posttoday

"ปลดระวางถ่านหิน” (Coal Phase Out) เรื่องใหญ่ใน 3 มิติพลังงาน

04 ตุลาคม 2567

การยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยต้องคำนึงถึงมิติทางพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

KEY

POINTS

  • เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดอุณหภูมิไม่เกิน 1.5°C จำเป็นต้องมีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก 40% ภายในปี 2030 และเพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทนอย่างมีนัยสำคัญ
  • IEA (International Energy Agency) ประมาณการว่าการเลิกใช้ถ่านหินทั่วโลกจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO₂ ลงได้กว่า 7 กิกะตันภายในปี 2030
  • การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) และเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage, CCS) จะช่วยให้การปลดระวางถ่านหินเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น

 

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นประเด็นสำคัญระดับโลก “การปลดระวางถ่านหิน” หรือ Coal Phase Out ถือเป็นหนึ่งในหัวข้อที่ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในแวดวงวิชาการที่มีการประเมินผลกระทบทั้งในด้านพลังงาน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ

 

"การปลดระวางถ่านหิน" หมายถึง การปรับลดหรือยุติการใช้โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้า โดยเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานที่สะอาดกว่าแทน เพื่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาปัญหามลพิษทางอากาศ ต่อไปนี้เป็นการวิเคราะห์มิติสำคัญ 3 ด้านของการปลดระวางถ่านหิน โดยรวบรวมจากผลการวิจัยจากวารสารวิชาการหลักทั่วโลก ดังนี้:

 

1. มิติด้านความมั่นคงทางพลังงาน (ไฟฟ้า) และแผนเลิกใช้ถ่านหิน

ในแง่ของความมั่นคงทางพลังงาน การปลดระวางถ่านหินจำเป็นต้องพิจารณาความเสี่ยงในการขาดแคลนไฟฟ้า เนื่องจากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินอย่างกะทันหันอาจทำให้ระบบไฟฟ้าไม่เสถียร โดยเฉพาะในช่วงที่พลังงานหมุนเวียนยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการทางพลังงานได้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม หลายประเทศได้วางแผนเลิกใช้ถ่านหินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เช่น เยอรมนีที่วางแผนปลดระวางถ่านหินภายในปี 2038 โดยใช้พลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติเป็นแหล่งพลังงานทดแทน

 

ใจความสำคัญในด้านความมั่นคงอยู่ที่การประสานแผนพลังงานให้เหมาะสมกับความต้องการทางเศรษฐกิจและการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระยะยาว การเลิกใช้ถ่านหินอย่างมีเหตุผลและยั่งยืนจำเป็นต้องมีนโยบายที่สนับสนุนเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่มั่นคงและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบพลังงาน ข้อเสนอแนะทางวิชาการในมิติความมั่นคง มีดังนี้

 

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

 

  • ข้อเสนอแนะทางวิชาการที่เหมาะสมที่สุดในการเลิกใช้ถ่านหินคือ การพิจารณาถึงสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มขึ้น เพื่อลดการส่งผลกระทบต่อระบบพลังงาน [1]

 

  • ประเทศต้นแบบในการยกเลิกถ่านหิน เช่น สวีเดน เบลเยียม หรือเยอรมันนี ได้ประกาศเลิกใช้ถ่านหิน โดยทางเยอรมันนีตั้งเป้าให้เสร็จสิ้นภายในปี 2038 ส่วนประเทศสวีเดนและเบลเยียมได้เลิกใช้ถ่านหินแล้วในปี 2020 และ 2016 ตามลำดับ โดยภายในปี 2030 ประเทศต่างๆเหล่านี้จะปลดระวางถ่านหินโดยสมบูรณ์พร้อมกับวางแผนปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 350 GW [2]

 

  • ณ ปัจจุบัน ประเทศอย่างเยอรมนีได้กลับมาใช้ถ่านหินอีกครั้งหลังเกิดวิกฤตพลังงานจากการลดลงของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย แต่อย่างไรก็ตาม บางประเทศ เช่น สโลวาเกีย ยังคงยืนหยัดในแผนการเลิกใช้ถ่านหิน โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทุนของสหภาพยุโรปเพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจของภูมิภาคที่พึ่งพาถ่านหิน (Just Transition Fund) [3]

 

  • แม้ว่าประเทศจีนจะตั้งเป้าหมาย “ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)” แต่การยกเลิกใช้ถ่านหินในทันทีไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เนื่องจากถ่านหินยังมีบทบาทสำคัญต่อความปลอดภัยและเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า [1]

 

  • การใช้ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Energy Storage System) และเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage, CCS) จะช่วยให้การปลดระวางถ่านหินเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพและลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น [1]

 

โรงไฟฟ้าถ่านหิน ภาพ: pixabay

 

  • การเลิกใช้ถ่านหินในเยอรมนีมีผลกระทบต่อราคาพลังงานไฟฟ้าเพียงเล็กน้อย เนื่องจากพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติเข้ามาแทนที่ถ่านหิน ซึ่งต่างจากความกังวลที่มีอยู่เดิม [4] [5]

 

  • งานวิจัยเสนอให้มีนโยบายที่เน้นการลดการใช้ถ่านหินออกจากระบบพลังงาน เพื่อเปิดทางให้กับพลังงานทดแทน และสนับสนุนการใช้งานพลังงานสะอาดในระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ การดำเนินนโยบายให้สำเร็จจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือทั้งในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น [6]

 

  • งานวิจัยการยกเลิกใช้ถ่านหินในเขตอ่าวกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า เกิดความล่าช้า โดยชี้ว่าปัจจัยเชิงระบบที่ขัดขวางความก้าวหน้า โดยสาเหตุหลักเกิดจากการบกพร่องในการประสานงานในระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น [6]

 

  • ส่วนปัจจัยอื่นๆที่สร้างความล่าช้าต่อการเลิกใช้ถ่านหินได้แก่ ราคาก๊าซธรรมชาติที่สูง โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานที่ไม่เพียงพอ และกระบวนการอนุมัติโครงการที่ล่าช้า ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้การนำพลังงานทางเลือกเข้ามาใช้แทนไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ [6]

 

  • ตัวอย่างแบบจำลองการคำนวณผลกระทบจากการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศจีนพบว่า หากประเทศจีนดำเนินการเลิกใช้ถ่านหินตามอายุการใช้งาน 30 ปีของโรงไฟฟ้า ผลกระทบคือการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าภายในปี 2028 โดยคาดการณ์ว่าจะขาดแคลนไฟฟ้าจะสูงถึง 6-12 พันล้านกิโลวัตต์/ชั่วโมง/เดือน [7]

 

โรงไฟฟ้าถ่านหิน ภาพ: อินเทอร์เน็ต

 

2. มิติด้านการจ้างงานและเศรษฐกิจ

การเลิกใช้ถ่านหินไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อแรงงานในภาคการผลิตถ่านหิน โดยเฉพาะในประเทศที่มีการผลิตถ่านหินเป็นรายได้หลักของประเทศ เช่น แอฟริกาใต้ และโปแลนด์ การว่างงานอาจเกิดขึ้นหากไม่มีการปรับเปลี่ยนแรงงานเข้าสู่ภาคพลังงานอื่นๆ ยกตัวอย่างในประเทศเยอรมนี การปลดระวางถ่านหินคาดว่าจะทำให้แรงงานในภูมิภาคที่ผลิตถ่านหินลดลงประมาณหนึ่งหมื่นคนภายในปี 2040 ขณะที่การฟื้นตัวของการจ้างงานจะเกิดขึ้นในภาคส่วนพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์และลม

 

การปลดระวางถ่านหินอาจก่อให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและลบต่อสังคมและเศรษฐกิจ ในบางกรณี การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินอาจทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นชั่วคราว แต่ในระยะยาว การเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียนจะช่วยลดต้นทุนพลังงานและลดความผันผวนของราคาพลังงาน ต่อไปนี้เป็นข้อสรุปที่ได้จากงานวิจัยจากวารสารทางวิชาการในมิติด้านแรงงานและเศรษฐกิจ

 

  • การเลิกใช้ถ่านหินจะเพิ่มอัตราการว่างงานโดยรวมประมาณ 0.13% ระหว่างปี 2020-2040 โดยในบางภูมิภาคที่ผลิตถ่านหินลิกไนต์ อัตราการว่างงานอาจเพิ่มขึ้นถึง 1.07% [8]

 

  • การเลิกใช้ถ่านหินจะทำให้มีการย้ายถิ่นฐานออกจากภูมิภาคที่ผลิตถ่านหิน โดยคาดว่าจะลดจำนวนแรงงานในภูมิภาคดังกล่าวลงประมาณ 10,100 คนภายในปี 2040 [4]

 

  • ความท้าทายที่สำคัญคือการจัดการผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในภูมิภาคที่พึ่งพาถ่านหินอย่าง แอฟริกาใต้และ โปแลนด์ ซึ่งจำเป็นต้องมีการวางแผนการเปลี่ยนผ่านแรงงานและกลไกการเงินที่เหมาะสม [3] [4]

 

  • การจ้างงานในภูมิภาคที่ผลิตถ่านหินลิกไนต์ได้รับผลกระทบจากความแข็งแรงของค่าจ้างและสวัสดิการคนว่างงาน รวมถึงการมีตลาดสินค้าท้องถิ่นที่เข้มแข็งและการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด [8]

 

  • การเลิกใช้ถ่านหินภายในปี 2035 ไม่ได้สร้างผลกระทบทางลบต่อสวัสดิการ การบริโภค และการจ้างงานมากกว่าการเลิกใช้ในปี 2040 แต่ยังมีข้อได้เปรียบด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงานที่ดีกว่า [8]

 

  • ประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาขนาดใหญ่อย่างอินเดียและจีน ยังคงพึ่งพาถ่านหินอยู่เพื่อสอดรับกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่โตขึ้น โดยเฉลี่ยโรงไฟฟ้าถ่านหินในภูมิภาคเอเชียมีอายุเฉลี่ย 13 ปี ทำให้ยากต่อการยกเลิกการใช้ถ่านหินอย่างรวดเร็วในอนาคต [4]

 

  • การเลิกใช้ถ่านหินอย่างรวดเร็วในประเทศกำลังพัฒนาจะทำให้เกิดปัญหาทางเศรษฐกิจ เพราะมีการลงทุนในโรงไฟฟ้าถ่านหินมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐที่ยังไม่ได้คืนทุน โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย [4]

 

  • หากต้องการเร่งการเลิกใช้ถ่านหิน ควรเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดการใช้ไฟฟ้าต่อหน่วย GDP อย่างน้อย 5% จากมาตรฐานปัจจุบัน เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคต. [7]

 

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง

 

3. มิติด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต

การปลดระวางถ่านหินมีผลกระทบเชิงบวกอย่างยิ่งต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ตัวอย่างการศึกษาในประเทศจีนพบว่า การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยลง 7% ภายใน 5-9 ปี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุและชุมชนในชนบท การลดภาวะน้ำหนักเกินและความดันโลหิตสูงก็เป็นหนึ่งในผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน ทั้งนี้ยังช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษอากาศ มิติด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตจากการยกเลิกถ่านหิน มีดังนี้

 

  • การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินเฉลี่ยอยู่ที่ 25 GW/ปี ตั้งแต่ปี 2010 โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาและยุโรป แต่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้านสภาพภูมิอากาศ จะต้องเพิ่มอัตราการปิดโรงไฟฟ้าเป็น 90 GW/ปี [4]

 

  • เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดอุณหภูมิไม่เกิน 1.5°C จำเป็นต้องมีการปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินทั่วโลก 40% ภายในปี 2030 และเพิ่มการลงทุนในพลังงานทดแทนอย่างมีนัยสำคัญ [2] [4]

 

  • IEA (International Energy Agency) ประมาณการว่าการเลิกใช้ถ่านหินทั่วโลกจะช่วยลดการปล่อยก๊าซ CO₂ ลงได้กว่า 7 กิกะตันภายในปี 2030 [4]

 

  • การเลิกใช้ถ่านหินในเยอรมนีมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในประเทศอย่างมาก แต่ผลกระทบต่อการปล่อยก๊าซ CO2 ของภาพรวมในยุโรปทั้งหมดจะมีเพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตาม หากมีการเลิกใช้ถ่านหินทั่วทั้งทวีปยุโรป จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 19% ซึ่งมีผลมากกว่าการเลิกใช้ถ่านหินในเยอรมนีเพียงประเทศเดียว [5]

