posttoday

The Great Garuda โครงการพญาครุฑพิทักษ์อ่าวจาการ์ต้า จะยอมจมหรือย้ายเมือง?

18 กันยายน 2567

"Great Garuda" โครงสร้างยักษ์รูปพญาครุฑ มูลค่ากว่า 1.32 ล้านล้านบาท ที่ประกอบด้วยกำแพงกั้นน้ำทะเลยักษ์ยาว 40 กม. และเกาะเทียมอีก 17 เกาะ จะสำเร็จและสามารถปกป้องเมืองหลวงของอินโดนีเซียจากการจมน้ำในปี 2050 ได้สำเร็จไหม เป็นคำถามที่ย้อนถามกลับมายังบ้านเราไม่ต่างกัน

กรุงจาการ์ต้าเป็นหนึ่งในบรรดาเมืองที่กำลังจมน้ำอย่างรวดเร็วที่สุดในโลก เทียบกับเวนิสไม่ติดฝุ่นที่จมลงเพียงปีละ 2 มิลลิเมตรต่อปี โดยเฉพาะเขตตอนเหนือที่ประชากรกว่า 4 ล้านคนอาศัยอยู่ในชุมชนแออัดที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลถึง 4 เมตร พื้นที่ทางตอนเหนือของจาการ์ตา รวมถึงกำแพงกันคลื่นที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องพื้นที่เหล่านี้ กำลังจมลงประมาณ 25 เซนติเมตรต่อปี

 

การยุบตัวของดินอย่างช้าๆ นอกจากน้ำทะเล ต้นเหตุเกิดจากฝีมือมนุษย์

ชาวกรุงจาการ์ต้าส่วนมากพึ่งน้ำจากบ่อน้ำใต้ดินในการอุปโภคบริโภค ทำให้พื้นดินของกรุงจาการ์ต้าค่อยๆ ยุบตัวต่ำลงโดยเฉลี่ยปีละ 7.6 เซ็นติเมตร โดยปัจจุบัน กรุงจาการ์ต้ามีประชากรทั้งหมดราว 11 ล้านคน ข้อมูลจาก Habitat แห่งสหประชาชาติในปี ค.ศ.2006 ชี้ว่าเทศบาลของกรุงจาการ์ต้าจัดหาน้ำดื่มได้ไม่เพียงพอเเก่ความต้องการของประชาชน ทำให้คนหันไปใช้น้ำใต้ดิน

 

ประชาชนส่วนมากที่ต้องใช้น้ำจากบ่อน้ำใต้ดินเป็นหลักอาศัยอยู่ในชุมชนยากจนตามเเนวชายฝั่งทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ยุบตัวลงรวดเร็วมากที่สุด ส่วนชาวอินโดนีเซียที่ร่ำรวยส่วนใหญ่จะอาศัยอยู่ในเขตตอนกลางและทางใต้ของเมืองหลวง เพราะเเนวชาวฝั่งของกรุงจาการ์ต้ามีปัญหาน้ำทะเลท่วมมาตั้งเเต่สมัยที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์เเลนด์ ทำให้เขตเเนวชายฝั่งกลายเป็นที่อยู่อาศัยของคนยากจนที่สุดในเมืองหลวง

 

ตำแหน่งของจาการ์ต้า ในหมู่เกาะของประเทศอินโดนีเซีย (ภาพ Google Map)

 

“จาการ์ต้า” ทั้งเมืองจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดภายในปี 2050

ผลจากการสูบน้ำใต้ดินอย่างต่อเนื่องและจากการพัฒนาโครงการสร้างตึกระฟ้า และอัตราการจมระหว่าง 5 ถึง 10 เซนติเมตรต่อปี สูงสุด 20-25 เซนติเมตร ตั้งแต่ปี 2000 ถึงปี 2050 คาดว่าพื้นที่น้ำท่วมชายฝั่งจะเพิ่มขึ้นเป็นราว 110.5 ตารางกิโลเมตร จากการทรุดตัวของแผ่นดินและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น คาดว่าทั้งเมืองจะจมอยู่ใต้น้ำทั้งหมดภายในปี 2050 ประชากรของเมืองมากกว่า 10.6 ล้านคนจะต้องอพยพ โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมากที่สุด

 

น้ำท่วมในจาการ์ตาเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในช่วงฤดูมรสุม ในปี 2007 เมืองนี้ประสบภัยน้ำท่วมรุนแรงซึ่งส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 76 ราย และมีผู้ประสบภัยน้ำท่วมกว่าครึ่งล้านคนต้องอพยพ

 

