ใช้เทคโนโลยี GIS ยกระดับจัดการปัญหาภัยพิบัติ วิกฤตโลกรวน ยันภัยฝุ่น PM2.5
Esri Thailand เผยกุญแจสำคัญในการใช้เทคโนโลยีแผนที่สุดล้ำ GIS บริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติต่างๆ ด้วยขีดความสามารถที่ครอบคลุมมากกว่าเพียงเรื่องน้ำท่วม พัฒนาต่อเนื่อง ใช้จัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 โครงสร้างพื้นฐาน และระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญได้อีก
"ภาวะโลกรวนทำให้ทุกอย่างซับซ้อนมากขึ้น แม้เทคโนโลยีจะเป็นหนึ่งในแนวทางรับมือ แต่การใช้งานให้มีประสิทธิภาพ 100% จำเป็นต้องเรียนรู้ปรับตัวตลอดเวลา สิ่งที่เราย้ำเสมอคือ ‘ข้อมูล’ หากเรามีข้อมูลหลากหลาย มีการบูรณาการร่วมกันของทุกฝ่ายอย่างรอบด้านจะช่วยพัฒนาโซลูชันให้รับมือได้ดียิ่งขึ้น”
ดร.ธนพร ฐิติสวัสดิ์ ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เน้นย้ำถึงความสำคัญของ “ข้อมูล” สำหรับเทคโนโลยี GIS (Geographic Information System) หรือ "ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์" ที่ทำงานโดยการป้อนข้อมูลทางภูมิศาสตร์ เช่น ภาพแผนที่ ภาพถ่ายผ่านดาวเทียม ตัวเลข ตัวอักษร ระยะทาง เข้าไปวิเคราะห์ผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มักมีความถูกต้องแม่นยำสูง สามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายด้านในการแก้ปัญหาน้ำท่วมและภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่น ๆ
ในฐานะที่บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้นำด้านการพัฒนาแพลตฟอร์ม Location Intelligence ที่จำเป็นต้องอาศัยข้อมูลหลากหลายและต้องตรงโจทย์ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะช่วยเพิ่มศักยภาพเทคโนโลยี GIS ทั้งในการวิเคราะห์ คาดการณ์ และจำลองสถานการณ์ เพื่อให้การบริหารจัดการทำได้อย่างแม่นยำ และตรงจุด พร้อมตั้งเป้าพัฒนานวัตกรรมเพื่อรับมือกับปัญหา Climate Change ในอนาคตต่อไป
ดร.ธนพร เผยถึงกุญแจสำคัญของการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพนั้นต้องให้ความสำคัญกับการใช้ข้อมูลที่หลากหลายและครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในเชิงพื้นที่และปัจจัยอื่นรอบด้าน รวมถึงเทคโนโลยี GIS ชั้นสูงที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลจำนวนมากและซับซ้อนที่ช่วยสร้างแบบจำลองสถานการณ์ให้มีความแม่นยำมากขึ้น ช่วยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ประสานงานกันได้อย่างคล่องตัวในการวางแผนรับมือตรงจุด และรวดเร็ว ลดผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อประชาชน
“ในกรณีปัญหาน้ำท่วม ข้อมูลจำพวก ปริมาณน้ำฝน เส้นชั้นความสูงของพื้นที่ (DEM) รวมถึงขอบเขตหมู่บ้านและผังเมือง เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์มีความถูกต้อง ใกล้เคียงกับความเป็นจริงมากที่สุด ส่งต่อถึงการเตรียมวางแผนรับมือได้ทันท่วงที เช่น หากมีฝนตกในปริมาณเท่านี้ เป็นเวลาเท่านี้ จะมีพื้นที่ใดบ้างที่เสี่ยงน้ำท่วมหรือปลอดภัย รวมถึงเส้นทางไหนบ้างที่จะเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้เร็วที่สุด” ดร. ธนพร กล่าว
ประธานบริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมาเราได้ร่วมมือกับ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ประธานกรรมการบริหาร Futuretales LAB by MQDC ในการพัฒนา Flood Simulation ซึ่งเป็นระบบเตือนภัยล่วงหน้า โดยรวบรวมข้อมูลหลายแหล่งที่จำเป็นต่อการจำลอง โดยส่วนหนึ่งได้รับมาจาก รศ.ดร. เสรี มาประยุกต์ใช้ผ่านซอฟต์แวร์ ArcGIS ของเรา ซึ่งมีศักยภาพมากพอในการวิเคราะห์ข้อมูลที่หลากหลายซับซ้อนและปัจจัยต่าง ๆ
รวมถึงความสามารถในการ Simulation ที่ช่วยสร้างแบบจำลองเหตุการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งระบบสามารถนำเสนอสถานการณ์ที่แตกต่างกันได้ตามข้อมูลที่ได้รับ รวมทั้งการสร้างสถานการณ์สมมติ (What-if analysis) ผ่านการจำลองสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่อาจเกิดขึ้น (Worst case scenario) เพื่อเตรียมแผนรับมือ ช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งที่ผ่านมาเราพบว่าความแม่นยำของการจำลองนี้อาศัยทั้งข้อมูลรอบด้านร่วมกับศักยภาพของเทคโนโลยีในการวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง จึงได้แบบจำลองที่ง่ายต่อการตัดสินใจ และบริหารจัดการ ยกระดับการวางแผนรับมือได้ดีมากยิ่งขึ้น”
ขีดความสามารถของเทคโนโลยี GIS ไม่ได้มีบทบาทสำคัญเฉพาะการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมเพียงอย่างเดียว ยังสามารถยกระดับการบริหารจัดการปัญหาภัยพิบัติด้านอื่น ๆ ได้อย่างครอบคลุมผ่านการทำงานของ 4 แกนหลักคือ
- การประเมินผลกระทบ ช่วยในการวิเคราะห์พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบและความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญในการวางแผนและการจัดการภาวะวิกฤติ
- การคาดการณ์ และจำลองสถานการณ์ต่าง ๆ เพื่อชี้เป้าพื้นที่หรือจุดเสี่ยง ซึ่งช่วยให้มีข้อมูลในการวางแผน และเตรียมการรับมือ
- การบริหารจัดการเพื่อรับมือ เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ และบริหารจัดการภัยพิบัติ
เช่น การสร้างแผนที่การอพยพและการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือที่สามารถเข้าถึงได้ง่าย - การมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย สื่อสารระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาชนให้เข้าถึงรับรู้ ตลอดสถานการณ์ โดยมีข้อมูลประกอบเพื่อการตัดสินใจ นำไปสู่การสร้างความเข้าใจในเชิงการบริหารจัดการสถานการณ์ รวมทั้งทรัพยากรให้เหมาะสมที่สุด
ทั้งนี้ เทคโนโลยี GIS ได้ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบโจทย์ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมในแง่มุมต่าง ๆ เช่น ปัญหาน้ำท่วม หรือฝุ่น PM2.5 กระทั่งโครงสร้างพื้นฐาน ระบบสาธารณูปโภคที่สำคัญ และการบริหารจัดการโครงข่ายไฟฟ้า การบริการจัดการเมืองอัจฉริยะ ด้วยความเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยี GIS สามารถยกระดับการทำงาน ทั้งในการวิเคราะห์และบูรณาการข้อมูลในรูปแบบที่เข้าใจง่าย ทำให้การตัดสินใจด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางสังคม เศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป