แนวทางเชื่อมต่อมักกะสัน - ราชประสงค์ – สีลม รองรับเมืองอนาคต สำคัญอย่างไร?
พื้นที่มักกะสัน - ราชประสงค์ - สีลม เป็นแนวยุทธศาสตร์สำคัญสำหรับการพัฒนาการเดินทางและการใช้พื้นที่ เนื่องจากมีศักยภาพทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยพื้นที่ดังกล่าวประกอบด้วยสถานที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล สถานศึกษา สถานเอกอัครราชทูต สำนักงานธุรกิจ และพื้นที่นันทนาการ รวมถึงสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ
เพื่อรองรับการเติบโตของเมืองและยกระดับความเชื่อมโยงในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการเชื่อมต่อมักกะสัน - ราชประสงค์ – สีลม ต่อหน่วยงาน ผู้ประกอบการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จึงเกิดขึ้นด้วยเป้าหมายสำคัญคือ
เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่สีเขียวและสวนสาธารณะขนาดใหญ่ดังกล่าวเข้าด้วยกันผ่านโครงข่ายทางเดินที่สะดวก ปลอดภัย และยั่งยืน การพัฒนานี้มิเพียงช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่ยังสนับสนุนยุทธศาสตร์ “กรุงเทพฯ 250” เพื่อฟื้นฟูเมืองชั้นใน 17 เขต และสอดคล้องกับโครงการสำคัญๆ ด้วย
งานนี้ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยุทธศาสตร์เมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (UDDC-CEUS) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และบริษัท อะตอม ดีไซต์ จำกัด ได้ร่วมจัดงานนำเสนอสาธารณะถึงผลสรุปการศึกษาแนวทางการพัฒนาการเชื่อมต่อมักกะสัน–ราชประสงค์–สีลม ซึ่งมาจากการศึกษาและทบทวนข้อมูลที่เกี่ยวข้อง การวิเคราะห์ในระดับเมือง และการประเมินศักยภาพพื้นที่ พร้อมทั้งการพัฒนาแผนยุทธศาสตร์ที่เกิดขึ้นผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา ภายใต้โครงการศึกษาแนวทางการพัฒนาการเชื่อมต่อมักกะสัน - ราชประสงค์ – สีลม เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและยกระดับความเชื่อมโยงในพื้นที่ศูนย์กลางธุรกิจของกรุงเทพมหานคร อันมีความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองในอนาคต
รศ.ดร. นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UDDC-CEUS) ระบุว่า การพัฒนานี้มิเพียงช่วยรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของพื้นที่ยุทธศาสตร์ดังกล่าว หากยังสนับสนุนยุทธศาสตร์ “กรุงเทพฯ 250” เพื่อฟื้นฟูเมืองชั้นใน 17 เขต และสอดคล้องกับโครงการสำคัญ เช่น
1) โครงการสะพานเขียวเชื่อมสวนลุมพินีกับสวนเบญจกิติ
2) โครงการปรับปรุงภูมิทัศน์แยกสารสิน-ซอยโรงงานยาสูบ
3) โครงการศึกษาแนวทางจัดทำทางเดินแบบมีหลังคาคลุม (Covered Walkway)
ตอบโจทย์เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 20 ภายในปี พ.ศ. 2573
สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และ รองรับแนวโน้มการเติบโตการท่องเที่ยวสีเขียวและยั่งยืนของกรุงเทพมหานครและภูมิภาคของประเทศไทยในอนาคต ตลอดจนเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการสำคัญ เช่น “ค่าธรรมเนียมรถติด” (Congestion Charge) เพื่อแก้ปัญหาการจราจร ลดมลพิษ และเพิ่มคุณภาพชีวิตในเขตเมือง
ผู้อำนวยการ UDDC-CEUS ยังได้นำเสนอถึงผลสรุปการศึกษาแนวทางการพัฒนาการเชื่อมต่อมักกะสัน–ราชประสงค์–สีลม และผลการดำเนินงานขับเคลื่อนการพัฒนาย่านที่ผ่านมา ได้แก่ ผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผลการสำรวจปริมาณการจราจร ผลการสำรวจปริมาณคนเดิน ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโครงการ รวมไปจนถึงผังยุทธศาสตร์การพัฒนาย่านราชดำริ
คุณโรจน์ กาญจนปัญญาคม กรรมการบริหารบริษัท อะตอม ดีไซต์ จำกัด ได้นำเสนอแนวคิดการออกแบบทางเดินลอยฟ้าและทางเดินเท้าแบบมีหลังคาคลุมบริเวณย่านมักกะสัน – ราชประสงค์ – สีลมโดยนำเสนอผังแม่บทการพัฒนาย่าน (Master Plan) ที่มุ่งสร้างการเชื่อมต่อทิศแนวแกนเหนือใต้จาก ARL ราชปรารภ ไปจนถึงแยกศาลาแดง โดยแบ่งลำดับการอธิบายรายพื้นที่ประกอบด้วยพื้นที่ 1) BTS ศาลาแดง – BTS ราชดำริ 2) BTS ราชดำริ – แยกประตูน้ำ 3) ถนนสารสิน และ 4) แยกประตูน้ำ – ARL ราชปรารภ
นอกจากนี้ ในช่วงกระบวนการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและเสนอแนวทางการพัฒนาเพิ่มเติมมีผู้เข้าร่วมหลากหลายกลุ่ม ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย และประชาชนทั่วไป โดยผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่สนับสนุน พร้อมเสนอแนวทางการพัฒนาทางเดินลอยฟ้าในย่านมักกะสัน - ราชประสงค์ – สีลม เพื่อให้ย่านแห่งนี้เป็นย่านเดินได้-เดินดี และเป็นย่านน่าอยู่สำหรับคนทุกกลุ่ม
การนำเสนอในครั้งนี้เป็นการนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและแนวคิดการออกแบบของโครงการฯ เบื้องต้น ซึ่งจะมีการดำเนินการศึกษาความเหมาะสมและออกแบบในรายละเอียดต่อไป