“กริชผกา” ผอ.NIA เผยอันดับนวัตกรรมไทย ดีสุดในรอบ 10 ปี แนะยึดสิงคโปร์โมเดล
“กริชผกา” ผอ.NIA เชื่อมั่นการขยับอันดับนวัตกรรมไทย ส่งสัญญาณดีสุดในรอบ 10 ปี ส่งต่อไทยสู่ชาตินวัตกรรม แนะยึดสิงคโปร์เป็นโมเดลผลักดันการพัฒนาเยาวชน และส่งเสริมอุตสาหกรรมไฮเทค
ผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลก ประจำปี 2567 หรือ Global Innovation Index 2024 (GII 2024) ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) ประเทศไทยขยับดีขึ้นมาอยู่อันดับ 41 ด้วยคะแนน 36.9 (เดิมอันดับ 43) ดีที่สุดในรอบ 10 ปี อันดับดีขึ้นจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะปัจจัยการลงทุนด้าน R&D ของภาคเอกชนที่ครองอันดับ 1 ต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลา 5 ปี สัดส่วนการส่งออกสินค้าสร้างสรรค์ จำนวนสิทธิบัตรที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่สามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีกว่าความคาดหวังตามระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และมีพัฒนาการด้านนวัตกรรมดีกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มรายได้ปานกลางระดับบน (Upper middle-income economies) อีกด้วย
ดร.กริชผกา บุญเฟื่อง ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ NIA เผยว่า หากย้อนดูผลการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกของประเทศไทยตั้งแต่ ปี 2013 – 2024 พบว่าปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี ซึ่งหนึ่งในปัจจัยที่มีผลคือ "จำนวนของยูนิคอร์น" จากรีพอร์ตประเทศไทยมียูนิคอร์นจำนวน 3 ราย คือ แฟลช เอ็กเพรสด้านขนส่งโลจิสติกส์ แอสเซนด์ มันนี่ ของกลุ่มทรู คือฟินเทค และวงในไลน์แมน ขนส่งโลจิสติกส์ฟู้ด ซึ่งยังมีโอกาสที่จะผลักดันให้เพิ่มขึ้น ควบคู่กับการปรับแนวทางการดำเนินงานที่ส่งเสริมและสอดคล้องกับมิติตัวชี้วัดต่างๆ ให้อันดับ GII ดีขึ้น เพื่อสะท้อนความพร้อมของประเทศไทยที่จะก้าวไปเป็น "ชาตินวัตกรรม" ซึ่งการขับเคลื่อนดังกล่าว NIA จำเป็นต้องมีเครือข่ายพันธมิตรร่วมเดินทางไปด้วยกัน
องค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก (WIPO) โดย ดอกเตอร์ซาชา วุนช์วินเซนต์ หัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและวิเคราะห์ข้อมูล และบรรณาธิการร่วมรายงานดัชนีนวัตกรรมโลก ได้เสริมถึงสิ่งสำคัญสำหรับการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของประเทศอย่างยั่งยืน นั่นคือ ความร่วมมือและความต่อเนื่องในการขับเคลื่อนการพัฒนาระบบนวัตกรรม เพราะจำเป็นต้องอาศัยการบูรณาการจากทุกภาคส่วน การที่ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 41 ของดัชนีนวัตกรรมโลก 2024 และอันดับที่ 5 ในกลุ่มเศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางสูง สะท้อนถึงความก้าวหน้าและการเติบโตที่มั่นคงในด้านนวัตกรรมของภูมิภาคนี้ โดยมีเอกชนขนาดใหญ่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา ในขณะเดียวกันระบบนิเวศของเงินทุนร่วมลงทุนก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยประเทศไทยได้รับการจัดอันดับที่ 15 ของโลกในตัวชี้วัดที่เกี่ยวข้องกับจำนวนการร่วมลงทุน (VC recipients) แต่ยังคงมีความท้าทายโดยเฉพาะอุปสรรคในการพัฒนาวัฒนธรรมนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนด้วยการวิจัย
สำหรับ"ดัชนีนวัตกรรมโลก" เป็นตัวชี้วัดความสามารถทางด้านนวัตกรรมที่สะท้อนให้เห็นถึงผลผลิตด้านองค์ความรู้ เทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ การวิจัยและพัฒนา ของ 133 ประเทศทั่วโลก ซึ่งจัดโดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO สำหรับประเทศที่มีอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 ในปีนี้ ยังคงเป็นสวิตเซอร์แลนด์ (แชมป์ 14 สมัยติดต่อกัน จากปี 2012-24) และกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เกือบทุกประเทศมีอันดับดัชนี GII ดีขึ้น โดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ก้าวกระโดดสูงขึ้น 7 อันดับ อยู่อันดับที่ 54 เวียดนามดีขึ้น 2 อันดับ อยู่อันดับที่ 44 และมาเลเซียดีขึ้น 3 อันดับ อยู่อันดับที่ 33 ส่วนสิงคโปร์ อันดับ 4 ซึ่งเป็นอันดับที่ดีที่สุด
ดร.กริชผกา มองว่า หากประเทศไทยต้องการขับเคลื่อนนวัตกรรมให้ขึ้นมาทัดเทียมกับกลุ่มประเทศชั้นนำ นอกจากสวิตเซอร์แลนด์แล้ว นโยบายและแนวทางการดำเนินงานของสิงคโปร์ ถือเป็นโมเดลที่น่าสนใจสำหรับนำมาปรับใช้กับประเทศไทย เพราะว่าสิงคโปร์เป็นหนึ่งในประเทศที่ขยับจากอันดับ 8 มาเป็นอันดับ 5 แล้วปีนี้ขยับขึ้นไปอันดับ 4 เพราะมีการพัฒนาด้านกำลังคนตั้งแต่เยาวชนจนเป็นแมนพาวเวอร์ หากพูดถึงเรื่องกําลังคนของประเทศไทย NIA ก็ดำเนินงานร่วมกับหลายภาคส่วนในการเร่งสร้างเยาวชนอนาคตของชาติให้เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศมาอย่างต่อเนื่อง และในด้านอุตสาหกรรม สิงคโปร์มีพื้นที่ไม่มากจึงเน้นไปทางอุตสาหกรรมไฮเทคโนโลยีและไบโอเทคโนโลยี ซึ่งประเทศไทยเองก็มีความพยายามในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเชิงลึกมากขึ้นทั้งในกลุ่มเกษตรอาหาร การแพทย์ และการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพและโอกาสการเติบโตสูง ซึ่งจะต้องเพิ่มความเข้มข้นในระดับชาติมากขึ้น