posttoday

จับตาพลังงานสะอาด: ภาพรวมการดำเนินการด้านการลดใช้ถ่านหินในไทย

24 ตุลาคม 2567

จับตาพลังงานสะอาดและการใช้ถ่านหินปัจจุบันของไทย ถ่านหินได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่น มากกว่านำไปใช้ผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนเพียง 28% เท่านั้นที่นำถ่านหินไปผลิตกระแสไฟฟ้า มี 7 อุตสาหกรรมที่นำถ่านหินไปใช้ ส่วนผลดำเนินการลดการใช้ถ่านหินของภาครัฐเป็นอย่างไร? ไปดูกัน

KEY

POINTS

  • ถ่านหินได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากกว่านำไปใช้ผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนเพียงแค่ 28% เท่านั้นที่นำถ่านหินไปผลิตกระแสไฟฟ้า
  • ส่วนในด้านอุตสาหกรรมที่นำถ่านหินไปใช้มีอยู่ 7 อุตสาหกรรมหลัก
  • อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือถ่านหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีการยกเว้นภาษีอากรนำเข้า

ภาพรวมการนำเข้าถ่านหินของประเทศไทย

ภาพรวมทั่วไปเกี่ยวกับปริมาณการนำเข้าถ่านหินเพื่อนำมาใช้ภายในประเทศไทย ประกอบด้วยถ่านหิน 5 ประเภทหลัก คือ แอนทราไซด์ (Anthracite) ผงถ่านหินอัดเป็นก้อนและเชื้อเพลิงแข็งซึ่งผลิตจากถ่านหิน ถ่านโค้ก (Coal and Coking Coal) บิทูมินัส (Bituminous) และซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous) โดยมีสถิติการนำเข้าถ่านหินแยกเป็นปริมาณและมูลค่าของการนำเข้าถ่านหินดังนี้

  • แอนทราไซต์ (Anthracite)  มีปริมาณนำเข้า ในปี 2566 อยู่ที่ 129,666 ตันต่อปี ส่วนใหญ่มาจากประเทศรัสเซีย
  • ถ่านโค้ก (Coal and Coking Coal) มีปริมาณนำเข้าในปี 2566 อยู่ที่ 55,542 ตันต่อปี นำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียเป็นหลัก
  • บิทูมินัส (Bituminous)  มีปริมาณนำเข้าในปี 2566 อยู่ที่ 6,056,079 ตันต่อปี โดยนำเข้ามาจากประเทศออสเตรเลียและอินโดนีเซียเป็นหลัก
  • ซับบิทูมินัส (Sub-Bituminous) มีปริมาณนำเข้าในปี 2566 อยู่ที่ 11,719,698 ตันต่อปี ถ่านหินชนิดนี้เป็นถ่านหินที่นำเข้า มากที่สุด โดยส่วนใหญ่มาจากประเทศอินโดนีเซีย

 

จับตาพลังงานสะอาด: ภาพรวมการดำเนินการด้านการลดใช้ถ่านหินในไทย

 

จากข้อมูลจากกรมศุลกากรพบว่า การนำเข้าถ่านหินส่วนใหญ่เป็นถ่านหินประเภทซับบีทูมินัสประมาณ 66% และอีก 34% เป็นบีทูมินัส  โดยนำเข้ามาจากประเทศอินโดนีเซียเป็นหลักมีสัดส่วนถึง 67% ในปี 2566 ตามมาด้วยประเทศออสเตรเลียประมาณ 28% ถ่านหินชนิดซับบีทูมินัส (Sub-Bituminous) ที่นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซียเป็นที่นิยมมากที่สุดในการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยเนื่องจากมีค่าซัลเฟอร์ต่ำกว่า 1% และให้พลังงานพลังงานความร้อนสูง อีกข้อมูลที่น่าสนใจคือถ่านหินที่นำเข้ามาจากต่างประเทศมีการยกเว้นภาษีอากรนำเข้า

 

ส่วนในด้านอุตสาหกรรมที่นำถ่านหินไปใช้มีอยู่ 7 อุตสาหกรรมหลัก คือ อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้า  อุตสาหกรรมซีเมนต์ อุตสาหกรรมกระดาษ อุตสาหกรรมเทรดดิ้งถ่านหินระหว่างประเทศ (Trading) อุตสาหกรรมพลังงาน อุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ยาง สิ่งทอ และอาหาร

 

อีกข้อมูลที่น่าสนใจ คือ ถ่านหินได้ถูกนำไปใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มากกว่านำไปใช้ผลิตไฟฟ้า โดยมีสัดส่วนเพียงแค่ 28% เท่านั้นที่นำถ่านหินไปผลิตกระแสไฟฟ้า ส่วนการนำถ่านหินไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมอื่นๆมีสัดส่วนดังนี้ อุตสาหกรรมซีเมนต์ 5% อุตสาหกรรมกระดาษ 1% อุตสาหกรรมพลังงาน 19% อุตสาหกรรมปิโตรเคมี 1% โดยสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุด 46% ของการใช้ถ่านหิน คือ การนำเข้าถ่านหินมาเพื่อจำหน่าย จ่าย แจกไปให้บริษัทอื่นเพื่อนำใช้งาน (Trading) หรือเป็นการนำเข้าถ่านหินเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆทั่วโลก

 

จับตาพลังงานสะอาด: ภาพรวมการดำเนินการด้านการลดใช้ถ่านหินในไทย

 

 

ผลการดำเนินการลดการใช้ถ่านหินของภาครัฐ

ส่วนในด้านการผลิตถ่านหินภายในประเทศที่ไม่ได้นำเข้ามาในประเทศไทยมีอยู่ที่เดียว คือ โรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงถูกกำกับโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีเหมืองถ่านหินอยู่ที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง โรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังการผลิต 2400 เมกะวัตต์โดยใช้ถ่านหินชนิดลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าประมาณ 14 ล้านตันต่อปี (อ้างอิงจากแผนพัฒนากำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยฉบับปี 2018 Rev.1 (PDP2018Rev1)

 

ซึ่งตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะมีกำลังผลิตลดลงเหลือประมาณ 1200 เมกะวัตต์และจะใช้ถ่านหินประมาณ 7 ล้านตันต่อปี หากอ้างอิงจากแผนพัฒนากำลังผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยฉบับปี 2018 Rev.1 โรงไฟฟ้าแม่เมาะจะหยุดเดินเครื่องทั้งหมด 100% ภายในปี 2593

 

ในส่วนของมาตรฐานสากล อัตราการใช้ประโยชน์ (Utilization Rate) นั้นทางกฟผ.ได้สั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินส่วนใหญ่ใกล้เคียงร้อยละ 100 ของกำลังการผลิตตลอดเวลา เนื่องจากถ่านหินมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่ำ หากในบางช่วงเวลาที่สั่งการเดินเครื่องไม่เต็มกำลังก็จะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำมาก จนโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงชนิดอื่นๆลดการเดินเครื่องที่ค่ากำลังผลิตต่ำสุด (minimum generation) หมดแล้ว เช่น ช่วงเทศกาลปีใหม่ เป็นต้น

 

ดร. ณัทกฤช อภิภูชยะกุล อนุกรรมาธิการศึกษาปรับลดและปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย ในคณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร