“บางจาก” รุกศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR แหล่งพลังงานใช้ AI ในอนาคต
เมื่อการใช้งาน AI ต้องใช้ดาต้าและพลังงานมหาศาล แหล่งพลังงานสำคัญที่จะมารองรับในอนาคตคือพลังงานนิวเคลียร์ที่มีใช้ไม่จำกัด บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่จึงหันมาสนใจแนวคิด โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก หรือ SMR มากขึ้น
นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทบางจาก และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานสัมมนา Greenovative Forum ครั้งที่ 14 "Crafting Tomorrow's Future with Sustainable Energy and AI" ในวาระครบรอบ 40 ปีบางจาก
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า การนำประโยชน์ของ AI มาใช้ ภายใต้ความท้าทายในการรักษาสมดุลระหว่างเทคโนโลยีล้ำสมัย พลังงาน และสิ่งแวดล้อม โดยได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ AI จะสร้างประโยชน์เป็นอย่างมากในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ และร่นระยะเวลาในการปฏิบัติงานต่างๆ แต่กระบวนการพัฒนา และใช้งาน AI ต้องการพลังงานมหาศาลเช่นกัน ซึ่งส่งผลต่อทรัพยากรโลก เช่น น้ำและพลังงาน ทำให้ต้องพึ่งพาแหล่งพลังงานก๊าซธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงโรงไฟฟ้าซึ่งใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ขนาดเล็ก (Small Modular Reactors : SMR) ซึ่งอาจจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก
นอกจากนี้ แนวคิดเรื่อง DNA Data Storage ถือเป็นการปฏิวัติระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ไม่เพียงแต่มีความกะทัดรัด และทนทานสูง แต่ยังช่วยลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับศูนย์ข้อมูลแบบดั้งเดิม
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า เมื่อท้ายที่สุดแล้วการใช้ดาต้าในปริมาณที่สูง ซึ่งทุกประเทศขณะนี้จะพบกับปัญหาเรื่องของการใช้พลังงานไฟฟ้า แม้แต่ประเทศสหรัฐ ที่มีขนาดใหญ่ต่างต้องการใช้พลังงานสะอาดที่มีความเสถียรภาพ แม้ที่ผ่านมาจะมีปัญหาแต่ก็จะนำกลับมาใช้ใหม่ ดังนั้น กลุ่มบางจาก โดย บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) หรือ BCPGอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ของธุรกิจ
"เรามองว่าจุดไหนมีดีมานด์การใช้พลังงานสะอาดมากๆ และเปิดกว้างกลุ่มบางจาก ก็พร้อมที่จะเข้าไปลงทุนทั้งใน และต่างประเทศ จึงขึ้นอยู่กับโอกาส ซึ่งตอนนี้ก็ได้ศึกษาอยู่ซึ่งพร้อมดูในเรื่องของแผนต่างๆ โดยความเป็นไปได้ทั้งร่วมทุนกับพันธมิตร และเข้าลงทุนเอง จึงต้องดูดีมานด์ความต้องการใช้งานว่าอยู่ไหน รวมถึงขณะนี้เทคโนโลยี AIเองมีการใช้งานมากขึ้น และกลุ่มนี้จะมีการใช้พลังงานสะอาดในปริมาณมาก รวมไปถึงดาต้าเซนเจอร์ที่มีการใช้พลังงานสูงกว่าการใช้คอมพิเตอร์ปกติหลายเท่า" นายชัยวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 10 ปี หลังจากนี้ จะบริหารพลังงานอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ความมั่นคงของระบบ เช่น พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์เมื่อมีหมอกควันโซลาร์ทำงานได้แต่ 30-40% รวมถึงการคำนวณพลังงานลมก็เช่นกัน จึงต้องใช้ AI เข้าช่วย รวมถึงระบบการขนส่งที่ลดต้นทุน เพราะแหล่งผลิตกับแหล่งใช้จะคนละแหล่งกัน เหมือนน้ำมันที่ผลิตก็ไม่อยู่ในมหานคร แต่การใช้กลับเป็นในมหานครนิวยอร์กเยอะ จึงมี 2 ทางเลือกคือ หาแหล่งผลิตเพิ่มเติมที่รับกับระบบสายส่ง
นายชัยวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างหน่วยผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel) หรือ SAF จากน้ำมันพืชใช้แล้ว ยังคงเป็นไปตามแผน ซึ่งจะเปิดบริการในช่วงไตรมาส 2/2568 ซึ่งขณะนี้มีลูกค้าเฉลี่ย 70-80%
สำหรับ SAF ของบางจากถือเป็นการร่วมสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการบินในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ ตามแผนขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) เช่นเดียวกัน ซึ่งภายในโรงกลั่นน้ำมันบางจาก จะใช้เทคโนโลยีในการปรับสภาพน้ำมันพืชใช้แล้ว (Pre-Treatment) ของบริษัท Desmet ประเทศมาเลเซีย
โดยจะรวบรวมน้ำมันพืชใช้แล้วจากครัวเรือน และภาคธุรกิจผ่านโครงการ “ทอดไม่ทิ้ง” และช่องทางอื่นๆ และเทคโนโลยีกระบวนการกำจัดออกซิเจน ปรับเปลี่ยนโครงสร้าง และแตกโมเลกุลด้วยไฮโดรเจนด้วย UOP Ecofining Technology ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่เป็นโซลูชันที่มีประสิทธิภาพสำหรับการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนของบริษัท Honeywell UOP ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกำลังการผลิต 1,000,000 ลิตรต่อวัน คาดว่าจะสามารถเริ่มผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนได้ภายในไตรมาส 4 ปี 2567 ภายใต้เม็ดเงินลงทุนรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท