posttoday

“เผ่าภูมิ” ชี้ “เศรษฐกิจสีเขียว” ไม่ทำไม่ได้ คือทางรอดของโลก และโอกาสของไทย

26 กันยายน 2567

รมช. คลัง ชี้ช่อง 3 เครื่องมือ Green Finance ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว สถาบันการเงินรัฐพร้อมปล่อยสินเชื่อทั้ง Green Bond และ Blue Bond ดอกเบี้ยต่ำกว่า เข้าถึงง่ายกว่า มาตรการภาษีหนุน EV ต่อ เตรียมเก็บภาษีคาร์บอน ภาษีแบตเตอรี่ EV ในอนาคต ย้ำปรับโครงสร้างไม่เป็นภาระประชาชน

งานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green ที่ โรงแรมเรเนซอง ราชประสงค์ จัดโดยฐานเศรษฐกิจ วันที่ 26 กันยายน 2567 นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้ขึ้นกล่าวในหัวข้อ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ว่างานวันนี้เป็นเวทีสำคัญเพราะเป็นเวทีที่เป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

 

วันนี้เราพูดถึงเศรษฐกิจสีเขียว และการนำพาประเทศไปสู่จุดนั้น แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้นขอพูดถึงสองประเด็นคือ หนึ่งทำไมจึงต้องเขียว และถ้ามันมีความจำเป็นก็ต้องนำไปสู่คำถามที่สอง คือเราจะทำอย่างไร เราจะเดินไปอย่างไร ก็คือภาครัฐ กระทรวงการคลัง ภาคเอกเชน จะจับมือกันอย่างไรในการนำพาประเทศไทยให้ไปสู่จุดนั้น

 

1.เศรษฐกิจสีเขียวจำเป็นหรือไม่ ตนมองเป็น 2 มิติในเรื่องเศรษฐกิจสีเขียวคือ 1. เป็นความอยู่รอดทางชีวิต 2.เป็นความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ

 

มิติที่หนึ่ง ความอยู่รอดทางชีวิตถ้าเราไม่ก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทั้งความอยู่รอดทางสภาพแวดล้อม ที่อยู่อาศัยในการดำรงชีวิต จะเกิดอะไรขึ้นหากเราปล่อยปละละเลยและทำลายสิ่งแวดล้อมแม้ในเรื่องเล็กๆ โดยไม่มีความตื่นรู้จนนำไปสู่ความเสื่อมโทรมทางสภาวะแวดล้อมกระทั่งนำไปสู่จุดจุดหนึ่งที่เราจะไม่สามารถอยู่ได้ ที่ปรากฎชัดในตอนนี้คือ เรื่องอุทกภัย PM2.5 และโลกร้อน สิ่งต่างๆ เหล่านี้เกิดจากน้ำมือมนุษย์ เพราะฉะนั้นนี่คือสัญญาณเบื้องต้น แต่สิ่งที่จะตามมาหากทุกคนไม่ร่วมมือกันคือโลกใบนี้จะอยู่ไม่ได้อีกต่อไป

 

มิติที่สอง ที่ให้ความสำคัญคือ ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจถ้าประเทศไทยไม่เดินสู่เศรษฐกิจสีเขียว เราจะเจอกับอะไร

 

“ถ้าท่านผลิตสินค้าหรือบริการหนึ่งแล้วไม่เขียวหรือไม่ได้รับการรับรองว่าสินค้าหรือบริการนั้นเป็นสีเขียวสิ่งหนึ่งที่จะต้องเจอแน่ๆ คือ 18,000 มาตรการกีดกันทางการค้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน”

 

ตัวเลขนี้น่ากลัว เพราะหมายความว่า ถ้าเราผลิตสินค้าชนิดหนึ่งแล้ว คนหนึ่งผลิตได้เขียวอีกคนไม่ได้เขียว หมายถึงเราแพ้ 18,000 มาตรการกีดกันทางการค้าที่ทำร้ายเรา และใน 10 ปีที่ผ่านตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นปีละ 16% ตัวเลขนี้บ่งบอกถึงทิศทางว่า ท่านอยู่ไม่รอดแน่ถ้าผู้ผลิตหรือภาคเอกชนไม่ดำเนินไปในทิศทางการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

 

ปัจจุบันประเทศไทยส่งออกสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพียงแค่ 7% กว่าๆ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะฉะนั้นหมายถึงสินค้าไทยเริ่มต้นจากจุดที่เดินตามคนอื่นอยู่และจะเดินตามไปเรื่อยๆ และช่องว่างที่เราเดินตามก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าเราไม่ทำอะไร

 

การใช้พลังงานสะอาดก็เช่นเดียวกัน ในประเทศไทยมีการใช้พลังงานสะอาดเพียง 13-14% เทียบกับประเทศอื่นๆ ใกล้ๆ เช่นเวียดนามอยู่ที่ 19% เพราะฉะนั้นนี่เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ประเทศไทยตามหลังอยู่ ทั้งหมดนี้คือเรื่องของเศรษฐกิจ คือการนำเอาเรื่องการเข้าสู่สิ่งแวดล้อมสีเขียวมาผูกกับเศรษฐกิจและเป็นข้อกีดกันทำให้ประเทศไทยเดินต่อยาก ถ้าเราไม่พัฒนาตัวเองหรือไม่ปรับโครงสร้างตัวเองไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ได้

