เทรนด์เมืองใหญ่ทั่วโลก รื้อคอนกรีตไม่จำเป็น คืนดินให้ธรรมชาติ!
ตั้งแต่พอร์ตแลนด์ USA เมลเบิร์น ลอนดอน ยาวไปถึงฝรั่งเศศ เบลเยียม และออนแทรีโอของแคนาดา เมืองต่างๆ กำลังอินเทรนด์กับการฟื้นผืนดินคืนกลับสู่ธรรมชาติ ด้วยวิธีการ “รื้อถอนคอนกรีตและยางมะตอย” ทิ้ง แทนที่ด้วยพื้นที่สีเขียว แถมยังป้องกันน้ำท่วมได้อีก! เขาทำกันอย่างไร?
เริ่มจาก Depave
องค์กรไม่แสวงผลกำไรในเมืองพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน สหรัฐอมเริกา ก่อตั้งเมื่อปี 2008 ได้เริ่มทำการปอกเปลือกเมือง ด้วยการรื้อถอนพื้นคอนกรีตที่ไม่มีความจำเป็นทิ้ง เผยโฉมหน้าดินที่คนมักมองว่าสกปรกออกมาอวดโฉมแล้วปลูกต้นไม้
ด้วยแนวคิดของการรื้อพื้นถนน หรือ Depaving แทนที่คอนกรีตหรือพื้นยางมะตอยด้วยพืชและดิน
เมื่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศรุนแรงขึ้น เมืองและภูมิภาคต่าง ๆ เริ่มนำการรื้อพื้นถนนมาเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ในการปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่
“เหมือนได้ปลดปล่อยแผ่นดินให้เป็นอิสระ” ผู้นำกลุ่ม Depave ที่พอร์ตแลนด์ สหรัฐอเมริกากล่าวและบอกว่าอาสาสมัครของกลุ่ม Depave ราว 50 คน ได้ช่วยกันรื้อคอนกรีตไปแล้วประมาณ 1,670 ตารางเมตรในพื้นที่ใกล้โบสถ์ท้องถิ่นเมื่อปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้ การรื้อพื้นถนนช่วยให้น้ำฝนสามารถซึมลงสู่พื้นดินได้ เป็นการช่วยป้องกันน้ำท่วมยามฝนตกหนักได้อีกทาง
นอกจากนี้ยังช่วยให้พืชป่าได้ขึ้นในพื้นที่เมือง และเมื่อมีการปลูกต้นไม้มากขึ้น จะเกิดร่มเงามากขึ้น ซึ่งช่วยปกป้องชาวเมืองจากรังสีความร้อนจากดวงอาทิตย์รวมทั้งคลื่นความร้อนอีก ยังไม่ต้องพูดถึงว่า การขยายพื้นที่สีเขียวในเมืองสามารถช่วยฟื้นฟูสุขภาพจิตของผู้คนดีขึ้นได้
“ถึงเวลาแล้วที่จะเริ่มทุบถนนคอนกรีตของเราครั้งใหญ่ เพื่อสร้างพื้นที่ที่ดีกว่าสำหรับธรรมชาติ”
ล่าสุดกลุ่ม Depave สามารถรื้อยางมะตอยออกไปได้ประมาณ 33,000 ตารางเมตรในเมืองพอร์ตแลนด์ ตั้งแต่ปี 2008 (เทียบเท่ากับสนามฟุตบอลสี่สนามครึ่ง)
ต่อด้วย Green Venture องค์กรไม่แสวงผลกำไรด้านสิ่งแวดล้อมในออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา
ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากโครงการในพอร์ตแลนด์ เริ่มจาการสร้างสวนเล็ก ๆ สำหรับปลูกต้นไม้พื้นเมืองในเขตหนึ่งของเมืองแฮมิลตัน จากสถานที่ที่ผู้คนแค่เพียงผ่านไป-มาอย่างรวดเร็ว เวลานี้กลับกลายเป็นที่ที่ผู้คนสามารถหยุดพัก พูดคุย หรือแค่หยุดอ่านหนังสือพิมพ์ได้
