ถอดความสำเร็จกันมากมาย เพราะความสำเร็จมันเห็นภาพชัด ภาคการเกษตรไม่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เกษตรกรสามารถวางแผนการเพาะปลูกได้ตามที่ต้องการ เพราะมีแหล่งน้ำจืดใช้อย่างเพียงพอ จนปัจจุบันเนเธอร์แลนด์สามารถส่งออกสินค้าเกษตรสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงสหรัฐอเมริกา ซึ่งคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.1 ล้านล้านบาท

 

ภาพจาก rotterdamexperience.com

 

โครงการ Delta Works นอกจากจะช่วยป้องกันน้ำท่วมแล้ว ยังเชื่อมต่อเนเธอร์แลนด์เข้ากับหมู่เกาะน้อยใหญ่ด้วยสะพาน Zeeland Bridge ช่วยให้การคมนาคม การขนส่งสินค้าสะดวกขึ้น และการสัญจรยังเชื่อมต่อกับเบลเยียมตามข้อตกลงการส่งสินค้าของทั้งสองประเทศอีกด้วย

 

"Delta Works" ได้รับการยกย่องว่าเป็น “หนึ่งในสิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกยุคใหม่” นอกจากเป็นโครงการจัดการน้ำขนาดใหญ่ที่สุดในโลกแล้ว ยังเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคปัจจุบันด้วย ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีการเสริมความแข็งแกร่งด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

 

เพิ่มประสิทธิภาพด้วย ‘Water Authority Tax’ หรือ ภาษีจัดการน้ำ

เป็นเพราะในระหว่างการจัดทำโครงการ "Delta Works" ต้องใช้งบปริมาณมหาศาล ประกอบกับลักษณะภูมิประเทศของเนเธอร์แลนด์ที่เต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองมากมาย ประชาชนทุกครัวเรือนจึงต้องจ่าย ‘ภาษีเกี่ยวกับน้ำ’ ให้กับ ‘Waterschap’ องค์กรการจัดการน้ำระดับท้องถิ่น และ ‘Rijkswaterstaat’ องค์กรการจัดการน้ำระดับประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการซ่อมแซมเขื่อน ประตูระบายน้ำ ระบบป้องกันน้ำท่วมต่างๆ รวมถึงการบริการจัดการน้ำอื่นๆ เช่น การบำบัดน้ำเสีย ซึ่งโดยรวมแล้วค่าใช้จ่ายส่วนนี้ชาวดัตช์จะจ่ายราวๆ 200 – 500 ยูโร/ปี หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,000 – 17,000 บาท/ปี (ขึ้นอยู่กับรายได้และพื้นที่อยู่อาศัย) 
 

ยิ่งกว่านั้น เนเธอร์แลนด์ยังออกกฎหมายให้ประชาชนทุกคนต้องว่ายน้ำเป็นเพื่อเอาตัวรอด เพราะถึงแม้ Delta Works จะได้รับการรับรองว่ามีความแข็งแรงมากๆ แต่ก็ใช่ว่าในอนาคตจะไม่เกิดเหตุฉุกเฉินที่มีน้ำท่วมหรือเขื่อนกั้นน้ำพังลงเหมือนอย่างในอดีตอีก

 

จากภาพรวมแล้วต้องบอกว่า เนเธอร์แลนด์ และ ดูไบมีความพร้อมและครอบคลุมทุกด้านในการบริหารจัดการน้ำ ที่สำคัญคือ ความต่อเนื่อง ยาวนาน ในการทำงานอย่างจริงจัง ไม่สะดุดไม่ว่าจะผลัดเปลี่ยนไปกี่รัฐบาล...

 

 

ภาพจา www.theviewpalm.ae

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก:

urbancreature.co / bbc.com / เพจสมองไหล / ฐานเศรษฐกิจ