 

“เผ่าภูมิ” ชี้ “เศรษฐกิจสีเขียว” ไม่ทำไม่ได้ คือทางรอดของโลก และโอกาสของไทย

 

GDP หายไป 1 ใน 4 จากพิษสิ่งแวดล้อมถ้าโลกนี้ไม่ปรับตัว

นายเผ่าภูมิยังได้ยกงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแสตนฟอร์ด (สหรัฐอเมริกา) มากล่าวถึงด้วยว่า ต่อจากนี้อีก 70 ปีถ้าทั้งโลกนี้ไม่ทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย GDP ของทั้งโลกจะหายไป 1 ใน 4 ซึ่งน่าตกใจและไม่น่าเชื่อแต่หากดูผลการศึกษามีความเป็นไปได้

 

ส่วนอีกเรื่องคือ Green Finance หรือ การสนับสนุนทางมาตรการทางการเงินของโลกในการทำให้โลกนี้ขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ตัวเลขในปัจจุบันน้อยกว่าสิ่งที่ต้องเป็นอยู่ 6 เท่า หมายความว่า การใช้มาตรการทางการเงินของโลกยังไม่เพียงพอในการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว

 

สิ่งที่เป็นหมุดหมายสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องเจอและเป็นพันธสัญญาที่หากไม่ทำก็จะมีผลทางด้านลบทางเศรษฐกิจคืออะไร?

2030 เราต้องลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนให้ได้ 30-40% จากกิจกรรมปกติที่เราปล่อยอยู่นับเป็นความท้าทายและอีกไม่ไกลจากนี้เราจะได้เห็นว่าเราทำได้หรือไม่ได้ หากดูตามเทรนด์ในปัจจุบันจากตัวเลขนั้นยังไม่ได้ ต้องทำมากกว่านั้น

2050 Carbon Neutrality

2065 Net Zero

 

ทั้งหมดคือ 3 หมุดหมายสำคัญที่เป็นข้อผูกมัดทางเศรษฐกิจ ทำไม่ได้มีผลกระทบทางด้านลบต่อประเทศ ทำได้มีผลกระทบทางด้านบวกต่อประเทศ นี่คือมิติทางเศรษฐกิจ ความอยู่รอดทางเศรษฐกิจ ถ้ามองการขับเคลื่อนไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ทำไม่ได้คือภาระของประเทศ ทำได้คือโอกาสของประเทศ และโอกาสนี้เปิดอยู่ ผู้เล่นตรงนี้ยังน้อยอยู่ ถ้าประเทศไทยแทรกตัวเข้าไปตอนนี้ได้คือโอกาส ไม่อยากให้มองเป็นแค่ภาระ เพราะในอีกด้านหนึ่งของเหรียญนั่นคือโอกาสของประเทศไทย ถ้าเราชิงบทบาทนี้ของโลกนี้ได้

 

“เราอยู่ไม่รอดถ้าเราไม่ทำอะไร และเราจะอยู่ไม่รอดทั้งทางด้านชีวิตและเศรษฐกิจ และไม่ใช่เป็นสิ่งที่ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ เพราะไม่ทำจะเป็นปัญหา ไม่ทำเราจะอยู่ไม่รอดทั้งใน 2 มิตินี้”

 

Green Economy - เศรษฐกิจสีเขียวคือความจำเป็น

คือสิ่งที่เราต้องไปสู่จุดนั้นให้ได้ ทำไม่ได้มีปัญหา คำตอบคือ มันเป็นข้อผูกมัด มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ มันคือทางรอด เพราะฉะนั้นมันคือความจำเป็น เมื่อจำเป็น ทำอย่างไร กระทรวงการคลัง โดยเฉพาะกรมสรรพสามิตที่มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ และส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจทางด้านมาตรการทางการเงิน

 

สิ่งที่กระทรวงการคลังรับผิดชอบต้องทำคือ แบ่งเป็น 2 ด้าน

 

มิติทางด้านการเงิน กระทรวงการคลังมีสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่สามารถทำได้ โดยอุตสาหกรรมไหนที่สนับสนุนมาตรการสีเขียวจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า มีเงื่อนไขที่ผ่อนปรนกว่า สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายกว่า ซึ่งกระทรวงการคลังเห็นความสำคัญของเรื่องนี้เป็นจุดศูนย์กลางของการขับเคลื่อนประเทศด้วยการให้สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินของรัฐและสถาบันการเงินพาณิชย์

 

