posttoday

ระบบขนส่งไทย อัจฉริยะได้ด้วยข้อมูล แนะเชื่อมต่อทุกหน่วยงานแบบเรียลไทม์

12 พฤศจิกายน 2567

ทีม คอนซัลติ้ง เผย Smart Transportation สิ่งสำคัญคือ ข้อมูลเรียลไทม์ แนะรวมข้อมูลทุกหน่วยงานเป็นหนึ่งเดียว พร้อมสร้างซุปเปอร์แอปรวบทุกแอปด้านการเดินทาง เอื้อคุณภาพชีวิตการวางแผนประชาชนทั้งทางบัส เรือ และรถไฟฟ้า

          นายอภิชาติ สระมูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ กล่าวในงาน THAILAND SMART CITY 2025” ภายใต้หัวข้อ “Smart Transportation in a Smart City” จัดโดยสำนักข่าวโพสต์ทูเดย์  สปริงนิวส์ และสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA ว่า

          Smart Transportation เป็นส่วนหนึ่งของสมาร์ท ซิตี้ โดยโครงสร้างพื้นฐานเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งต้องมีการนำ AI เข้ามาวิเคราะห์เพื่อให้เกิดสมาร์ท ซิตี้ อย่างแท้จริง โดย Smart Transportation ประกอบด้วย 

          ระบบขนส่งอัจฉริยะ ถ้าเรามีเทคโนโลยีในการตรวจจับการจราจร โดยกล้อง CCTV ที่มีประสิทธิภาพ จะทำให้เรามีข้อมูลในการนำมาวิเคราะห์โดย AI เพื่อคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำแบบเรียลไทม์ ต้องมีเซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อเรียลไทม์ ข้อมูล และ การรวบรวมข้อมูลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการทำสมาร์ท ซิตี้ ดังนั้น Smart Transportation จึงมีจุดเริ่มต้นมาจากการจราจร

          ระบบขนส่งสาธารณะอัจฉริยะ นอกจากการเดินทางทางถนนแล้ว ประเทศไทยยังมีการเดินทางทางเรือด้วย ซึ่งมีผู้โดยสารจำนวนมากทั้งช่วงเช้า และเย็น ดังนั้นข้อมูลจึงสำคัญอีกเช่นกัน เพราะประชาชนต้องการวางแผนการเดินทาง ในแต่ละจุด เพื่อให้คุณภาพชีวิตการเดินทางดีขึ้น ข้อมูลจึงต้องออนไทม์ เพื่อประโยชน์ต่อการวางแผน

          ยานพาหนะไร้คนขับ ทำให้คนเดินทางปลอดภัยมากขึ้น ส่วนใหญ่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า และตัวรถสามารถสื่อสารกับสัญญาณไฟจราจร หรือ ตั้งได้ว่าจะสื่อสารกับอะไรบ้าง รถจะสามารถเลือกเส้นทางที่ใกล้ และรถติดน้อยที่สุด โดยสิ่งที่จะเกิดขึ้นต้องมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เช่น ไวไฟ ให้ครอบคลุม 

          ระบบข้อมูลเรียลไทม์ของผู้โดยสาร เพื่อตอกย้ำว่าข้อมูลสำคัญที่สุด ที่ต้องเรียลไทม์ ตรงเวลา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในการเดินทาง เพื่อวางแผนการเดินทางทั้งทางบกและน้ำ ตลอดจนรถบัส และรถไฟฟ้า

          ระบบที่จอดรถอัจฉริยะ เพื่อให้ทราบว่ามีที่จอดรถที่ไหนว่าง ช่วยประหยัดเวลา และไม่ทำให้หงุดหงิด 

          การเชื่อมต่อขนส่งหลายรูปแบบ คอนเน็คทิวิตี้ จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะประเทศไทยไม่สามารถเดินทางได้โหมดเดียว อาจต้องขึ้นรถบัส นั่งเรือ ขึ้นรถไฟฟ้า สิ่งที่ประเทศไทยขาดคือ คอนเน็คทิวิตี้ ยังไม่ครบทั้งหมด หากครบเมื่อไหร่ กรุงเทพฯจะเป็นเมืองหนึ่งที่น่าอยู่

          ยกตัวอย่างเมืองที่มีระบบที่ดี เช่น สิงคโปร์ ที่พร้อมมากกว่าประเทศไทย สามารถเชื่อมต่อการเดินทางทุกโหมดได้ และวางแผนการเดินทางให้ได้ทั้งหมด

          กรุงโซล เกาหลี ก็มีแอปพลิคชัน ในการเชื่อมต่อการเดินทางทุกโหมด เกาหลีมีสมาร์ทโพล หรือ เสาไฟอัจฉริยะ ในการเก็บข้อมูลทุกอย่าง ทั้งเรื่องการจราจร สภาพอากาศ ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ในการประยุกต์ใช้บริหารจัดการเรื่องต่างๆ เช่นเดียวกับ นิวยอร์ค ญี่ปุ่น ฟินแลนด์ ที่มีแอปพลิเคชันรูปแบบนี้ เช่นกัน  

          ขณะที่ประเทศไทยมีแอปพลิเคชันบริหารจัดการการเดินทาง ระบบขนส่งสาธารณะไฟฟ้า มีทั้งระบบโครงข่ายรถไฟฟ้า ทั้งปัจจุบันและอนาคต 10 เส้นทาง 448.3 กิโลเมตร ถือเป็นอันดับต้นๆของโลก  โครงข่ายขนส่งทางรถเมล์ โครงข่ายขนส่งทางเรือ 12 สาย  และโครงข่ายทางพิเศษ

          นอกจากนี้ยังมีแผนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จังหวัดภูเก็ต โครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จังหวัดเชียงใหม่ โครงข่ายรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน จังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น  และ พิษณุโลก เป็นต้น  

          ทว่าปัจจุบันประเทศไทยมีแอปพลิเคชันจำนวนมาก กระจัดกระจาย หากเราสามารถรวมทุกแอปพลิเคชันที่มีเป็นซุปเปอร์แอปในแอปเดียว เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในการเดินทาง นอกจากนี้การบริหารจัดการระบบจราจรอัจฉริยะก็มีเช่นเดียวกัน แต่เป็นการทำงานแบบแยกกันทำ แบ่งตามความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงาน ดังนั้นการแชร์ข้อมูลระหว่างกันจึงยาก หากมีการทำงานร่วมกันก็จะทำให้มีข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ

          ดังนั้นระบบขนส่งอัจฉริยะของประเทศไทยจึงจำเป็นต้องทำให้มีความทันสมัยและเชื่อมต่อกันเป็นหนึ่งเดียวเพื่อให้ประชาชนสามารถเดินทางต่อเนื่องกันได้ โดยไม่ติดขัดและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ความท้าทายของข้อมูล Smart Transportation คือ ข้อมูลเรามีเยอะ แต่ข้อมูลที่จะนำมาใช้ มาจากคนละหน่วยงาน หากมีความร่วมมือใช้งานร่วมกัน จะทำให้บ้านเรามีการพัฒนาด้านการเดินทางไปอีกไกล เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของคนไทย