NASA รับรอง! “ดาวเทียมสร้างจากไม้” ดวงแรกของโลก ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศแล้ว
ญี่ปุ่นสุดล้ำ! นำวัสดุธรรมชาติอย่าง “ไม้” มาประดิษฐ์เป็นดาวเทียมในการสำรวจอวกาศ แม้ต้องปลดระวางก็ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
LignoSat ดาวเทียมที่สร้างจากไม้ดวงแรกของโลกได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อทดสอบว่าวัสดุหมุนเวียนจากธรรมชาติจะทนทานต่อการสำรวจอวกาศหรือไม่
LignoSat ถูกพัฒนาขึ้นโดยมหาวิทยาลัยเกียวโตและบริษัทรับสร้างบ้าน Sumitomo Forestry โดยใช้เทคนิคงานฝีมือแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่ไม่ใช้สกรูหรือกาวในการประกอบ ซึ่งดาวเทียมดวงนี้จะถูกส่งขึ้นไปยังสถานีอวกาศนานาชาติโดยจรวดของ SpaceX และจะปล่อยให้เข้าสู่วงโคจรที่ระดับความสูงประมาณ 400 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก และจะอยู่ในวงโคจรเป็นเวลา 6 เดือน
สำหรับขนาดของดาวเทียม LignoSat จะมีขนาดประมาณฝ่ามือ แต่ละด้านมีความกว้างประมาณ 10 เซนติเมตร ส่วนไม้ที่นำมาใช้คือ ไม้ฮิโนกิ (Hinoki) ซึ่งเป็นไม้สนไซเปรส ขณะที่ชื่อ LignoSat มีที่มาจากภาษาละติน ที่แปลได้ว่า "ไม้"
Takao Doi นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเกียวโตผู้ศึกษากิจกรรมของมนุษย์ในอวกาศให้ความเห็นว่า ไม้เป็นวัสดุที่มีความทนทานต่อสภาพแวดล้อมบนอวกาศ เนื่องจากไม่มีน้ำหรือออกซิเจนที่จะทำให้ไม้เกิดการผุหรือติดไฟ นอกจากนี้ ยังเป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าดาวเทียมที่สร้างขึ้นจากโลหะ
ทีมวิจัยของ Takao Doi วางแผนการศึกษา 50 ปี ในการปลูกต้นไม้และสร้างบ้านที่ทำจากไม้บนดวงจันทร์และดาวอังคาร จึงตัดสินใจพัฒนาดาวเทียมที่สร้างจากไม้ซึ่งได้รับการรับรองจาก NASA เพื่อพิสูจน์ว่าไม้เป็นวัสดุที่เหมาะสมสำหรับภารกิจสำรวจอวกาศ
นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ป่าไม้แห่งมหาวิทยาลัยเกียวโตยังเสริมความเห็นว่า ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เครื่องบินก็ถูกสร้างขึ้นจากไม้เช่นกัน ดังนั้น ทำไมดาวเทียมจากไม้จึงจะเป็นไปไม่ได้?
ประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้งานในอุตสาหกรรม
นักวิจัยระบุว่า ดาวเทียมไม้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า โดยปกติเมื่อดาวเทียมถูกปลดระวางและต้องกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ ดาวเทียมที่สร้างจากโลหะจะสร้างอนุภาคอะลูมิเนียมออกไซด์ระหว่างการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ดาวเทียมไม้จะแค่ถูกเผาไหม้ไปซึ่งก่อมลพิษน้อยกว่า
Takao Doi ยังให้ความเห็นว่า หากการทดสอบเป็นไปได้ด้วยดี อาจนำเสนอแนวคิดนี้ให้กับ SpaceX ซึ่งในอนาคต คาดว่าดาวเทียมที่สร้างขึ้นจากโลหะอาจถูกห้ามใช้สำหรับปฏิบัติภารกิจ