ในส่วนของแบงค์รัฐอย่าง EXIM BANK เป็นสถาบันการเงินที่ขึ้นชื่อว่า เป็นสถาบันการเงินที่ตื่นรู้ด้านเศรษฐกิจสีเขียวอันดับต้นๆ ของประเทศ EXIM BANK มีพอร์ตสินเชื่อสีน้ำเงิน (Blue Bond) และพอร์ตสีเขียว (Green Bond) พอร์ตสีน้ำเงินคือการดูแลสิ่งแวดล้อมทางทะเล พอร์ตสีเขียวคือการดูแลสิ่งแวดล้อมทางบกและทั่วไป ทั้งสองพอร์ตมีสินเชื่ออยู่ 70,000 กว่าล้านกำลังจะก้าวไปสู่ 100,000 กว่าล้าน ใหญ่ที่สุดในประเทศ น่าตกใจที่แบงค์ไม่ใหญ่แต่มีความตื่นรู้ และมีพอร์ตสินเชื่อด้านสิ่งแวดล้อมใหญ่ที่สุดในประเทศ นั่นคือความภาคภูมิใจ นั่นคือสิ่งที่บอกว่าเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้

 

สายการให้สินเชื่อสีเขียวมีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำกว่า ถูกกว่า เข้าถึงง่ายกว่า นับเป็นอีกนวัตกรรมหนึ่งของ EXIM BANK และ บสย. ก็เช่นกัน ในส่วนของการค้ำประกันสินเชื่อได้มีการให้นโยบายไปว่า ให้ความสำคัญอันดับแรกกับการปรับเปลี่ยนธุรกิจให้เป็นสีเขียว เป็นปัจจัยบวกในการพิจารณาในการปล่อยสินเชื่อและในการค้ำประกันสินเชื่อ

 

ดังนั้นอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นอุตสาหกรรมที่ภาครัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ

 

“เผ่าภูมิ” ชี้ “เศรษฐกิจสีเขียว” ไม่ทำไม่ได้ คือทางรอดของโลก และโอกาสของไทย

 

เครื่องมืออีกด้านคือ ภาษี ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตใช้มาตรการในเรื่องของการสนับสนุน EV ทั้ง EV3.3 และ EV3.5 เรื่องการช่วงชิงฐานการผลิตให้ค่ายรถมาผลิตในประเทศไทย มีการให้สิทธิประโยชน์ในด้านต่างๆ เพราะการมาตั้งฐานการผลิตจะย้อนกลับมาให้ประโยชน์เป็นกำลังการผลิตในประเทศไทย

 

ในปี 2567-2570 จะมีรถ EV ที่ต้องผลิตชดเชยอีกไม่ต่ำกว่า 1 แสนคันที่ต้องมาผลิตในประเทศเพื่อชดเชยสิ่งนี้นั่นคือกุศโลบาย ที่ใช้มาตรการทางภาษีในการขับเคลื่อนให้ไทยเป็นจุดศูนย์กลางในการผลิต EV ให้ได้ นอกเหนือจากนั้นมันคือมิติด้านสิ่งแวดล้อม เป็นด้านบวกด้านสิ่งแวดล้อม

 

อีกประเด็นที่สำคัญมากในวันนี้คือ เรื่องของ Carbon Tax หรือ ภาษีคาร์บอน ปัญหาหลักของประเทศไทยที่สำคัญที่สุดคือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ เพราะหากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต 

 

ยกตัวอย่างเช่น  เดิมน้ำมันเสียภาษีสรรพสามิต 6 บาท ปรับเปลี่ยนเป็นเสียภาษีสรรพสามิต 5 บาทกว่า แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน บวกกันแล้วเท่าเดิม หมายความว่าประชาชนจ่ายเงินค่าสินค้าที่มีภาษีน้ำมันเท่าเดิมแต่มีสัดส่วนของภาษีคาร์บอนอยู่ในนั้น ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่จะปรับเปลี่ยนในอนาคต

 

สมการคิดภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน

 

สรุปก็คือการคิดคำนวณภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ใส่เข้าไปใส่ในโครงสร้างของภาษี ซึ่งต่อไปประเทศไทยจะมีสิ่งที่เรียกว่า "ราคาของคาร์บอน" อยู่ในสินค้าที่มีการผลิตคาร์บอนสูงๆ ทำให้เกิดแรงจูงใจในการผลิตสินค้าที่มีคาร์บอนต่ำลง เพราะหมายถึงการเสียภาษีคาร์บอนต่ำลง ใครผลิตได้คือผู้ชนะ ส่งผลให้เกิดการพยายามหาน้ำมันที่สะอาดขึ้น หรือก๊าซ LPG ที่สะอาดขึ้น ใครละเลยต่อสิ่งแวดล้อมราคาที่ต้องจ่ายก็จะแพง

 

อีกเรื่องคือภาษีแบตเตอรี่ ปัจจุบันยังใช้ภาษีแบบเดียวกันหมด ต่อไปจะเป็นระบบขั้นบันได เพราะแบตเตอรี่แต่ละชนิดสร้างมลพิษแตกต่างกัน ควรจะเก็บภาษีแตกต่างกันเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

ทั้งหมดนี้นำไปสู่การก้าวไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวโดยไม่เป็นภาระกับประชาชน

 

“เผ่าภูมิ” ชี้ “เศรษฐกิจสีเขียว” ไม่ทำไม่ได้ คือทางรอดของโลก และโอกาสของไทย