posttoday

สกพอ. ผนึกกำลัง จุฬาฯ และภาคเอกชน ใช้ AI พลิกโฉมพื้นที่ EEC สู่เมืองอัจฉริยะ

22 ตุลาคม 2567

คณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ผนึกกำลังจุฬาฯ และ บริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ ประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI พลิกโฉมพื้นที่ EEC สู่เมืองอัจฉริยะด้วยระบบจัดการข้อมูลเมืองครบวงจร เสริมศักยภาพดึงการลงทุน

 

ดร.จุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ สรายุทธ ทรัพย์สุข คณบดี คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ กรรมการบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การศึกษาแนวทางการพัฒนาระบบบริหารจัดการข้อมูลและการบริการนักลงทุน เพื่อยกระดับการนำเทคโนโลยีดิจิทัล เข้ามาใช้ในการวางแผนพัฒนาการบริหารจัดการพื้นที่เขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก บูรณาการด้านข้อมูลเพื่อสนับสนุนการลงทุนให้แก่นักลงทุนได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

สกพอ. ผนึกกำลัง จุฬาฯ และภาคเอกชน ใช้ AI พลิกโฉมพื้นที่ EEC สู่เมืองอัจฉริยะ  

การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จะเป็นก้าวสำคัญเพื่อการศึกษาและจัดทำแผนการพัฒนาด้านดิจิทัลสำหรับเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก โดยจะนำเทคโนโลยี AI เข้ามาครอบคลุมการดำเนินงานใน 4 ด้านหลัก ได้แก่

  1. ด้านธุรกิจ มุ่งเน้นการพัฒนาระบบการจัดการที่ดิน เช่น การขอใบอนุญาตต่าง ๆ โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยลดกระบวนการทำงานที่ซับซ้อน
  2. ด้านการบริการ มุ่งเน้นสร้างระบบแชทบอท เพื่อให้บริการข้อมูลตอบคำถามได้ทันท่วงทีรวมไปถึงการออกใบอนุญาตดิจิทัล เพื่อลดขั้นตอนการขอใบอนุญาตต่าง ๆ
  3. ด้านการจัดการข้อมูล มุ่งเน้นการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ภายในและภายนอกองค์กร สร้างแพลตฟอร์มข้อมูลแบบเปิด ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ 
  4. ด้านโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาระบบด้านไอที เช่น คลาวด์คอมพิวติ้ง การจัดเก็บข้อมูลที่มีความปลอดภัย และรักษาความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ เป็นต้น 

สกพอ. ผนึกกำลัง จุฬาฯ และภาคเอกชน ใช้ AI พลิกโฉมพื้นที่ EEC สู่เมืองอัจฉริยะ

ทั้งนี้ ทั้งสามสถาบันได้ประสานความร่วมมือเพื่อการวางแผนพัฒนา สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับวิเคราะห์และบริหารจัดการเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ในพื้นที่เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล (EECd) ให้สามารถนำเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าว บริหารจัดการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ บูรณาการรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อการตัดสินใจ อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการ สนับสนุนให้เกิดการลงทุน และจะใช้เป็นต้นแบบไปยังเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษอื่น ๆ ในพื้นที่อีอีซี ต่อไป  

 

ความท้าทายของไทยกับการเดินหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

การพัฒนาประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City ถือเรื่องท้าทายสำหรับหลายภาคส่วนเนื่องจากต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการเมืองเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุก ๆ ด้าน ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการใช้พลังงาน ไม่ว่าจะเป็นด้านการคมนาคมขนส่ง การบริหารจัดการพลังงาน การบริหารจัดการขยะ ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ทำให้เมืองมีความน่าอยู่มากขึ้น

แม้จะมีความท้าทายอยู่มาก แต่การเดินหน้าสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ Smart City ยังถือเป็นเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับประเทศไทยให้สามารถแข่งขันในระดับนานาชาติได้ ดึงดูดนักลงทุนและผู้ประกอบการ ทำให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจและการสร้างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจ เนื่องจากในปัจจุบันบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ด้านความยั่งยืน การลงทุนในเมืองที่พัฒนาไปสู่ การเป็นเมืองอัจฉริยะแล้ว จึงสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กรนั้น ๆ 

สกพอ. ผนึกกำลัง จุฬาฯ และภาคเอกชน ใช้ AI พลิกโฉมพื้นที่ EEC สู่เมืองอัจฉริยะ

ด้านบริษัท เบดร็อค อนาไลติกส์ จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือฯ ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ด้วยการนำเทคโนโลยีมาเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและการพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนในอนาคต

โดย เบดร็อค ได้นำเสนอแนวทางด้านการบริหารจัดการเมืองและการลงทุน ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร ได้แก่

1. Smart Building Permit: ระบบขออนุญาตและควบคุมอาคารอัจฉริยะ ซึ่งช่วยในการตัดสินใจ และทำให้กระบวนการขออนุญาตก่อสร้างรวดเร็วและโปร่งใส

2. City Digital Data Platform: แพลตฟอร์มดิจิทัลข้อมูลเมืองที่รวบรวมข้อมูลที่กระจัดกระจายในเขตพื้นที่อีอีซี ทำให้การค้นหา วิเคราะห์ และนำข้อมูลไปใช้เป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้การบริหารจัดการเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งยังช่วยให้นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ศักยภาพของพื้นที่อีอีซี ได้อย่างครบถ้วน และทำให้การวางแผนธุรกิจเป็นไปได้อย่างแม่นยำอีกด้วย