ส่วนที่เมืองแฮมิลตันของแคนาดา ปัญหาน้ำท่วมทำให้น้ำเสียไหลลงปะปนกับน้ำที่ไหลลงสู่ทะเลสาบออนแทรีโอ ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดื่มสำคัญของเมือง การรื้อคอนกรีตจึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญ เพราะจากการศึกษาได้แสดงให้เห็นว่า พื้นผิวที่ไม่ซึมน้ำ เช่น คอนกรีต เพิ่มความเสี่ยงน้ำท่วมในเขตเมือง
และจากความพยายามของกลุ่ม Depave ในพอร์ตแลนด์ส่งผลให้น้ำฝนประมาณ 24.5 ล้านแกลลอนถูกเปลี่ยนเส้นทางจากการเข้าสู่ท่อระบายน้ำฝนในแต่ละปี
ไปที่เมืองเลอเวิน ประเทศเบลเยียม
บัพติสต์ ฟลาเมนค์ หัวหน้าโครงการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศท้องถิ่น เปิดเผยว่า เพียงแค่ปี 2023 ปีเดียวการรื้อคอนกรีต 6,800 ตารางเมตร ทำให้ดินสามารถดูดซับน้ำฝนได้ถึง 1.7 ล้านลิตร
คำถามก็คือว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบในเมืองและการวางแผนตระหนักถึงเรื่องนี้หรือไม่?
ในหลายส่วนของโลก การรื้อพื้นถนนยังถูกมองว่าเป็นกิจกรรมเล็กน้อย
แต่การรื้อถนนและเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างเดียวไม่เพียงพอ สิ่งที่ควรเกิดขึ้นคือการหาวิธีใหม่ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานในเมือง
“การวางแผนและทรัพยากรที่ใช้ควรเทียบเท่ากับการวางแผนสร้างเส้นทางรถไฟใหม่” ทามี ครอยเซอร์ จากมหาวิทยาลัย RMIT ในนครเมลเบิร์น ออสเตรเลีย กล่าว
เมืองในยุโรปเริ่มการรื้อถอนถนนอย่างต่อเนื่องแล้ว
เช่น ที่ลอนดอน ที่ชาวเมืองกำลังรื้อพื้นคอนกรีตเพื่อคืนชีพพื้นที่สีเขียวในสวน และที่เมืองเลอเวินในเบลเยียมยอมรับแนวคิดการรื้อพื้นถนนในระดับใหญ่ และมีโครงการฟื้นฟูพื้นที่สีเขียวในท้องถิ่น
และหนึ่งในโครงการที่ได้รับการโปรโมตในเมืองเลอเวินคือ “แท็กซี่ขนเศษซาก” หรือรถบรรทุกขนาดเล็กที่ถูกส่งไปยังบ้านของผู้คนที่มีเศษวัสดุหรือคอนกรีตที่รื้อออกจากสวน เพื่อช่วยให้การกำจัดเศษวัสดุง่ายขึ้น และที่สำคัญคือวัสดุเหล่านี้จะไม่ถูกทิ้ง แต่จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ โดยเลอเวินได้จัดสรรงบหลายล้านยูโรเพื่อสนับสนุนโครงการรื้อถอน (คอนกรีต) และฟื้นฟูธรรมชาติเช่นนี้
ฝรั่งเศส กับนโยบาย urban greening
ฝรั่งเศสกำลังทำให้ “การรื้อพื้นถนน” เป็นเรื่องสำคัญอย่างเป็นทางการเช่นกัน รัฐบาลฝรั่งเศสได้จัดสรรงบประมาณระดับประเทศประมาณ 540 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.8 หมื่นล้านบาท) เพื่อสนับสนุนโครงการนิเวศวิทยาในเมือง ซึ่งรวมถึงการรื้อพื้นถนนและการติดตั้งกำแพงและหลังคาเขียวด้วย