อันตรายจากน้ำท่วมมีมาช้านานตั้งเเต่สมัยที่เป็นอาณานิคมของเนเธอร์เเลนด์ ชาวดัตช์ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหานี้เป็นอย่างดี ได้สร้างเครือข่ายคลองเพื่อพยายามควบคุมการไหลของน้ำ แต่ก็ไม่สามารถควบคุมได้ ในขณะที่เมืองกำลังจมลงอย่างรวดเร็ว วิศวกรและนักธุรกิจชาวดัตช์จึงเสนอแนวทางแก้ปัญหาอีกครั้งเพื่อเอาชนะน้ำและทวงแผ่นดินคืน

 

“เราทุกคนรู้ดีว่าจาการ์ตาจมลงตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 และก่อนหน้านั้นด้วย แต่ไม่มีใครกังวลหรือมีแนวคิดว่ามันจะจมขนาดไหน” JanJaap Brinkman นักอุทกวิทยาจากสถาบันวิจัย Deltares ของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งใช้เวลาส่วนใหญ่ศึกษาปัญหาน้ำท่วมในจาการ์ตา กล่าว

 

อ่าวจาการ์ต้าของอินโดนีเซีย (ภาพ Google Map)

 

The Great Garuda Project - โครงการพญาครุฑ ปกป้องจาการ์ต้า 

แผนกอบกู้เมืองที่จมน้ำเร็วที่สุดในโลกที่ชวนให้ตื่นตะลึงและเป็นที่ถกเถียงกันอย่างแพร่หลายจึงเกิดขึ้น นั่นคือโครงการกำแพงกั้นน้ำทะเลยักษ์และโครงการ “Great Garuda” ตามชื่อ พญาครุฑ สัญลักษณ์ของอินโดนีเซีย หัวใจสำคัญของข้อเสนอนี้ อยู่ที่ค่าใช้จ่ายประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเบาๆ ประมาณ 1.32 ล้านล้านบาท

 

โครงการพญาครุฑ คือเขื่อนขนาดใหญ่ที่ทอดยาว 40 กิโลเมตร สูง 25 เมตร ข้ามอ่าวจาการ์ตา ซึ่งหากโครงการสำเร็จจะกลายเป็นทะเลสาบขนาดใหญ่ที่มนุษย์สร้างขึ้น และจะมีการสร้างมหานครชายฝั่งแห่งใหม่รอบๆ บนพื้นที่ถมทะเลที่มีการสร้างเกาะเทียมขึ้นอีก 17 แห่งในพื้นที่บริเวณชายฝั่งทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า  (ผนังกั้นน้ำทะเลของเดิมในบริเวณนี้กำลังยุบตัวลงราว 25 เซ็นติเมตรต่อปี)

 

โครงการนี้มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า โครงการพัฒนาชายฝั่งแบบบูรณาการเมืองหลวงแห่งชาติ (National Capital Integrated Coastal Development (NCICD) ) ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ และได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีโจโก วิโดโด อดีตผู้ว่าการจาการ์ตาของอินโดนีเซีย และขณะนี้ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนที่นำโดยเนเธอร์แลนด์และเกาหลีใต้ แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่คืบหน้าเนื่องจากขนาดของโครงการที่ใหญ่มาก และความวุ่นวายทางการเมืองของอินโดนีเซียเอง

 

ภาพโครงการ Great Garuda (ภาพจาก abitare.it)

 

หน้าที่ในการฟื้นฟูแนวชายฝั่งและที่สำคัญที่สุดคือการนำเสนอวิสัยทัศน์ในอนาคตสำหรับเมืองหลวงของอินโดนีเซีย ได้รับการออกแบบโดยบริษัทสถาปัตยกรรม KuiperCompagnons แห่งเมืองรอตเทอร์ดัม ความร่วมมือระหว่างอินโดนีเซียและกลุ่มบริษัทดัตช์ (Witteveen+Bosa และ Grontmij) ซึ่งก่อตั้ง NCICD และทั้งหมดมีส่วนร่วมในการจัดทำแผนแม่บทที่เริ่มต้นในปี 2008

 

Victor Coenen ผู้จัดการโครงการแห่งบริษัทวิศวกรรมสัญชาติดัทช์ที่ควบคุมการก่อสร้างกำแพงกั้นทะเลนี้ กล่าวว่า ทางบริษัทหวังว่าจะก่อสร้างบางส่วนของกำแพงที่เป็นส่วนที่เร่งด่วน เสร็จสิ้นภายใน 3 ปี และจะก่อสร้างให้เสร็จทั้งหมดภายใน 10 ปี

 

