จาก “โพถ้อง” สู่ EV BUS “ภูเก็ต” ยกระดับระบบขนส่งไฟฟ้าสาธารณะบริการประชาชน
อบจ.ภูเก็ต ผลักดันใช้ EV Bus สาธารณะบริการประชาชนสำเร็จจังหวัดแรก 15 บาทตลอดในสาย 3 เส้นทางหลัก แทนที่ “รถโพถ้อง” สายสีชมพู ยกระดับการขนส่งสาธารณะ แก้รถติด ลดมลพิษ สู่ Smart City ตัวจริงเสียงจริง
หากคุณลองนั่งรถ EV สักครั้งจะรู้ว่า สิ่งที่หายไปคือเสียงและกลิ่นเหม็นของควันรถ หากวันนี้มี EV เพิ่มขึ้นในถนนและทำให้การปล่อยมลพิษลดลงไปบ้างคงทำให้ใครหลายคนรู้สึกว่าได้ทำอะไรให้กับโลกที่กำลังเดือดใบนี้บ้าง ไม่มากก็น้อยแม้จะต้องแลกกับต้นทุนจำนวนไม่น้อยก็ตาม
ภูเก็ตเริ่มทดลองวิ่งรถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ EV Bus สาธารณะครั้งแรก
เมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งที่ทำรายได้ให้กับประเทศไทยมหาศาลในแต่ละปีคือจังหวัดภูเก็ต ข้อมูลจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต ระบุว่า ตัวเลขนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาจังหวัดภูเก็ต ตั้งแต่มกราคม ถึงมีนาคม 2567 มีอยู่ที่ 3,625,944 คน ถ้าเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเติบโตขึ้น 30% รายได้จากการท่องเที่ยวเมื่อต้นปีอยู่ที่ 137,090.03 ล้านบาท
ภูเก็ตจึงเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพในการจะพัฒนาไปสู่เมืองอัจฉริยะหรือ Smart City ได้อย่างรวดเร็วหากทุกอย่างพร้อมทั้งเทคโนโลยีและผู้คน จำนวนประชากรตามทะเบียนบ้านของภูเก็ตมีแค่สี่แสนกว่าคนแต่ประชากรจริงที่อาศัยอยู่มีมากถึง 3 ล้านคน รวมกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนอีกจำนวนนับแสนในแต่ละเดือนทำให้เกาะที่มีถนนหลักเพียงเส้นเดียวอย่างภูเก็ตหนาแน่นอย่างไม่ต้องสงสัย และแน่นอนปัญหาที่ตามมาเหมือนกับทุกที่ในประเทศไทยคือ ปัญหารถติด ทั้งรถของนักท่องเที่ยวและรถของประชาชนที่ต้องใช้ถนนเส้นเดียวกัน มลพิษ
วันนี้ภูเก็ตกำลังจะมี EV Bus สาธารณะปรับอากาศวิ่งบนถนนหลัก 3 เส้นทาง จำนวน 24 คัน ที่จะเข้ามาแทนที่รถสาธารณะท้องถิ่นสุดคลาสสิกอย่าง “รถโพถ้อง” หรือ รถสองแถวไม้ในสายสีชมพู จากความตั้งใจที่จะยกระดับการเดินทางระบบขนส่งสาธารณะและผลักดันภูเก็ตสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ Smart city อย่างเต็มรูปแบบ และยังสอดคล้องกับกระแสของโลกในการใช้งาน EV เพื่อเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
นับเป็นผลงานสำคัญขององค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตที่ตั้งใจให้ EV Bus ช่วยแก้ปัญหารถติด (เช่น ลดการรับ-ส่งนักเรียนด้วยรถยนต์ส่วนตัว) ลดมลพิษในอากาศและมีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และประชาชนทั่วไป โดยรถ EV Bus จำนวน 24 คันนี้ตั้งใจจะนำมาให้บริการสาธารณะโดยไม่คิดค่าโดยสารกับนักเรียน นักศึกษา คนพิการ ผู้สูงอายุ และพระภิกษุสงฆ์ ส่วน ประชาชนทั่วไปและนักท่องเที่ยวคิดในอัตรา 15 บาทตลอดสาย ใน 3 เส้นทางหลัก
ที่มาของ EV Bus: จาก “โพถ้อง” สีชมพู สู่ EV สีน้ำเงิน
รู้กันไหมว่าภูเก็ตมีรถขนส่งสาธารณะถึง 6 แบบ (ข้อมูลจาก Phuket One Map และ บริษัทภูเก็ต พัฒนาเมือง จำกัด)
1. รถโพถ้องสีฟ้า วิ่งใน 8 เส้นทาง ได้แก่ รถโพถ้องป่าตอง, รถโพถ้องกมลา, รถโพถ้องกะรน,กะตะ, รถโพถ้องอ่าวมะขาม, รถโพถ้องหาดในหาน, รถโพถ้องอ่าวฉลอง, รถโพถ้องบางโรง, และรถโพถ้องสะพานสารสิน