โดยมีแรงจูงใจสำคัญคือการทำให้เมืองต่าง ๆ ทนต่อคลื่นความร้อนในฤดูร้อนได้ ซึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพื้นที่ขนาดใหญ่ของฝรั่งเศส บางโครงการมีขนาดใหญ่มาก เช่น ลานจอดรถเก่าใกล้ป่าในภูมิภาคปารีสที่พื้นยางมะตอยและคอนกรีตกว่า 45,000 ตารางเมตร ได้รับการจัดการรื้อถอน
หลังจากที่ปูนซีเมนต์ถูกกำจัดออกไปแล้ว พื้นดินจะถูกปรับระดับ มีการปรับภูมิทัศน์ใหม่เพื่อเพิ่มความลาดชันให้มีแอ่งน้ำและลำห้วยที่รองรับน้ำ จากนั้นจะมีการปลูกต้นไม้ในพื้นที่ทั้งหมด
ที่เมืองเมลเบิร์น บ้านเกิดของทามี ครอยเซอร์ จากมหาวิทยาลัย RMIT ทีมงานได้ทำการศึกษาพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปรับสภาพใหม่ด้วยสวนและกำแพงสีเขียว หากที่จอดรถหลายพันคันถูกรื้อถอนและดัดแปลงเป็นสวนขนาดเล็ก
ในการศึกษาเมื่อปี 2022 พวกเขาจำลองผลกระทบตามสถานการณ์ต่าง ๆ โดยสถานการณ์ที่สำคัญต่อจิตใจมากๆ คือ การกำจัดที่จอดรถกลางแจ้งครึ่งหนึ่งของเมือง คิดเป็นประมาณ 11,000 คัน
ครอยเซอร์ให้เหตุผลว่า ในนครเมลเบิร์นมีที่จอดรถนอกถนนเพียงพอที่จะทำให้ไม่มีใครขาดที่จอดรถ ดังนั้นควรเปิดให้ที่จอดรถในร่มเหล่านั้นเป็นพื้นที่สาธารณะและเข้าถึงได้
“หลักการพื้นฐานคือการไม่สูญเสียการเข้าถึงที่จอดรถ” เขากล่าว “และเราได้รับพื้นที่สีเขียว 50-60 เฮกตาร์ (120-150 เอเคอร์) ที่ช่วยให้เมืองเย็นสบาย ป้องกันน้ำท่วม”
อาจดูไม่น่าเป็นไปได้ที่ธรรมชาติเล็กๆ ที่กระจายอยู่ทั่วเมืองใหญ่อย่างเมลเบิร์นจะเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่าอย่างมาก แต่ครอยเซอร์ กล่าวว่าเศษเสี้ยวของแหล่งที่อยู่อาศัยเหล่านั้นมีความสำคัญ
ในการศึกษาเกี่ยวกับ “การรื้อพื้นคอนกรีต” ในนครเมลเบิร์นปี 2022 ทีมของครอยเซอร์ ได้รวมแบบจำลองที่เสนอว่า การเพิ่มพืชพรรณเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้สัตว์บางชนิด เช่น ผึ้งแถบฟ้า มีพื้นที่ในการเคลื่อนที่ในเขตเมืองที่ใหญ่กว่าที่เคยเป็น พวกเขาต่างเห็นตรงกันว่า
หากการรื้อพื้นถนนจะเปลี่ยนโลกได้ ทั้งเมืองและแม้แต่ทั้งประเทศจะต้องยอมรับแนวทางนี้อย่างเต็มที่และเพื่อไปถึงจุดนั้น ชุมชนต้องแสดงการสนับสนุนแนวคิดนี้
“ทุกอย่างเริ่มต้นจากการที่ผู้คนกดดันรัฐบาลของพวกเขาและเริ่มต้นการพูดคุยในระดับท้องถิ่นเล็ก ๆ” หัวหน้ากลุ่ม Depave กล่าว
“และนั่นคือวิธีที่เห็นผล”