posttoday

เปิดมุมการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดในเมือง ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิต

18 ตุลาคม 2567

การเก็บค่าธรรมเนียมเข้าเมือง เป็นนโยบายที่หลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เพื่อนำมาแก้ปัญหารถติดลดมลพิษในเมือง โพสต์ ทูเดย์ พาดูว่าที่ผ่านมามีประเทศพัฒนาแล้วที่ไหนบ้างใช้ระบบนี้ และพาไปดูผลของการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดและเข้าเมืองว่าสามารถช่วยพัฒนาประเทศได้อย่างไร

หลังจาก สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เดินหน้าลุยเรื่อง รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายทุกสี ตามนโยบายของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรุัฐนตรี เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้รถบริหารสาธารณะมากขึ้น และลดเรื่องจราจรแออัดและลดปัญหา PM 2.5 

นำไปสู่ประเด็นเรื่องแนวคิดการเก็ย ค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่ติดขัด โดยแนวคิดนี้ได้แรงบันดาลใจจากประเทศพัฒนาแล้วที่มีการดำเนินการและประสบความสำเร็จ อาทิ อังกฤษ สวีเดน สิงคโปร์ 
 

ปัญหารถติดในกทม.คือปัญหาที่แก้ไม่ตกมาทุกยุคทุกสมัย

สำหรับเรื่องนี้เป็นแนวคิดนโยบายที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ต้องการนำมาใช้แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังต้องผ่านอีกหลายขั้นตอน ไหนจะเจอปัญหาอีกหลายอย่าง ไม่ว่าจะเสียงจากประชาชนว่าจะยอมรับในระบบนี้หรือไม่ การสร้างความเข้าใจกับผู้คนพื้นที่ และระบบโครงสร้างพื้นฐาน

อังกฤษประเทศต้นแบบ การเก็บค่าใช้ถนนเช่นค่าผ่านทาง

แนวคิดเรื่อง Road Pricing หรือการเก็บค่าใช้ถนนเช่นค่าผ่านทาง มีมาเก่าแก่ในประเทศอังกฤษ ราวปลาย ค.ศ. 1600 การเก็บค่าใช้ถนน ( Toll ) ถือเป็นเรื่องปกติ และในปลายทศวรรษ 1700 เครือข่ายถนนที่เข้าถึงใจกลางเมืองของอังกฤษหลายแห่ง ใช้การเก็บค่าผ่านทางเพื่อนำเงินไปสร้างถนน

ต่อมา ในปลาย ค.ศ. 1800 การเก็บค่าผ่านทางก็ลดน้อยลงเนื่องจาก ค่าใช้ทางแพงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการโดยสารรถไฟ และการจัดเก็บค่าผ่านทางก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ

จากนั้นก็มีการเก็บค่าผ่านทาง Congestion Toll หรือ Congestion Tax ซึ่งเป็นการต่อยอดแนวคิดเดิม คือ ให้เก็บค่าผ่านทางเมื่อเข้าไปในพื้นที่จราจรติดขัด เพื่อลดปัญหา

ส่วนปัจจุบัน ค่าธรรมเนียมการจราจรคับคั่งในลอนดอนเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากรถยนต์และยานยนต์ส่วนใหญ่ที่ขับอยู่ภายในเขตการจราจรคับคั่ง (CCZ) ในใจกลางลอนดอนระหว่างเวลา 07.00 น. ถึง 18.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และระหว่างเวลา 12.00 น. ถึง 18.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์
หลังเก็บค่าธรรมเนียมลอนดอนลดจำนวนรถที่เข้ามาในเมืองลดลงไปถึง 30%

ประเทศที่เก็บค่ารถวิ่งเข้าเมือง

สิงคโปร์: หนึ่งในประเทศแรกๆ ที่นำระบบนี้มาใช้ และประสบความสำเร็จอย่างมากในการลดปัญหาจราจรและมลพิษ โดยเริ่มตั้งแต่ปี 1975 ใช้ระบบ Electronic Road Pricing (ERP) ที่มีการคิดค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่เข้ามาในพื้นที่สำคัญ ระบบนี้ช่วยควบคุมจำนวนรถยนต์บนถนนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้คนใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น 

เป็นการเก็บค่าผ่านทางตามช่วงเวลาการจราจรและสถานที่ โดยค่าใช้จ่ายอยู่ระหว่าง 0.50 - 6 ดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 12 - 150 บาท) ต่อครั้ง 

ในช่วงเวลาการจราจรหนาแน่น ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น โดยเวลาพีคคือ 07.00 -09.00 น. และ 17.30-18.30 น. ระบบนี้มีการปรับเปลี่ยนค่าธรรมเนียมเป็นประจำตามสภาพการจราจรในแต่ละช่วงเวลา

ส่งผลให้สิงคโปร์แก้ปัญหาเรื่องรถติดได้มากถึง 45%  และยังลดอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ถึง 25% 

ลอนดอน: เมืองหลวงของอังกฤษ เก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่วิ่งเข้าไปในเขตใจกลางเมืองมานานแล้ว และช่วยลดปัญหาจราจร ปรับปรุงคุณภาพอากาศได้เห็นผลทันตา พวกเขาใช้ระบบ Congestion Charge มาตั้งแต่ปี 2003