 

  • อีกแนวทางหนึ่งที่สามารถลดการปล่อยก๊าซ CO₂ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นคือการเพิ่มราคาของใบรับรองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดยุโรป (EU Emission Trading Scheme, ETS) [4]

 

  • เส้นทางการเลิกใช้ถ่านหินแบบยืดหยุ่น (Flexible Phase Out, FPO) สามารถลดความเสี่ยงของการขาดแคลนไฟฟ้าได้อย่างมีนัยสำคัญ พร้อมทั้งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลง 4.3% เมื่อเทียบกับเส้นทางการเร่งการเลิกใช้ถ่านหิน (Accelerated Phase Out, APO) [7]

 

  • การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในจีนส่งผลให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใต้ลมจากโรงไฟฟ้าลดอัตราการเจ็บป่วยลง 7% ภายใน 5-9 ปีหลังจากการปิดโรงไฟฟ้า การศึกษาพบว่าผลประโยชน์ด้านสุขภาพมีความเด่นชัดในกลุ่มผู้สูงอายุ, ชาวชนบท, และในพื้นที่ที่มีมลพิษต่ำมาก่อนหน้านี้ นอกจากนั้น การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินยังมีผลทำให้ลดภาวะความเสี่ยงน้ำหนักเกินและความดันโลหิตสูงในประชากร [9]

 

  • การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินช่วยเพิ่มระดับกิจกรรมทางกายและส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งเป็นผลทางอ้อมจากการปรับปรุงคุณภาพอากาศ. [9]

 

การปลดระวางถ่านหินเป็นประเด็นที่ทั่วโลกต้องเผชิญ โดยเฉพาะในประเทศที่พึ่งพาถ่านหินอย่างมาก จากข้อมูลที่นำเสนอไปข้างต้น การยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นกระบวนการที่ต้องดำเนินการอย่างระมัดระวัง โดยต้องคำนึงถึงมิติทางพลังงาน สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดเกิดขึ้นอย่างยั่งยืน มีประสิทธิภาพ และบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน

 

 

ดร. ณัทกฤช อภิภูชยะกุล  อนุกรรมาธิการศึกษาปรับลดและปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

[1] Boqiang Ln & Zhiwei Liu (2024) Optimal Coal Power Phase-Out Pathway Considering High Renewable Energy Proportion: A Provincial Example” Energy Policy, Volume 188, 114071. Available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0301421524000910

[2] IEA (2021) “Phasing Out Unabated Coal: Current Status and Three Case Studies” World Energy Outlook 2021. Available at https://www.iea.org/reports/phasing-out-unabated-coal-current-status-and-three-case-studies/executive-summary

[3] Mišík, Matúš, and Veronika Jursová Prachárová (2023) “Coal Is a Priority for Energy Security, until It Is Not: Coal Phase-Out in the EU and Its Persistence in the Face of the Energy Crisis”, Sustainability 15, No. 8: 6789. Available at https://www.mdpi.com/2071-1050/15/8/6879

[4] IEA (2021) Phasing out coal – World Energy Outlook 2021 – Analysis. Available at https://www.iea.org/reports/world-energy-outlook-2021/phasing-out-coal

[5] Dogan Keles & Hasan Umitcan Yilmaz (2020) “Decarbonisation through coal phase-out in Germany and Europe — Impact on Emissions, electricity prices and power production” Energy Policy, Volume 141, 111472. Available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0301421520302226

[6] Wang et al. (2021) “Explaining the slow progress of coal phase-out: The case of Guangdong-Hong Kong-Macao Greater Bay Region” Energy Policy, Volume 155, 112331. Available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0301421521002019

[7] Zemin Wu et al. (2024) “Exploring phase-out path of China's coal power plants with its dynamic impact on electricity balance” Energy Policy, Volume 187, 114021. Available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0301421524000417

[8] Katja Heinisch et al. (2021) “Power generation and structural change: Quantifying economic effects of the coal phase-out in Germany” Energy Economics, Volume 95, 105008. Available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0140988320303480

[9] Zheng Li & Bohan Jin (2024) “A breath of fresh air: Coal power plant closures and health in China” Energy Economics, Volume 129, 107235. Available at https://www.sciencedirect.com/science/article/abs/pii/S0140988323007338