2. รถโพถ้องสีชมพู มีให้บริการ 3 สาย : สาย 1. บิ๊กซี – วิทยาลัยอาชีวศึกษาภูเก็ต, สาย 2. ซุปเปอร์ชีป – ตลาดสี่มุมเมือง ,สาย 2-1. สถานีขนส่ง 1 – สถานีขนส่ง 2 และสาย 3. สะพานหิน – เกาะสิเหร่ - สายนี้คือสายที่ EV Bus จะเข้ามาแทนที่ใน 3 เส้นทาง จำนวน 24 คัน
3. รถภูเก็ต สมาร์ท บัส ให้บริการเส้นทางสนามบินนานาชาติภูเก็ต, เชิงทะเล, บางเทา, ภูเก็ตแฟนตาซี, กมลา, ป่าตอง, กะรน, กะตะ ,แหลมพรหมเทพ และราไวย์
4.ภูเก็ตแอร์พอร์ตบัส ให้บริการ สนามบิน , อนุสาวรีย์ท้าวเทพกระษัตรี ท้าวศรีสุนทร, โบ๊ทลากูน ,โลตัสภูเก็ต, เซ็นทรัลภูเก็ต, ถนนแม่หลวน, โรงเรียนสตรีภูเก็ต , บขส.1
5.ภูเก็ต บัส เอ็กซ์เพลส ให้บริการ สนามบินภูเก็ต, โบ๊ทลากูน ,โลตัสภูเก็ต กะทู้ และหาดป่าตอง
6.รถตู้ ให้บริการ บขส.1 ไปป่าตอง
การได้เส้นทางสาธารณะมาบริหารจัดการเองโดยส่วนท้องถิ่นเป็นเรื่องที่ต้องขับเคลื่อนและดำเนินการมาอย่างยาวนานมากกว่า 10 ปี งานนี้ต้องถือว่าเป็นผลงานสำคัญของ อบจ.ภูเก็ตในยุคของนายเรวัต อารีรอบ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ตคนปัจจุบัน ที่ได้อนุมัติงบประมาณในส่วนกลางจำนวน 180 ล้านบาท และสามารถใช้ไปเพียงราว 122 ล้านบาทสำหรับรถ EV Bus 21 ที่นั่ง จำนวน 24 คัน ตกคันละประมาณ 5 ล้านบาทเศษ
เจาะสเป็ครถไฟฟ้าโดยบริษัท Asia Star จากจีน
รถโดยสารไฟฟ้าปรับอากาศ (EV BUS) จำนวน 24 คัน คันละ 21 ที่นั่งนี้มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับการใช้บริการของประชาชนทุกกลุ่มทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ คนพิการ มีที่นั่งสำหรับคนพิการ ติดตั้งระบบติดตามยานพาหนะ (GPS) สำคัญคือมีช่องเสียบ USB สำหรับชาร์จแบตโทรศัพท์ที่บริเวณที่นั่งผู้โดยสารทุกที่นั่ง ด้านความปลอดภัยมีการติดตั้งกล้อง CCTV 5 ตัวต่อรถหนึ่งคัน ออนไลน์ 24 ชั่วโมง
และแน่นอนว่าต้องมี Application Programming Interface สำหรับบริการผู้โดยสารในการดูสถานะและพิกัดของรถโดยสาร และสำคัญอีกสิ่งคือการติดตั้งอุปกรณ์พื้นลาดเอียงบริเวณประตูขึ้น-ลง สำหรับเข็นวีลแชร์ เป็นต้น
ความเร็วในการวิ่ง 80-85 กิโลเมตรต่อชั่วโมง วิ่งได้ 150 กิโลเมตรต่อการชาร์จไฟหนึ่งครั้ง ใช้เวลาราว 1-2 ชั่วโมงต่อการชาร์จ แบตเตอรี่รับประกัน 10 ปี ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ เช่นมอเตอร์รับประกัน 5 ปี
การส่งมอบรถ EV BUS 21 ที่นั่งจำนวน 24 คัน มีกำหนดส่งมอบครบตามจำนวนในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2568
เส้นทางการเดินรถที่ปรับปรุงใหม่ที่ให้บริการ มี 3 เส้นทาง คือ
1. สายสะพานหิน - เซ็นทรัลภูเก็ต (สีเหลือง สาย 1)ระยะทางวิ่งขาเดียว 11 กิโลเมตร ใช้ EV Bus จำนวน 7 คัน
2. สายท่าเทียบเรืออ่าวฉลอง – ห้างซุปเปอร์ชีป (สีแดง สาย 2) ระยะทางวิ่งขาเดียว 18 กิโลเมตร ใช้ EV Bus จำนวน 10 คัน
3. สายท่าเทียบเรือรัษฎา– สวนน้ำ (สีเขียว สาย 3) ระยะทางวิ่งขาเดียว 10.5 กิโลเมตร ใช้ EV Bus จำนวน 7 คัน
ทั้ง 3 เส้นทางนี้ได้ปรับให้เข้าถึงแหล่งท่องเที่ยว ท่าเรือ โรงเรียน ชุมชน ย่านการค้า ย่านเมืองเก่ามากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้บริการทุกกลุ่ม ทั้งคนภูเก็ต และนักท่องเที่ยว คนไทย และ ต่างชาติ จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 บาทตลอดสาย และยกเว้นค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางให้แก่ นักเรียน นักศึกษา ( ในเครื่องแบบนักเรียน นักศึกษา ) พระภิกษุ สามเณร นักบวช คนตาบอด และผู้สูงอายุ
ถึงวันนี้กล่าวได้ว่า ภูเก็ตเป็นส่วนท้องถิ่นแรกในประเทศไทยที่มีรถ EV BUS ให้บริการประชาชน!