posttoday

จุดประกายลด PM 2.5 กทม.รับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

31 ตุลาคม 2567

กรุงเทพมหานครจุดประกายลด PM2.5 จากรถราชการ รับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบลดมลพิษ "ชัชชาติ" ชี้เป็นการจุดประกายอุตสาหกรรมการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ EV ได้ให้มีทางเลือกในการมีรถที่ไม่ปล่อยมลพิษ

(31 ต.ค. 67) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานในการรับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานคร ณ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร

กรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย และภาคีเครือข่าย จัดประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) ขึ้นในวันนี้ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร
 

จุดประกายลด PM 2.5 กทม.รับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

ที่ผ่านมา สสส. ได้สนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทยในการดำเนินงาน "โครงการสานพลังขับเคลื่อนเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)" ในช่วงปี 2566 - 2567 ซึ่งได้เริ่มต้นมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2566 โดยมูลนิธิฯ ได้ถอดบทเรียนจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ Social Lab ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่าง ๆ และได้ข้อสรุปว่าปัญหาฝุ่นละอองในกรุงเทพมหานครมีต้นเหตุมาจากภาคการจราจรและขนส่งทางบก 

โดยเฉพาะจากรถยนต์ดีเซลเก่าที่มีอายุการใช้งานเกิน 10 ปี เพื่อลดปัญหาดังกล่าวมูลนิธิฯ จึงได้เสนอแนวทางการดัดแปลงรถยนต์ดีเซลเก่าให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (EV Conversion) แก่ทางกรุงเทพมหานคร เมื่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเห็นชอบจึงได้เริ่มดำเนินโครงการโดยคัดเลือกรถยนต์ต้นแบบ ซึ่งทางกรุงเทพมหานครได้เลือกใช้รถบรรทุกขนาดเล็ก 4 ล้อ ยี่ห้ออีซูซุ NLR 130 มาเป็นต้นแบบ โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเป็นที่ปรึกษาในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้า ตลอดจนได้รับการสนับสนุนเทคโนโลยีและอุปกรณ์จากบริษัท ช.ทวี จำกัด (มหาชน) และบริษัท แจนไนน แมนเนจเม้นท์ จำกัด ทั้งนี้ ได้กำหนดจัดพิธีส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง (EV Conversion) ต้นแบบให้กับกรุงเทพมหานครขึ้นในวันนี้ภายหลังจบการประชุมสรุปการดำเนินงานโครงการฯ

จุดประกายลด PM 2.5 กทม.รับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง
 

เนื่องจากเป้าหมายของโครงการฯ คือการเกิด Snowball Effect ถึงได้มุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรของกรุงเทพมหานครให้มีศักยภาพในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าได้ด้วยตนเอง โดยได้จัดการฝึกอบรมทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติแบบ on the job training ให้กับช่างเทคนิคของกองโรงงานช่างกล หนองแขม สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งจัดทำเอกสารคู่มือเกี่ยวกับการดัดแปลงและบำรุงรักษารถยนต์ไฟฟ้าและชุดความรู้เพื่อเผยแพร่ต่อไป รวมทั้งได้ร่วมกับโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานครจัดทำหลักสูตรอบรม 200 ชั่วโมง เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทักษะสำหรับผู้ที่สนใจในการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าอีกด้วย 

“จากการทดลองนั่งเมื่อสักครู่ รถสามารถใช้งานได้ดี อัตราเร่งดี แอร์เย็น เงียบ ประสิทธิภาพไม่น่ามีปัญหาอะไร ข้อดีคือไม่มีมลพิษ ช่วยลดเรื่อง PM2.5 ได้ อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระยะแรกอาจจะสูง แต่ค่าไฟถูกกว่าค่าน้ำมัน ทั้งนี้ เรื่องการขยายผลคงต้องดู Financial Model ที่เหมาะสมต่อไป ขอบคุณภาคีเครือข่ายที่สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าต้นแบบ พัฒนาบุคลากรกรุงเทพมหานคร และฝึกอาชีพให้แก่ผู้ที่สนใจในโรงเรียนฝึกอาชีพกรุงเทพมหานคร เชื่อว่าอนาคตการดัดแปลงรถยนต์ไฟฟ้าอาจจะเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ช่วยเหลือคนที่ไม่สามารถซื้อรถใหม่ EV ได้มีทางเลือกในการมีรถที่ไม่ปล่อยมลพิษ” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าว

จุดประกายลด PM 2.5 กทม.รับมอบรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง

นอกจากการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าแล้ว โครงการฯ ยังได้ริเริ่มการพัฒนาเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล โดยเป็นการนำเครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่ถอดออกจากรถยนต์ไฟฟ้ามาใช้ประโยชน์ในการขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าโดยใช้แก๊สเชื้อเพลิงที่เป็นผลผลิตจากเตาแก๊สซิไฟเออร์ที่ใช้วัสดุเหลือทิ้งทางการเกษตรมาเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งจะช่วยลดการเผาวัสดุเหลือทิ้งการเกษตรในที่โล่ง ทั้งนี้ เครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวลต้นแบบได้ถูกส่งมอบให้กับวิสาหกิจชุมชนแปลงใหญ่ข้าวสามวาตะวันออก ชุมชนอาสาพัฒนา แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร เพื่อให้เป็น "ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบเครื่องยนต์ต้นกำลังพลังชีวมวล" ต่อไป

ในการดำเนินโครงการฯ ได้ใช้กระบวนการห้องปฏิบัติการทางสังคม หรือ Social Lab ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อระดมความคิดเห็นจากภาคีเครือข่ายในการหาแนวทางการส่งเสริมมาตรการอื่น ๆ ที่จะช่วยขับเคลื่อนการลดฝุ่น PM 2.5 เมืองหลวง ได้แก่ 1. Open Data ในส่วนข้อมูล PM2.5 2. การบูรณาการบังคับใช้กฎหมาย 3. ส่งเสริมการเดินทางลดฝุ่น 4. การสร้างการรับรู้ผ่านเพจ 1Bluesky 5. การจัดประกวดผลงานนวัตกรรมระดับอุดมศึกษา และ 6. การจัดตั้ง "สภาลมหายใจกรุงเทพฯ" นอกจากนี้ โครงการฯ ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มส่งเสริมการปลูกต้นไม้ล้านต้น เพื่อใช้ในการเลือกพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการปลูกไม้ลดฝุ่น บันทึกข้อมูลต้นไม้ที่ปลูก และจัดทำแผนผังแม่บท (Master Plan) เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนปลูกต้นไม้ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเพื่อป้องกันฝุ่น PM2.5 อย่างมีประสิทธิภาพ