เขาชี้เเจงว่า การก่อสร้างในส่วนเเรกเป็นการก่อสร้างผนังกั้นน้ำทะเลขึ้นทดแทนผนังกั้นทะเลของเดิมที่อาจจะพังทลายลงได้ทุกเมื่อเนื่องจากพายุ หรือในช่วงคลื่นทะเลสูง โดยการก่อสร้างผนังกั้นทะเลใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2014 และกำลังเดินหน้าอยู่ในขณะนี้บริเวณชุมชนเเนวชายฝั่งในทางเหนือของกรุงจาการ์ต้า

 

ภาพโครงการ Great Garuda (ภาพจาก abitare.it)

 

เมกะโปรเจ็กต์ Great Garuda มี 2 เฟส

เฟส 1: การเสริมความแข็งแกร่งและเพิ่มประสิทธิภาพเขื่อนกั้นน้ำแนวชายฝั่งที่มีอยู่แล้วตลอด 30 กิโลเมตร และการสร้างเกาะเทียม 17 เกาะในอ่าวจาการ์ตา วางศิลาฤกษ์ไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม 2014

เฟส 2 : การสร้างกำแพงกันน้ำทะเลขนาดยักษ์ ซึ่งจะเป็นเขื่อนกั้นน้ำขนาดความกว้าง 32 กิโลเมตร ประกอบด้วยสนามบิน ท่าเรือ ทางด่วน พื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่อุตสาหกรรม โรงบำบัดขยะ อ่างเก็บน้ำ และพื้นที่สีเขียว บนพื้นที่ประมาณ 25,000 ไร่

 

เมกะโปรเจ็กต์ในฝันของอินโดนีเซีย ออกแบบถมทะเล ตั้งความหวังเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ (แบบเดียวกับสร้อยไข่มุกอ่าวไทย)

 

การถมทะเลมีจุดเริ่มต้นมาจากแผนที่หยุดชะงักไปในสมัยประธานาธิบดีซูฮาร์โต กับโครงการสร้างเกาะเล็กๆ แห่งใหม่ 17 เกาะนอกชายฝั่งของเมือง แต่ได้กลายมาเป็นแนวคิดที่อลังการงานยักษ์มากขึ้น แผ่ขยายออกไปจากกำแพงกันน้ำทะเลในรูปร่างของครุฑกางปีกป้องอ่าวจาการ์ต้า

 

The Great Garuda โครงการพญาครุฑพิทักษ์อ่าวจาการ์ต้า จะยอมจมหรือย้ายเมือง?

 

นอกจากเขื่อนหรือกำแพงที่กั้นน้ำทะเลท่วมเมือง ภายในกำแพงกั้นนี้จะมีการสร้างทะเลสาบขนาดใหญ่เพื่อกั้นน้ำไหลออกจากแม่น้ำ 13 สายในจาการ์ตา โครงสร้างรูปพญาครุฑนี้คาดว่าจะกลายเป็นโครงสร้างที่เป็นสัญลักษณ์ตามแบบเกาะเซ็นโตซ่าของสิงคโปร์ ใช้เวลาสร้างราว 10 ถึง 15 ปีกว่าที่กำแพงกั้นนี้จะก่อสร้างสำเร็จ และเขื่อนกั้นน้ำที่มีอยู่เดิมก็จะได้รับการเสริมความแข็งแกร่งในช่วงเวลาดังกล่าว

 

หลังจากโครงการแล้วเสร็จ อ่าวจาการ์ตาจะกลายเป็นอ่างเก็บน้ำจืด ที่ล้อมรอบด้วยกำแพงกั้นน้ำทะเลขนาดยักษ์ และที่สุดแล้วก็จะกลายเป็นแหล่งน้ำสะอาดเพียงพอสำหรับผู้คนทั้งเมือง

 

ส่วนกำแพงกั้นน้ำทะเลขนาดยักษ์จะกลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเมือง โดยการลงทุนจากหุ้นส่วนเอกชน รวมไปถึงสำนักงานและที่อยู่อาศัยระดับไฮเอนด์ ไปจนถึงที่อยู่อาศัยราคาประหยัด พื้นที่สีเขียว และชายหาด

 

เมืองริมน้ำแบบบูรณาการแห่งใหม่นี้จะประกอบด้วยเกาะเทียม 17 เกาะ พร้อมด้วยทาง ทางรถไฟ และท่าเรือ และน่าจะสามารถรองรับผู้คนได้ประมาณสองล้านคน อาจมีความยาว 32 กิโลเมตรจากเมืองตังเกรังไปยังท่าเรือตันจุงปรีออก

 

The Great Garuda โครงการพญาครุฑพิทักษ์อ่าวจาการ์ต้า จะยอมจมหรือย้ายเมือง?

