ย่านจตุจักรลุ้นเป็นเจ้าภาพ F1 ปี 2570 ชูแนวคิด "City Race" กระตุ้นเศรษฐกิจไทย
ย่านจตุจักรจ่อเนรมิตสนาม F1 ตั้งเป้าจัดปี 2570 ดึงนักท่องเที่ยว 3 แสนคน สร้างรายได้ 12,000 ล้าน! คณะทำงานเตรียมยื่นจดหมายเจตจำนงปีหน้า พร้อมเจาะลึกข้อดี-ข้อเสีย และเม็ดเงินลงทุนที่ไทยต้องแบกรับ
แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเผยว่าเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2567 คณะทำงานพิจารณาพื้นที่จัดการแข่งขันรถสูตรหนึ่ง Formula 1 (F1) ได้เลือกย่านจตุจักรในกรุงเทพมหานครเป็นตัวเลือกหลักสำหรับการจัดการแข่งขันรูปแบบ “City Race” โดยเสนอใช้พื้นที่โดยรอบสวนสาธารณะ 3 แห่ง ได้แก่ สวนจตุจักร สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ และสวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) ครอบคลุมเส้นทางรวมประมาณ 5-6 กิโลเมตร
การเลือกย่านจตุจักรสะท้อนถึงแนวคิดของ F1 ในการจัดแข่งขันแบบ Street Track เพื่อดึงดูดผู้ชมทั้งในประเทศและต่างชาติ และสร้างบรรยากาศการแข่งขันที่ตื่นเต้นกลางเมืองหลวง
พื้นที่ศูนย์กลางกรุงเทพฯ ถูกเสนอจัด City Race ขั้นตอนต่อไป: ความร่วมมือและการยืนยันจาก FIA
หลังจากกำหนดพื้นที่ คณะทำงานได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.), การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เพื่อเตรียมความพร้อม โดยในขั้นตอนถัดไปจะมีการสำรวจพื้นที่จาก Fédération Internationale de l'Automobile (FIA) หากได้รับการอนุมัติ ทางไทยจะส่งจดหมายแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ในการขอเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ซึ่งมีกำหนดยื่นในเดือนมกราคม 2568
ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยยังได้วางแผนว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเพื่อศึกษาความเหมาะสมของการจัดงาน โดยตั้งเป้าหมายจัดการแข่งขันในปี 2570 เพื่อให้มีเวลาเพียงพอสำหรับการเตรียมการ
เปิดเหตุผลที่เลือกกรุงเทพฯเป็นสนามแข่ง F1
แหล่งข่าวระบุว่า การเลือกกรุงเทพฯ โดยเฉพาะย่านจตุจักร สะท้อนความตั้งใจที่จะทำให้การแข่งขัน F1 เป็นแบบ 'City Race' เพราะเชื่อว่าการแข่งขันที่เกิดขึ้นในเมืองใหญ่จะดึงดูดความสนใจได้มากกว่าการแข่งขันในสนามแข่งแบบปิด
นอกจากนี้ การจัดแข่งขันในเมืองยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่โดยรอบ เช่น ธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร และการท่องเที่ยว ซึ่งมีศักยภาพดึงดูดนักท่องเที่ยวได้อย่างมหาศาล
ความท้าทายในการใช้พื้นที่
แม้ย่านจตุจักรจะเหมาะสมในแง่ของโลเคชัน แต่ยังมีความท้าทายที่ต้องจัดการ เช่น
1. การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน : ถนนและพื้นที่โดยรอบต้องได้รับการปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐาน F1 เช่น การติดตั้งรั้วกันชน และการจัดพื้นที่สำหรับทีมแข่ง
2. ผลกระทบต่อการจราจร : เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการสัญจรหนาแน่น การปิดพื้นที่จัดแข่งขันอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางในกรุงเทพฯ
3. การสนับสนุนจากประชาชน : ต้องสร้างความเข้าใจและการยอมรับจากคนในพื้นที่ เนื่องจากการจัดงานจะส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เป้าหมายในปี 2570: การยกระดับไทยสู่เวทีโลก
รัฐบาลไทยมองว่าการจัด F1 ในกรุงเทพฯ จะช่วยสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวและการลงทุนมหาศาล โดยตั้งเป้าดึงนักท่องเที่ยวกว่า 300,000 คน และสร้างรายได้กว่า 12,000 ล้านบาท ในปีแรกของการจัดงาน
หากประสบความสำเร็จ ประเทศไทยอาจกลายเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการจัดกิจกรรมระดับโลก และตอกย้ำความสามารถในการเป็นเจ้าภาพอีเวนต์สำคัญระดับนานาชาติ.
การเป็นเจ้าภาพ F1: ค่าใช้จ่ายและผลตอบแทน
การเป็นเจ้าภาพ F1 ต้องมีค่าใช้จ่ายหลัก ได้แก่:
ค่าสัญญาซื้อสิทธิ:
ขั้นต่ำประมาณ 740 ล้านบาท (กรณีโมนาโก)
สูงสุดถึง 2,111 ล้านบาท (กรณีอาเซอร์ไบจาน)
ค่าเตรียมสถานที่ : สนามแข่งขันต้องได้รับการรับรองระดับ FIA Grade 1 ซึ่งมีเพียง 45 แห่งในโลก หากไม่มีสนามมาตรฐาน อาจต้องสร้างสนามใหม่ที่มีค่าใช้จ่ายสูงถึง 9,997 ล้านบาท
สำหรับการดึง F1 มาจัดที่ไทย เป็น 1 ในโครงการที่นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรีมีความคิดที่จะดึงมาจัดนานแล้ว จากการที่ผู้บริหารเอฟวัน (F1) เข้าพูดคุยเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567 ซึ่งตอนนั้นเป็นการคุยรอบที่ 2 หลังจากก่อนหน้านี้ นายเศรษฐาเคยเดินทางไปพูดคุยมาแล้วที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี
อย่างไรก็ตามการพูดคุยในครั้งนั้นยังไมได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่จัดการแข่งขันแต่อย่างใด