เรียกเก็บจากรถยนต์และยานยนต์ส่วนใหญ่ที่ขับอยู่ภายในเขตการจราจรคับคั่ง (CCZ) ในใจกลางลอนดอนระหว่างเวลา 07.00 น. ถึง 18.00 น. วันจันทร์ถึงวันศุกร์ และระหว่างเวลา 12.00 น. ถึง 18.00 น. วันเสาร์และวันอาทิตย์

นี่คือโครงการที่ประสบความสำเร็จในการลดปัญหาจราจรและมลพิษทางอากาศ โดยในพื้นที่ที่กำหนด รถยนต์ส่วนตัวที่เข้าไปจะต้องชำระค่าธรรมเนียมในช่วงเวลาที่มีการจราจรหนาแน่น นับตั้งแต่เริ่มโครงการ จำนวนรถที่เข้ามาในเมืองลดลงไปถึง 30%

สตอกโฮล์ม สวีเดน : เมืองหลวงของสวีเดน มีการเก็บค่าผ่านทางสำหรับรถยนต์ที่เข้าไปในเขตใจกลางเมือง มาตั้งแต่ปี 2006 พวกเขาเริ่มจากทำประชามติจากประชาชนก่อน จากนั้นเมื่อได้การตอบรับที่ดีจากประชาชน จึงจัดเก็บอย่างจริงจัง เพราะเพียงระยะเวลาไม่กี่เดือน พวกเขาลดปริมาณรถบนท้องถนนได้ถึง 20-25% และลดมลพิษทางอากาศในเมืองหลวงได้

โดยมีการเก็บภาษีตั้งแต่ 11 - 45 โครนาสวีเดน (ประมาณ 40 - 160 บาท) ต่อครั้ง ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาและฤดูกาล โดยภาษีจะถูกปรับขึ้นในช่วงฤดูกาลที่มีการจราจรหนาแน่นที่สุด และสูงสุดที่ 135 โครนาสวีเดนต่อวัน

ประชาชนเดินทางโดยสกูตเตอร์ไฟฟ้าในกรุงสต็อกโฮล์ม เมืองหลวงสวีเดน

นิวยอร์ก สหรัฐ อเมริกา : เมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา เริ่มมีการเก็บค่าธรรมเนียมรถยนต์ที่วิ่งเข้าไปในย่านแมนฮัตตัน ในปี 2021 พวกเขาประกาศว่าจะเป็นเมืองแรกในสหรัฐฯ ที่นำระบบ Congestion Charge มาใช้ โดยจะเน้นเก็บค่าธรรมเนียมจากรถยนต์ที่เข้ามาในเขต แมนฮัตตัน เพื่อลดปัญหาการจราจรที่หนาแน่น โดยรายได้จากค่าธรรมเนียมจะถูกนำไปใช้ปรับปรุงและขยายระบบขนส่งสาธารณะของเมืองนิวยอร์กใ 

มิลาน อิตาลี  : อิตาลีเริ่มใช้ระบบเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ Area C ตั้งแต่ปี 2012 มีเป้าหมายในการลดปริมาณรถยนต์ในตัวเมือง ลดค่าฝุ่นมลพิษทางอากาศ ซึ่งหลังจากเริ่มทำโครงการนี้ พวกเขาแก้ปัญหาจราจรติดขัดได้ดีขึ้น 30 % โดยมีการเก็บค่าธรรมเนียม 5 ยูโร (200 บาท) ต่อวัน วันธรรมดา ระหว่าง 07.30-19.30 น. 

ข้อดีของการเก็บค่ารถวิ่งเข้าเมือง

1. ลดปัญหารถติด : นี่คือปัญหาที่กรุงเทพเจอมานานเกินชั่วอายุคน และ Bangkok คือเมืองหลวงที่ติดท็อปๆของโลกสำหรับปัญหาจราจรติดขัดชั่วโมงเร่งด่วน ที่สำคัญปัญหา PM 2.5 จะลดลงไปหลังจากเราทำเรื่องนี้ ซึ่ง การเก็บค่าธรรมเนียมจะกระตุ้นให้ผู้คนหันมาใช้ขนส่งสาธารณะมากขึ้น ช่วยลดจำนวนรถบนท้องถนนได้

2. ลดมลพิษ : ควันไอเสียจากรถยนต์สันดาป เรื่องอีกปัญหาใหญ่จากก๊าซ คาร์บอนมอนน็อกไซด์ ก่อให้เกิดปัญหาทางสุขภาพเมื่อสูดดมเข้าไปทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่หนักขึ้นทุกวัน หากทำได้จะช่วยปรับปรุงคุณภาพอากาศและสุขภาพของประชาชนให้ดีขึ้น

3. กระตุ้นเศรษฐกิจ :เสริมให้คนใช้รถสาธารณะ ทั้งนี้รายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียม จะถูกนำไปใช้พัฒนาระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะรถไฟฟ้า หรือรถโดยสาร รวมถึงช่วยพัฒนาระบบสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น

4. เพิ่มและจัดการพื้นที่ : แน่นอนว่าการจำกัดรถยนต์ที่เข้ามาในเมืองจะช่วยเพิ่มพื้นที่ให้ประชาชนได้ทำกิจกรรมอื่นๆได้มากขึ้น อย่างเช่นเนเธอร์แลนด์ ประชาชนจะเน้นใช้บริการบริการสาธารณะ รวมถึงใช้จักรยานในการเดินทาง

ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ การเดินทางหลักของประชาชนคือรถสาธารณะและจักรยาน