 

ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม

การศึกษาวิจัยของกระทรวงกิจการทางทะเลและการประมงของอินโดนีเซียพบว่า เมื่อโครงการนี้เริ่มดำเนินการแล้ว อาจเกิดปัญหากัดเซาะตามเกาะต่างๆ ทางฝั่งตะวันตกของอ่าวจาการ์ตา ทำลายแนวปะการัง และนำไปสู่ปัญหาน้ำเสียหลังกำแพงกั้นน้ำทะเล

 

แต่ผู้เชี่ยวชาญชาวดัตช์ ปฏิเสธปัญหาเรื่องน้ำเสีย โดยให้คำมั่นว่า น้ำจากเมืองจะได้รับการบำบัด แม่น้ำจะปล่อยน้ำสะอาดลงในอ่าว

 

แต่โครงการนี้ก็ยังถูกต่อต้านจากกลุ่มสิ่งแวดล้อมและชาวประมงหลายกลุ่ม ฟอรัมสิ่งแวดล้อมอินโดนีเซีย (WALHI) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อการประมงแห่งอินโดนีเซีย (Kiara) ยื่นอุทธรณ์เพื่อให้ยุติการก่อสร้างบนเกาะ G ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ 1 ใน 17 เกาะที่จะสร้างขึ้น แต่ศาลฎีกาปฏิเสธคำอุทธรณ์ดังกล่าว

 

ภาพกรุงจาการ์ต้า

 

จะจบที่จมน้ำหรือย้ายเมืองหลวง?

ทั้งนี้ หากกำแพงกั้นน้ำทะเลขนาดใหญ่ไม่สามารถปิดกั้นน้ำทะเลได้ หรือโครงการถูกระงับหรือเลื่อนออกไปเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจ ความยากลำบากทางวิศวกรรม ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือการตัดสินใจทางการเมือง และที่สุดแล้วหากไม่มีการดำเนินการใดๆ เพื่อลดการทรุดตัวของแผ่นดินเมืองจาการ์ตาก็จะต้องจมอยู่ใต้น้ำอย่างแน่นอน

 

ผู้วิจารณ์โครงการดังกล่าวได้โต้แย้งว่า แม้ว่านักลงทุนและรัฐบาลจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายของโครงการ แต่ประชาชนของจาการ์ตาต่างหากที่จะเป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายสำหรับโครงสร้างพื้นฐานนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะกล่าวว่า ที่สุดแล้วคนจนจะได้รับประโยชน์จากโครงการเหล่านี้ แต่ความจริงก็คือคนจนของจาการ์ตาเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุด

 

เมื่อถึงเวลาที่จะขยายกำแพงกั้นน้ำทะเลที่มีอยู่เดิมของจาการ์ตา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการกำแพงกั้นน้ำทะเล ชุมชนชาวกัมปุง (หรือชุมชนแออัด) ชุมชนที่ยากจนที่สุดและเปราะบางที่สุดในจาการ์ตาจำนวนมากจะถูกกำจัด และผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าวถูกขับไล่ออกไปโดยใช้กำลัง

 

มากกว่านั้นก็เป็นประเด็นการเมืองไม่ต่างจากบ้านเรา ปัจจุบันโครงการ Great Garuda เกิดความชะงักงัน ถึงขณะนี้มีเกาะที่ถูกถมเพียง 4 จาก 17 เกาะ และเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงผู้ว่าราชการนครจาการ์ตาคนใหม่เมื่อปี 2017 ใบอนุญาตถมเกาะก็ถูกระงับลง

 

คงต้องดูกันต่อว่า จาการ์ต้า จะปักหลักสู้ หรือ จะลี้ภัยจมน้ำไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ “นูซันตารา” แต่ไม่ว่าจะย้ายไปอยู่ที่ไหนก็คงจะหนีภัยจาก Climate Change ได้ยาก โครงการในฝันนี้คงไม่ต่างจากแนวคิดเมกะโปรเจ็กต์ในบ้านเราทั้งหลายทั้ง แลนด์บริดจ์และล่าสุดกับ “สร้อยไข่มุกอ่าวไทย” และยิ่งห่างไกลจากโมเดลต้นแบบไม่ว่าจะเป็นดูไบ เนเธอร์แลนด์ หรือเซ็นโตซ่า ซึ่งทั้งหมดนี้มันอยู่ที่ความพร้อมในมิติต่างๆ อย่างแท้จริง ไม่ใช่ความฟุ้งฝันแต่คือความเป็นจริง...

 

ขอบคุณข้อมูลจาก

VOA / The Guardian / กรุงเทพธุรกิจ